คตส.ลงดาบสองฟันแม้ว คุ้ยบัญชีหาร่องรอยซุกหนี้เมีย

คตส.ลงดาบสองฟัน"ทักษิณ" คุ้ยบัญชีหาร่องรอยซุกหนี้เมีย


คตส.ลุยดาบสอง ฟัน "ทักษิณ" ซุกหุ้น ประสาน ป.ป.ช. คุ้ยบัญชีทรัพย์สิน "แม้ว" หาร่องรอย ซุกหนี้เมีย

ด้าน "โอ๊ค-เอม" หนีภาษีไม่พ้น อนุฯงัด คำให้การ "ปราณี" ถามกรมสรรพกรในนามส่วนตัว ระบุใช้เป็นหลักฐานแทนนายไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า


คณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีนายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นประธาน ได้สรุปการตรวจสอบคดีภาษีขายหุ้นชินคอร์ปของบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ว่า นับแต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 เป็นต้นมา

การโอนหุ้นชินคอร์ปฯ ของครอบครัวชินวัตร กระทำขึ้นหลายครั้งด้วยกัน และทุกครั้งก็ยังไม่มีการแจ้งชำระภาษีเงินได้เลย เพราะอ้างว่าได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร ในแง่มุมต่างๆ เสมอมา

ทั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจคือ คดีภาษีขายหุ้นชินคอร์ปของบริษัทแอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด พบว่ามีพฤติการณ์ขายโดยอ้อมเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี คือ 1.บริษัทแอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด เป็นบริษัทถือหุ้นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ไอส์แลนด์ เมื่อ 12 มีนาคม 2542 ด้วยทุนจริงเพียง 1 เหรียญสหรัฐ

แล้วต่อมาในวันที่ 11 มิถุนายน 2542 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ที่ตนได้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 32.92 ล้านหุ้น ให้แก่บริษัทนี้ ในราคาหุ้นละ 10 บาท เป็นเงิน 329.2 ล้านบาท โดยให้บริษัทฯ ยืมเงินจาก คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา มาเป็นเงินซื้อหุ้น แต่พบว่าไม่มีการใช้คืนจากบริษัทฯ และตั้งหนี้ระหว่างกัน


โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า


ขณะนี้ คตส.อยู่ระหว่างประสานงานกับป.ป.ช. ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนนี้ให้ต่อป.ป.ช.หรือไม่ เพราะการทำงานของป.ป.ช. มีช่วงหนึ่งที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ป.ป.ช.ชุดพล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ พ้นจากตำแหน่ง เพราะไปขึ้นเดือนตัวเอง ทำให้เป็นช่วงสุญญากาศของป.ป.ช.

ดังนั้นเมื่อมีกรณีนี้เกิดขึ้น ทางกรรมการป.ป.ช. ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปติดตามหาข้อมูลการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของพ.ต.ท.ทักษิณ ว่ามีการแจ้งรายการดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งหากได้ข้อมูลก็จะนำมาเสนอต่อ คตส.เพื่อสรุปชี้มูลอีกครั้งหนึ่ง และต้องพิจารณาประกอบว่าเรื่องเกิดขึ้นช่วงไหน เพราะศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยกรณีของนายประยุทธ มหากิจศิริ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่แจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ โดยให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่วันเกิดเหตุ แต่กรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542

แต่พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปี 2548 จึงต้องนำข้อมูลนี้มาพิจารณาประกอบว่าควรจะเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งขณะนี้ คตส.ยังมีความเห็นเป็นสองฝ่ายอยู่ เนื่องจากถ้านับตั้งแต่ปี 2542 ก็จะพ้นระยะเวลา 5 ปี ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยในคดีของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ว่าอายุความจะอยู่ที่ 5 ปี


ด้านนายสัก กอแสงเรือง โฆษกคตส. กล่าวว่า


พฤติกรรมของพ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ระหว่างการพิจารณารวมของคตส. โดยจะนำมาสรุปร่วมกับคดีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถพูดรายละเอียดได้ ซึ่งถ้าผลสอบออกมาเมื่อใดจะสรุปให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ยอมรับว่าการซุกหุ้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตรวจสอบของคตส.

