คุก7ปีนักธุรกิจอังกฤษ ตุ๋นขายGT200ตรวจบึ้มเก๊

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ศาลเมืองโอลด์ เบลีย์ ในแคว้นเคนท์ของประเทศอังกฤษ

มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก นายแกรี่ โบลตัน นักธุรกิจชาวเมืองแชมแฮม เป็นเวลา 7 ปี ในข้อหาฉ้อโกงด้วยการหลอกขายเครื่องตรวจจับระเบิด จีที 200 ให้แก่ลูกค้านานาชาติในราคาเครื่องละกว่า 10,000 ปอนด์ หรือประมาณ 500,000 บาท ทั้งที่จริงแล้วมีราคาเพียงแค่ 5 ปอนด์ หรือ 250 บาทเท่านั้น

โดย นายโบลตัน ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทโกลบอล เทคนิคัล ที่อยู่ในเมืองแอชฟอร์ด

อ้างว่า เครื่องจีที 200 สามารถตรวจจับระเบิด ยาเสพติด งาช้าง ยาสูบและธนบัตรได้ ทั้งที่รู้แก่ใจว่าไม่เป็นความจริง และเขาได้กำไรมหาศาลเกือบ 3 ล้านปอนด์ หรือราว 147 ล้านบาท จากการหลอกขายให้ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากต้นทุนในการผลิตเครื่องละไม่ถึง 5 ปอนด์

ผู้พิพากษา ริชาร์ด ฮอน คิวซี ระบุว่า นายโบลตันมีเจตนาหลอกขายกล่องพลาสติกเล็กๆ ให้ลูกค้า รวมถึงกองทัพ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า สินค้าเหล่านั้นเป็นสิ่งไร้ค่า โดยนายโบลตัน ขายเครื่องจีที 200 ไปกว่า 5,000 เครื่อง ราคาเครื่องละ 2,500-10,000 ปอนด์ แต่ถ้าซื้อปลีกจะมีราคาสูงถึงเครื่องละ 15,000 ปอนด์


คุก7ปีนักธุรกิจอังกฤษ ตุ๋นขายGT200ตรวจบึ้มเก๊

ก่อนหน้านี้ นายโบลตัน เคยยอมรับว่า เขาไม่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย การฝึกฝน หรือด้านความมั่นคงแม้แต่น้อย
 
แต่กลับอ้างว่า เครื่องจีที 200 ที่มีเพียงกล่องและด้ามจับผลิตเองพร้อมสายอากาศ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในรัศมีไกลถึง 700 เมตร
และสูงขึ้นไปในอากาศถึง 4 กิโลเมตร ซึ่งไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ เครื่องจีที 200 ถูกขายให้กับเม็กซิโกไปราว 1,200 เครื่องและมีคำสั่งซื้อจากบางประเทศในเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศไทยด้วย  

ขณะที่เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์บีบีซีแห่งอังกฤษรายงานว่า ศาลพิจารณาเห็นตรงกันว่า โบลตันตระหนักดีว่า
 
อุปกรณ์ตรวจจับที่อ้างสรรพคุณว่าสามารถตรวจหาได้ทั้งระเบิด ยาเสพติด บุหรี่ งาช้าง หรือเงินสดนี้ ไม่สามารถทำงานได้ตามที่อวดอ้าง แต่นายโบลตันก็ยังคงเดินหน้าขายเครื่องดังกล่าวในตลาดต่างประเทศ จนกระทั่งมีผู้ซื้อรายหนึ่งเอ็กซเรย์อุปกรณ์ดังกล่าว จนพบว่า ภายในเป็นเพียงแค่กล่องว่างเปล่า ไม่มีวงจรทำงานแต่อย่างใด สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงทางการค้าของประเทศอังกฤษเป็นอย่างมาก

ย้อนไปเมื่อปี 2553 ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศอังกฤษได้ทดสอบอุปกรณ์ตรวจจับระเบิด จีที 200 ตามคำขอของสำนักงานการค้ายุติธรรม ก่อนได้ข้อสรุปว่า จีที 200 นี้ไม่สามารถเชื่อถือได้ในฐานะเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด เพราะไม่มีชิ้นส่วนที่ทำงานในระบบดังกล่าวได้

ในช่วงต้นปี 2553 มีข่าวคราวฮือฮาหลังมีการพิสูจน์แล้วพบว่า

เครื่องจีที 200 ไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบวัตถุระเบิดและมีการล้อเลียนกันว่าเป็น “ไม้ล้างป่าช้า” อย่างไรก็ดีแม้จะมีการสอบสวนถึงที่มาที่ไปในการสั่งซื้อเข้ามาเพื่อใช้งานในหลายหน่วยงานของราชการ ซึ่งทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้มีการสอบสวนเรื่องดังกล่าวในเบื้องต้นในประเด็นการจัดซื้อแพงเกินจริงไปให้ ป.ป.ช.ดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป

ต่อมา คณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติให้คดีจีที200 ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเป็นคดีพิเศษอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ
 
เนื่องจากมีการสอบสวนพบว่า เป็นการหลอกลวงขายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพตามที่ได้กล่าวอ้าง อันเป็นพฤติกรรมที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ และเป็นคดีที่มีความสลับซับซ้อนจากการตั้งตัวแทนจัดจำหน่าย รวมทั้งมีการวางแผนหลอกลวงเจ้าหน้าที่มาตั้งแต่ต้น ซึ่งทำความเสียหายต่อประเทศไทยนับพันล้านบาท

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มกราคม2556 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดี ดีเอสไอ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีฉ้อโกงจัดซื้อเครื่องจีที200 และอัลฟา6 ว่า
 
คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ หลังจากบริษัทเอกชนได้เสนอขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200และอัลฟา6 ที่ไม่มีประสิทธิภาพให้กับหน่วยราชการไทย 13 หน่วยงาน จำนวน 1,358เครื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 1,137,588,990 บาท


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์