เนื่องจากผู้ชุมนุมได้ตั้งเต็นท์และเวทีปราศรัย โดยมีชาวบ้านรวมถึงตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มผู้ชุมนุมสลับกันขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมได้ทำโลงศพจำลอง ประดับด้วยพวงหรีดและดอกไม้จันท์ ข้างโลงเขียนชื่อ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” และ “จตุพร พรหมพันธ์” โดยช่วงเช้าวันที่ 23 กันยายน กลุ่มผู้ชุมนุมจะจัดทำบุญเดือนสิบตามประเพณียนิมนต์พระสงฆ์มารับภัตตาหารเพล ที่จุดชุมนุม หลังเสร็จพิธีจะเผาโลงศพจำลองดังกล่าว แสดงสัญลักษณ์ว่า รัฐบาลไม่จริงใจช่วยเหลือประชาชน
ขณะที่กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงจะรวบรวมมวลชนไปกดดันผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชที่จวนใน อ.เมืองนครศรีธรรมราช
วันเดียวกันนี้ สมาคมผู้สื่อข่าวนครศรีธรรมราช ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ขณะนี้ผู้สื่อข่าวทั้งในพื้นที่ และจากส่วนกลาง ที่เข้ามาทำข่าวชุมนุมของชาวสวนยางหลายคน วิตกกังวลต่อสวัสดิภาพในชีวิต อุปกรณ์และทรัพย์สิน เนื่องจากมีการสร้างทัศนคติที่เป็นลบ และมีพฤติการณ์คุกคามสื่อด้วยกันเอง ด้วยการบันทึกภาพและนำไปสร้างกระแสทำนองว่า เป็นคนของทางการ
โดยสื่อบางกลุ่ม ซึ่งไม่สร้างผลดีให้ฝ่ายใดเลย สมาคมฯเสียใจที่สื่อบางกลุ่มยุยง ปลุกปั่น สร้างความหวาดระแวงให้ผู้ชุมนุม จนมีท่าทีไม่เป็นมิตรกับผู้สื่อข่าว สมาคมฯยืนยันว่าผู้สื่อข่าวทุกสำนักตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำเสนอข้อมูลรอบด้าน
ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.ฐิตวัฒน์ เชาวลิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานประชุมศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกร โดยหารือถึงการจ่ายชดเชยปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาทให้ชาวสวนยางนครศรีธรรมราช ที่จะเริ่มจ่ายวันที่ 24 กันยายน การปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจ ที่กระจายตั้งจุดตรวจป้องกันอาชญากรรม และจุดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกการใช้เส้นทางเลี่ยง รอบพื้นที่ชุมนุมรัศมี 15 กิโลเมตรรวม 4 จุดคือ บ้านไม้เสียบ ต.เกาะขัน บ้านตูล ต.บ้านตูล แยกสวนผัก และแยกน้ำตก ต.กะปาง
หลังประชุม นายสมนึก เหมมณี เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชเปิดเผยว่า วันที่ 24 กันยายน จะจ่ายชดเชยปัจจัยการผลิต ให้ชาวสวนยางอ.ชะอวด อ.ร่อนพิบูลย์ และอ.จุฬาภรณ์ ที่ขึ้นทะเบียนไว้ 400 คน นำร่องเป็นที่แรก จากข้อมูลมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนแล้ว 78,000 ราย จากทั้งหมด 111,761 ราย เฉพาะอ.ชะอวด ขึ้นทะเบียนแล้ว 3,900 ราย จากเป้าหมาย 4,967 ราย คิดเป็น 80% อ.จุฬาภรณ์ ขึ้นทะเบียนแล้ว 3,270 ราย จากเป้าหมาย 4,501 ราย คิดเป็น 78% และอ.ร่อนพิบูลย์ขึ้นทะเบียนแล้ว 4,062 ราย จากเป้าหมาย 5,100 ราย คิดเป็น 80%
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้ประกาศใช้พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 ต่อไปอีก 1 วัน ห้ามบุคคลไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่ชุมนุมแยกควนหนองหงษ์ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. วันที่ 22 กันยายน-05.00 น.วันที่ 23 กันยายน
วันเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวของชาวสวนยาง จ.กระบี่ โดยนายสุคนธนธ์ สวัสดิภิรมย์ แกนนำเครือข่ายเกษตรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันในจ.กระบี่เปิดเผยว่า ตัวแทนเครือข่ายฯ หารือปัญหาราคายางตกต่ำ ที่รัฐบาลแก้ไขด้วยการจ่ายชดเชยปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาทว่า แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่ชัดเจน และเข้าไม่ถึงเกษตรกรตัวจริง แสดงถึงความไม่จริงใจ เป็นเพียงการซื้อเวลา
ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติสนับสนุนม็อบที่แยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด ด้วยการส่งเสบียงและสนับสนุนกำลังคนเข้าไปร่วม ไม่ปล่อยให้ชาวควนหนองหงษ์โดดเดี่ยว หากรัฐบาลใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม เครือข่ายชาวสวนยางจ.กระบี่ จะไปร่วมสมทบด้วยแน่นอน
ขณะที่ พรรคเพื่อไทย (พท.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงตอบโต้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุนายกฯเป็นคนไม่ยอมให้มีการเจรจากับชาวสวนยางอ.ชะอวดว่าไม่เป็นความจริง
ตนสอบถามนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รมช.มหาดไทย ที่ไปพบกับส.ส.ภาคใต้ ก็ยืนยันว่าไม่มีการพูดเรื่องนี้ แต่คนพรรคประชาธิปัตย์ก็บิดเบือนขยายผล หวังให้เกิดความแตกแยกในกลุ่มผู้ชุมนุม ยืนยันว่า ชาวสวนยาง 95% เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาของรัฐบาล ที่จ่ายชดเชยปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท เหลือเพียง 5% ที่ไม่ยอมรับ และเรียกร้องให้ประกันราคาที่กก.ละ 95-100 บาท เท่าที่ตรวจสอบคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่คนในจ.นครศรีธรรมราชทั้งหมด มีเพียง 30% ที่เป็นคนในพื้นที่ ที่เหลือเป็นกลุ่มวัยรุ่นจากจ.ตรัง ชุมพร พัทลุง สุราษฎร์ธานี
ส่วนกรณีส.ส.ภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการลงพื้นที่พบปะชาวสวนยาง โดยอ้างเป็นการทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวสวนยางนั้น นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า
อยากถามเป็นการอ้างเกษตรกร แต่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะล่าสุดเว็บไซต์สำนักข่าวแห่งหนึ่ง เสนอบทความระบุ ส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ เกือบ 95% ทำสวนยาง และจากที่ตนไปตรวจสอบข้อมูลการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของ ส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่า ส.ส.ภาคใต้ส่วนใหญ่มีรายได้จำนวนมากจากการทำสวนยาง และปาล์มน้ำมัน
“อย่างกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี มีรายได้จากสวนยาง และปาล์มปีละ 41,114,631 บาทจากรายได้รวม 42,552,891 บาท ผมอยากถามว่ามีสวนยางกี่ไร่ ถึงมีรายได้ขนาดนั้น เพราะปกติชาวสวนยางทั่วไปตัดยางได้ไร่ละ 500 บาท 10 ไร่ ได้ 5,000 บาท แต่นายสุเทพมีรายได้ 12 เดือน 41 ล้าน แล้วแบบนี้จะไม่มีสวนยางนับหมื่นไร่หรือ อยากเรียกร้องให้สังคมช่วยตรวจสอบว่าการที่ ส.ส.ภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาเรียกร้องให้ประกันราคายางที่กิโลละ 95 หรือ 100 บาท
โดยอ้างเป็นข้อเรียกร้องของเกษตรกรส่วนใหญ่นั้น แท้จริงมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ถ้าเรียกร้องโดยไม่สุจริตใจ ผมและทีมกฎหมายของพรรคจะตรวจสอบ และอาจยื่นเอาผิดกับบุคคลเหล่านี้ต่อไป ถ้าพบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนจริง ผมจะเอาผิดทางกฎหมาย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่น่าจะมีสวนยางแค่ 5 ไร่ หรือ 10 ไร่เท่านั้น” นายพร้อมพงศ์ กล่าว