เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงตอบโต้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ที่ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ไม่ยอมให้มีการไปเจรจากับกลุ่มม็อบสวนยางที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ว่า ไม่เป็นความจริง ตนได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว ทั้งจากนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รมช.มหาดไทย ที่ไปพบกับ ส.ส.ภาคใต้ ก็ยืนยันว่าไม่มีการพูดเรื่องนี้ แต่ทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายนิพิฎฐ์ ก็ยังบิดเบือนข้อเท็จจริง และขยายผล หวังให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนชาวสวนยาง
โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวต่อว่า นายกฯ และรัฐบาล มีความจริงใจในการแก้ปัญหาม็อบสวนยาง และชาวสวนยาง 95 เปอร์เซ็นต์ก็เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ให้จ่ายเงินชดเชยไร่ละ 2,520 บาท โดยจากการตรวจสอบล่าสุดกับกระทรวงเกษตรฯ และทางผู้ว่าฯ พบว่าชาวสวนยางที่มีทั้งหมด 1.2 แสนราย มาขึ้นทะเบียนแล้ว 7 หมื่นราย และในวันที่ 24 ก.ย.นี้ จะมีการจ่ายเงินชดเชยงวดแรกให้กับเกษตรกรชาวสวนยางใน ที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรม 450 ราย เป็นการสะท้อนว่ารัฐบาล และนายกฯ มีความจริงใจ แต่นายอภิสิทธิ์ และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงบิดเบือน ทำตัวเป็นบ่าง เสี้ยมให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสับสน
“เวลานี้เกษตรกรชาวสวนยาง 95 เปอร์เซ็นต์ตอบรับการจ่ายเงินชดเชยตามแนวทางที่รัฐบาลได้แก้ไขให้แล้ว เหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ยอมรับการชดเชย และเรียกร้องให้มีการประกันราคาที่กิโลละ 95 ถึง 100 บาท โดยชุมนุมอยู่ที่ชะอวด ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เท่าที่ตรวจสอบก็ไม่ใช่คนในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชทั้งหมด มีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เป็นคนในพื้นที่ ที่เหลือเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มาจากนอกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ตรัง ชุมพร พัทลุง สุราษฎร์ธานี ซึ่งมองว่าน่าจะมีกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังหรือไม่”นายพร้อมพงศ์ กล่าว
นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การที่ ส.ส.ภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแถลงข่าวที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยอ้างเป็นการทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวสวนยางนั้น ตนอยากถามว่าเป็นการอ้างเกษตรกรชาวสวนยาง แต่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะล่าสุดเว็บไซต์ของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ได้เสนอบทความว่า ส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ เกือบ 95 เปอร์เซ็นต์ ทำสวนยาง และจากการที่ตนได้ไปตรวจสอบข้อมูลการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของบรรดา ส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์นั้น ปรากฏว่า ส.ส.ภาคใต้ส่วนใหญ่มีรายได้จำนวนมากจากการทำสวนยาง และปาล์มน้ำมัน อาทิ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช แสดงบัญชีทรัพย์สินเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2555 มีรายได้จากปาล์มและยางพาราปีละ 1 ล้านบาท นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี มีรายได้จากสวนยาง และปาล์มปีละ 41,114,631 บาทจากรายได้รวม 42,552,891 บาท
นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช มีรายได้จากการขายยางพาราปีละ 1.8 ล้านบาท นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช มีรายได้จากสวนยาง และปาล์ม ปีละเป็นแสนบาท นายรำรี มามะ ส.ส.นราธิวาส มีรายได้จากยางพาราปีละ 6 แสนบาท นายเจือ ราชสีห์ มีรายได้จากการทำสวนยาง ปีละ 8 แสนบาท นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา มีรายได้จากสวนยางพื้นที่ 55 ไร่ ปีละ 1.8 ล้านบาท นายธานี เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี มีรายได้จากสวนปาล์มปีละ 1.8 ล้านบาท นายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฏร์ธานี มีรายได้จากยางพารา ปีละ 3 ล้านบาท และรายได้จาก ปาล์มอีก 2 ล้านบาท นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี มีรายด้านจากสวนยางพารา ปีละ 2 ล้านบาท นายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีรายได้จากสวนยางพาราครึ่งปี 8 หมื่นบาท และสวนปาล์มน้ำมันครึ่งปี 4.5 หมื่นบาท นายสุชีน เอ่งฉ้วน ส.ส.กระบี่ มีรายได้จากสวนปาล์มครึ่งปี 1 แสนบาท และนายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ มีรายได้จากสวนปาล์มปีละ 3 ล้านบาท เป็นต้น
“อย่างกรณีนายสุเทพนั้น ผมอยากถามว่ามีสวนยางกี่ไร่ ถึงมีรายได้ขนาดนั้น เพราะปกติแล้วชาวสวนยางทั่วไปตัดยางได้ไร่ละเพียง 500 บาท 10 ไร่ ได้ 5 พันบาท แต่นายสุเทพมีรายได้ 12 เดือน 41 ล้าน แล้วแบบนี้จะไม่มีสวนยางนับหมื่นไร่หรือ อยากเรียกร้องให้สังคมช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ ว่าการที่ ส.ส.ภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาเรียกร้องให้ประกันราคายางที่กิโลละ 95 หรือ 100 บาท โดยอ้างว่าเป็นข้อเรียกร้องของเกษตรกรส่วนใหญ่นั้น แท้จริงมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ถ้าเรียกร้องโดยไม่สุจริตใจ ผมและทีมกฎหมายของพรรคจะตรวจสอบเรื่องนี้ และอาจจะยื่นเอาผิดกับบุคคลเหล่านี้ต่อไป ถ้าพบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนจริง ผมจะเอาผิดทางกฎหมาย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่น่าจะมีสวนยางแค่ 5 ไร่ หรือ 10 ไร่เท่านั้น” นายพร้อมพงศ์ กล่าว