ที่สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.) ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายที่เห็นต่าง ไม่ได้มาร่วมงานด้วย จึงทำให้งานนี้กลายเป็นการชี้แจงเหตุผลของการสร้างเขื่อนดังกล่าว
เพราะที่ผ่านมา พื้นที่นี้มีปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำทำนา ขณะเดียวกันมีน้ำท่วมเกิดตลอดทุกปี แม้จะมีทางเลือกอื่น ๆ นอกจากการสร้างเขื่อน อาทิ การปรับปรุงสิ่งก่อสร้างเดิมหรือทำฝายนั้น ก็ไม่ได้ทำให้มีน้ำเพียงพอ แต่การสร้างเขื่อนทำให้มีน้ำเพียงพอในพื้นที่ชลประทาน รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำแม่วงก์ได้ 10-48 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการก่อสร้างเขื่อนนี้ที่เขาสบกก ถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมเพราะเป็นที่สูง ทำให้มีแรงโน้มถ่วง จึงไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ อีกทั้งยังสามารถเก็บน้ำได้ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และยังใช้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้สูงถึง 11.84 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลานนั้นมีเสือโคร่ง 10 ตัว และจุดที่พบเสือโคร่งก็อยู่ห่างจากพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ ทั้งนี้ เมื่อมีการสร้างเขื่อน สัตว์ป่าก็จะมีการเคลื่อนย้ายไปหากินและอาศัยในพื้นที่อื่นเองซึ่งเป็นไปตาม ธรรมชาติ และเมื่อสร้างเขื่อนเสร็จ ก็มีน้ำ บวกกับที่เราจะมีการปลูกป่าชดเชยให้เพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้มีสัตว์ป่ามากขึ้นเพราะมีน้ำและป่า ขณะที่การสร้างเขื่อนนี้จะบรรเทาภาระของเขื่อนชัยนาท และบรรเทาน้ำท่วมในที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จ.ปทุมธานี อ่างทอง สิงห์บุรี และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม
ขณะที่นายจุติพงษ์ พุ่มมูล ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานเครือข่ายประชาชนผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ กล่าวว่า ตนไม่แปลกใจที่นายศศินไม่มาร่วมประชุม ขณะที่สังคมวันนี้ไม่สู้กันด้วยข้อมูลแต่สู้กันด้วยอารมณ์ แต่สังคมเราโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯไม่เน้นความจริง แต่เน้นการขายอารมณ์คนกรุงที่ไม่เคยไปลงดูพื้นที่นี้ และการมองว่าคนที่สร้างเขื่อนนี้เป็นโจร แต่คนต่อต้านเป็นพระเอกนั้น ตนคิดว่าไม่ใช่เลย เพราะคนในพื้นที่ต.ลาดยาว และแม่วงก์ ยินดีที่ต้องการให้สร้าง ทั้งนี้ ตนจะพาชาวบ้านในพื้นที่มาที่กรุงเทพฯเพื่อให้มาพูดคุยกันถึงความจริง อีกทั้งจะจัดพิมพ์หนังสือความจริงเกี่ยวกับพื้นที่อ.แม่วงก์ ประมาณ 1 หมื่นเล่ม เพื่อแจกจ่ายให้คนทั่วไปให้ได้รู้ความจริง อย่างไรก็ตาม การสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นหนึ่งใน 5 โครงการตามแนวพระราชดำริ เมื่อปี 2554 และมีความคุ้มค่าทุกโครงการ รวมถึงแก้ปัญหาน้ำท่วมได้
ด้านตัวแทนชาวบ้านคนหนึ่งจากพื้นที่ ต.ลาดยาว กล่าวว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พยายามทำให้คนที่รักป่าไม้เข้าใจว่าป่าที่นี่เป็นป่าอนุรักษ์ เป็นป่าสมบูรณ์ แต่ทั้งที่ป่าที่จะได้รับความเสียหายจริงนั้น เป็นป่าเชิงเขาซึ่งมีความสมบูรณ์ประมาณ 3,000 ไร่ และได้ถูกให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนไปหมดแล้ว ไม่ได้มีต้นไม้ใหญ่ขนาด 3-4 คนโอบอย่างที่บางคนอ้าง อีกทั้ง ป่าดังกล่าวยังมีสภาพความเสียหายจากการถูกพรานเผาในการล่าสัตว์ แต่มูลนิธินี้กลับอ้างว่าเป็นไฟป่าที่เกิดเองตามธรรมชาติ และยังโกหกว่าการสร้างเขื่อนนี้ไม่คุ้มค่าโดยพยายามใช้ข้อมูลที่ผิด ๆ มาทำให้คนทั้งประเทศหลงใหลไปในทางที่ผิด อีกทั้งพื้นที่นี้ไม่มีเสือ และไม่เคยมีชาวบ้านถูกเสือกัด ตนสงสัยว่าทำไมเขาไม่สงสารคนในพื้นที่นี้ที่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก บ้างหรือ ความเดือดร้อนทำให้ประชาชนในพื้นที่แสดงความต้องการให้มีการสร้างเขื่อนดัง กล่าว ทั้งนี้น่าเสียดายที่ทางมูลนิธินี้ไม่มาร่วมประชุมครั้งนี้ มิฉะนั้นเขาจะได้รับรู้ข้อมูลจริงในพื้นที่และความเดือดร้อนของประชาชน