เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
กล่าวถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนุญมาตรา 190 วาระ 2 ว่า ชัดเจนว่ามีการทำธุรกิจพลังงาน แต่ถูกประท้วงมากว่าการที่เอาคำพูด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มานั้น มันเสียหายมากถึงขั้นว่า ห้ามให้รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ พูดอะไร แต่ยืนยันว่าเราเอาความเป็นจริงมาพูดคือ ข้อตกลงในเรื่องเศรษฐกิจ โดยที่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องเขตแดน อธิปไตย ซึ่งการไปทำอะไรแล้วผูกมัดเรื่องกฎหมาย รัฐธรรมนูญทุกฉบับระบุชัดว่า รัฐบาลทำข้อตกลงแบบนี้ไม่ได้ ต้องมาขออนุมัติจากสภา และเคยมีบทเรียนมาแล้ว เรื่องที่ไปลงเปิดการค้าเสรีสินค้าเกษตรเข้ามาจนชาวไร่ ชาวสวนเดือดร้อนชัดเจนคือ หอม กระเทียม ที่อาจจะไปแลกกับผลประโยชน์ของธุรกิจบางธุรกิจ ซึ่งมีคนได้ประโยชน์ก็จริง อาจจะได้มากกว่าที่คนเสีย แต่มีอยู่ไม่กี่คน จึงมีความพยายามที่จะแก้ตรงนี้ โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในยุคนี้ และยุคต่อ ๆไป
“ผมตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงทางเศรษฐกิจนี้ต้องมาให้สภามีส่วนร่วมด้วยในระดับที่เหมาะสม แต่ทำไมไปเจาะจงว่าเอาเฉพาะ FTA ทำไมเดิมที่บอกว่าข้อตกลงใด ๆ ซึ่งมีผลกระทบอย่างกว้างขวางทางเศรษฐกิจมีนัยยะสำคัญ มีผลกระทบต่องบประมาณ ทำไมไม่เอาเข้ามา เพราะถ้าเขียนอย่างนี้ ใครไปงุบงิบเจรจาทำธุรกิจพลังงาน กับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ทับซ้อน หรืออะไรก็ไม่ต้องเอาเรื่องมาเข้าสภา ประชาชนก็ไม่มีโอกาสที่จะให้ตัวแทนของตัวเองนั้นเข้าไปตรวจสอบ”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่ามีเรื่องแหล่งก๊าซธรรมชาติ พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา เกี่ยวข้อง ตามหลักปฏิบัติรัฐบาลต้องเจรจากับกัมพูชาอย่างไร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปัญหานี้มีทั้งประเด็น เขตแดนทางทะเล พื้นที่ความทับซ้อนเหมือนกับที่เรามีกับมาเลเซีย ก็ต้องมีการตกลงกันว่าจะแบ่งผลประโยชน์กันอย่างไร แต่สถานการณ์นี้ซับซ้อนขึ้น เพราะว่าทั้งไทย-กัมพูชาขณะนี้ก็มีการให้สัมปทาน เพียงแต่ว่าเข้าไปทำกันไม่ได้เท่านั้นเอง จึงอาจจะมีเงื่อนไขว่าต้องตกลงกันเสียก่อนว่าตกลงอะไรมันเป็นของใคร ตรงไหน
และที่มันซับซ้อนเป็นพิเศษกว่าคือ มีคนที่อยู่ในภาครัฐของไทย หรือเป็นอดีตหัวหน้ารัฐบาลไทย
เคยไปเป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา แล้วก็ประกาศตัวด้วยว่า จะทำธุรกิจพลังงาน คือผลประโยชน์ทับซ้อนพอ ๆ กับพื้นที่ทับซ้อน จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น จึงจำเป็นต้องมีความโปร่งใสให้ประชาชนรู้ว่า ในการที่จะมีการตกลงทำอะไรกันต่อไปนั้น ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นนี้ รัฐบาลไทยได้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และของประชาชนอย่างดีที่สุดแล้วหรือไม่ อย่างไร จึงไม่ใช่เรื่องที่ปล่อยให้ฝ่ายบริหารไปเซ็นต์ตามใจชอบ โดยไม่ต้องมีการมาขอกรอบเพื่อตรวจสอบจากสภาก่อน.