ม.รังสิตแถลงชัด! ต้าน กม.นิรโทษฯ
4 พ.ย.56 มหาวิทยาลัยรังสิต ออกแถลงการณ์คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ที่อ้างว่าขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาฯ ซ้ำยังผลักดันสังคมไปสู่วิกฤตความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น โดยยืนยันคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวอย่างถึงที่สุด พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ยุติการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ "เหมาเข่ง" และนำสังคมกลับสู่ความถูกต้อง เป็นธรรมโดยเร็วที่สุด
แถลงการณ์มหาวิทยาลัยรังสิต
“ค้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เร่งคืนความเป็นธรรมให้สังคม”
........................
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรอย่างรวบรัดและขัดแย้งกับหลักการและสาระสำคัญที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการไว้ ไม่เพียงแต่เป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 แต่ยังผลักดันสังคมไปสู่วิกฤตความขัดแย้งที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น
มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะสถาบันการศึกษา จึงขอแสดงจุดยืนและความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้
1.มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นชอบในหลักการที่ให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกสีเสื้อที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองและแสดงออกทางการเมือง อันเป็นการใช้สิทธิสรีภาพของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ
2.ความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงเวลาเกือบ 7 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์และรายละเอียดเกิดขึ้นจำนวนมาก มีความเสียหายและความสูญเสียเกิดขึ้นกับประชาชนทุกฝ่ายรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังคมจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการสะสางความจริง เพื่อแยกแยะความถูก ความผิด เพื่อผดุงไว้ซึ่งความเป็นธรรม อันจะนำพาสังคมไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงคัดค้านการนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมการกระทำของผู้มีอำนาจสั่งการ แกนนำผู้ชุมนุม รวมถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมในทุกกรณีที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา
3.มหาวิทยาลัยรังสิต คัดค้านการขยายเงื่อนเวลาการนิรโทษกรรม ที่ถอยหลังไปถึงปี 2547 ซึ่งมิใช่หลักการที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบหรือเห็นชอบ เพราะเท่ากับเป็นการขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมจากประเด็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ไปสู่การลบล้างความผิดกฎหมายทุกฉบับ และทุกฐานความผิด โดยเฉพาะประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่น
4.กระบวนการรวบรัดและขยายความร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจนผิดหลักการอย่างสิ้นเชิงของสภาผู้แทนราษฎร ครั้งนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันชัดเจนว่า สภาผู้แทนราษฎรหรือสถาบันนิติบัญญัติของไทยปัจจุบัน มิได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ หากทำหน้าที่เยี่ยง “สภาทาส” ที่รับคำบงการจาก “เจ้าของพรรค” อย่างไร้ยางอาย และเป็นการกระทำที่เข้าข่าย ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ที่บัญญัติว่า
“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมายหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”
เหตุผลดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยรังสิต จึงยืนยันขอร่วมคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวอย่างถึงที่สุด และขอเรียกร้องให้รัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ยุติการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง” และนำสังคมกลับสู่ความถูกต้อง เป็นธรรมโดยเร็วที่สุด
มหาวิทยาลัยรังสิต
วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556