แหล่งข่าวจากคตส. ระบุถึงการเรียกเก็บภาษีนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา กว่า 5.6 พันล้านบาท โดยยืนยันจากข้อมูลการเชิญน.ส.ปราณี เวชพฤกพิทักษ์ สมุหบัญชีตระกูลชินวัตร มาให้ข้อมูล โดยน.ส.ปราณี ยืนยันว่า การทำหนังสือสอบถามไปยังกรมสรรพากร เป็นการถามในนามส่วนตัว ไม่ได้ถามในนามนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา

เนื่องจากในหนังสือสอบถามไม่ได้ระบุชื่อของบุคคลทั้งสอง ดังนั้นหนังสือตอบรับจากกรมสรรพากร จึงไม่ใช่เป็นการตอบคำถามของนายพานทองแท้กับน.ส.พิณทองทา แต่เป็นการตอบคำถามของน.ส.ปราณี เพราะฉะนั้นบุคคลทั้งสองจึงยังต้องมีภาระในการเสียภาษี ซึ่งทั้งสองบุคคลจะนำหนังสือตอบรับจากกรมสรรพากรมาอ้างเพื่อที่จะไม่จ่ายภาษีไม่ได้

แต่ถ้าทั้งสองบุคคลยืนยันที่จะไม่ชำระภาษีตามที่มีการประเมินไป กรมสรรพากร จะออกหนังสือเรียก แต่ทั้งสองคนมีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อต่อสู้ 3 ศาล ซึ่งหากยังจงใจไม่เสียภาษีก็จะถูกดำเนินคดีอาญาต่อไป


ในส่วนที่นายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษี


นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. ในฐานะอนุกรรมการตรวจสอบกรณีการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ในส่วนที่นายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษีในการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจำนวน 329 ล้านหุ้นว่า ในส่วนของการประเมินภาษีที่บุคคลทั้งสองต้องชำระจากการซื้อขายหุ้นนั้น ต้องรอให้ทางกรมสรรพากรประเมินใหม่ เพราะเท่าที่ คตส.ประเมินให้นั้นนับเวลาจนถึงวันที่ 7 เม.ย.เท่านั้น หากพ้นจากกำหนดเวลานี้แล้วก็ต้องบวกอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1.5 %กับเงินต้นด้วย

ซึ่งคาดว่าบุคคลทั้งสองจะขออุทรณ์โดยใช้หลักทรัพย์ให้ทางธนาคารรับประกันหรือแบ็งค์การันตีเช่นเดียวกับกรณีของนายบรรณพจน์ ดามาพงษ์และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในคดีจงใจหลบเลี่ยงภาษีจากการขายหุ้นของบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่น แต่หลังจากที่ทางกรมสรรพากรได้ออกหมายแจ้งให้ทั้งสองไปชำระภาษีดังกล่าวภายในระยะเวลา 30 วันแล้ว ทั้งสองยังไม่ไปชำระภาษีก็สามารถยึดอายัดทรัพย์ได้

นายสัก กล่าวว่า สำหรับจำนวนภาษีที่ทั้ง2 คนต้องจ่ายรวมทั้งสิ้น 6,539,041,633 บาท ซึ่งความจริงแล้วต้องจ่ายภายในวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยสามารถจ่ายได้ในจำนวนดังกล่าวก่อนที่กรมสรรพากรจะออกหมายเรียกเก็บภาษี ซึ่งหากกรมสรรพากรได้ออกหมายเรียก ทั้งสองบุคคลจะต้องจ่ายเพิ่มอีกเป็นสองเท่าของเบี้ยปรับและภาษีเงินเพิ่ม 1.5 % ต่อเดือน ซึ่งรวมแล้วเป็นจำนวนกว่าหมื่นล้านบาท



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์