'อังคณา'หวั่นนิรโทษกรรมเหมารวม คดีตากใบ-กรือเซะ-อุ้มสมชาย พ่วงอุ้มฆ่าในภาคใต้ด้วย จี้รัฐบาลให้คำตอบชัดเจน เตือนจุดไฟใต้ลุกโชน-ไม่เกิดปรองดอง
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ที่ผ่านวาระ 3 จากสภาผู้แทนราษฎร และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ได้ถูกจับตาจากหลายฝ่ายว่าจะครอบคลุมถึงคดีต่างๆ จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหรือไม่ เพื่อล้างผิดให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งรับทำคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนจากชายแดนใต้ และเป็นนักต่อสู้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ ซึ่งทนายสมชายได้หายตัวไปอย่างลึกลับ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 จนถึงปัจจุบัน
นางอังคณา กล่าวถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่อาจจะครอบคลุมถึงเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ ว่า เป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะทั้งสองเหตุการณ์เป็นปมปัญหาที่คาใจชาวบ้านมานาน จำเป็นต้องสะสางให้เกิดความยุติธรรม การล้างผิดทั้งสองเหตุการณ์ผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ เท่ากับผู้ที่ทำให้ประชาชนต้องเสียชีวิต ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย แล้วความสงบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
"หากล้างผิดกันได้เช่นนี้น่าเป็นห่วงว่าในภาคใต้จะก่อเหตุรุนแรงกันมากขึ้น ไม่มีใครเกรงกลัวกฎหมาย เพราะถ้ามีอำนาจก็ล้างผิดได้ตลอด อย่างไรก็ตามเห็นด้วยกับการสร้างความปรองดอง แต่จะต้องเริ่มจากการให้อภัย แต่ขอให้ถามญาติของเหยื่อในแต่ละเหตุการณ์ก่อนว่าพร้อมจะเข้าสู่กระบวนการปรองดองหรือไม่ ผู้ทำผิดเคยขอโทษสักคำหรือไม่" นางอังคณา กล่าวและว่า อย่างกรณีของทนายสมชาย หากมีการตีความว่าการอุ้มทนายสมชายมาจากปัญหาทางการเมือง คนร้ายก็จะได้รับการนิรโทษเหมาเข่งตามไปด้วย ไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ ถามว่าใช่ความยุติธรรมหรือไม่ จะให้ญาติของเหยื่อรู้สึกอย่างไร ฉะนั้นไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้แน่นอน
นางอังคณา ระบุอีกว่า ในความเห็นส่วนตัวร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้จะเหมารวมกรณีอุ้มฆ่าทั้งหมด ไม่ใช่แค่คดีตากใบที่มีการกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับรัฐบาลทักษิณ เชื่อว่าการนิรโทษกรรมรอบนี้เป็นความพยายามล้างผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีอุ้มฆ่าทุกคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้
“คำถามคือแรงจูงใจทางการเมืองคืออะไร การต่อสู้ขัดขืนการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือต่อต้านรัฐจากความขัดแย้งทางการเมืองตามที่ระบุในร่างกฎหมาย กินความแค่ไหน กรณีตากใบ กรือเซะ เป็นมูลเหตุทางการเมืองหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันค้นหาคำตอบ” นางอังคณา กล่าว
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สภาผู้แทนราษฎร ผ่านวาระ 3 นั้น มาตรา 3 ระบุว่า "ให้บรรดาการกระทำใดๆ ทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทำต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง
ตั้งแต่หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำ ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"
ก่อนหน้าที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะผ่านวาระ 3 จากสภาผู้แทนราษฎร นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวแสดงความกังวลว่า คนไทยต้องรอดูว่า รัฐบาลจะกล้าลากเอาปัญหาชายแดนใต้ที่เปราะบางไปเหมารวมยกเข่งด้วยหรือไม่ เช่นเดียวกับ นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากเหมารวมคดีชายแดนใต้เพื่อเซตซีโร่ (ย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่หรือเริ่มต้นกันใหม่) ให้คนที่สั่งสลายการชุมนุมที่ตากใบ กรือเซะ หรือแม้แต่เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 บรรดาผู้สูญเสียในเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวหรือแม้แต่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเองก็อาจไม่พอใจได้ เพราะเหมือนรัฐบาลกำลังบอกว่า คนที่ทำร้ายพี่น้องของเขากำลังลอยนวลพ้นผิด
ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาตามวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า การขยายเวลาการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมการกระทำตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 อาจมีผลต่อผู้ที่มีความผิดในการสลายการชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้กระทำความผิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
คณะกรรมาธิการยังเสนอประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี้ 1.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร 2.จะมีผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร 3.จะส่งผลต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคตอย่างไร และ 4.ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่
นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ส.ว.สรรหา จ.ปัตตานี กล่าวว่า กรรมาธิการมีข้อสังเกตร่วมกันว่า การนิรโทษกรรมแบบนี้น่าจะมีเป้าหมายรวมเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์กรือเซะกับตากใบเข้าไปด้วย คำถามคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการเกินกว่าเหตุจนมีประชาชนเสียชีวิต จะส่งผลมุมกลับต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังดำเนินการกับขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ ด้วยหรือไม่
"ต้องไม่ลืมว่าทางบีอาร์เอ็นก็เสนอข้อเรียกร้องหนึ่งใน 5 ข้อให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม และยกเลิกหมายจับทั้งหมดที่เป็นคนของเขาเช่นกัน เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษให้กับบุคคลหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างกรือเซะ ตากใบ ได้ จะส่งผลให้บีอาร์เอ็นกดดันไทยมากขึ้นให้เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้พวกเขาด้วยหรือไม่" นายอนุศาสน์ กล่าว
อนึ่ง การตรากฎหมายนิรโทษกรรมอย่างไม่เฉพาะเจาะจงเหตุการณ์ หรือคดีที่เกี่ยวข้อง และยังขยายช่วงเวลาการนิรโทษกรรมให้ยาวนานตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2556 รวมเกือบ 10 ปี ทำให้หลายฝ่าย รวมทั้งคณะนิติราษฎร์ ที่นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายชื่อดังจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะมีปัญหากับหน่วยปฏิบัติ ทั้งพนักงานสอบสวน อัยการ และศาล อย่างแน่นอน ในแง่ของการพิจารณาว่าคดีใดเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง