คุมไลน์ ทำได้จริงหรือ?

คุมไลน์ ทำได้จริงหรือ?

เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต กรณีที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ออกสื่อเสียงแข็งว่าจะเข้าตรวจสอบการสนทนาผ่านแอพพลิเคชั่น ไลน์ (LINE)

โดยอ้างอิงเหตุผลด้านความมั่นคง และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากกระแสสังคม ทั้ง กลุ่มกรีน นักกฎหมายเทคโนโลยี นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เพราะปัจจุบันคนไทยใช้ไลน์มากถึง 15 ล้านคน จากทั่วโลก 200 ล้านคน

หรือแม้แต่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ผู้มีอำนาจใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ ปอท. เนื่องจากไลน์ถือเป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้กันทั่วโลกและเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่ไม่ควรถูกละเมิด

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ยืนยันว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิเด็ดขาด แต่หากทำผิด ปอท.มีอำนาจในการตรวจสอบตามที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 18 ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่เชื่อว่ามีการ  กระทำความผิด มีอำนาจร้องขอคำสั่งศาลในการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น โดยจะไม่ขอข้อมูลที่เป็นข้อความทั้งหมด จะขอเฉพาะข้อมูลการเชื่อมต่อเท่านั้น แบ่งการตรวจสอบผู้ต้องสงสัย 3 วิธี คือ รับแจ้งจากผู้พบเห็นคนกระทำความผิดโดยตรง รับแจ้งจากสมาชิกแจ้งข่าวของ ปอท. ซึ่งจะทำการส่งหลักฐานมาให้ และจากตำรวจ ที่พบว่ากลุ่มนี้อาจจะกระทำความผิด เป็นต้น

แหล่งข่าวจากนักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กระทรวงไอซีที ได้ให้ข้อมูลว่า ในตัว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น จะระบุไว้ชัดเจนว่าความผิดข้อไหนต้องขออำนาจศาล และข้อไหนสามารถดำเนินการได้ทันที โดยจะต้องประมวลความผิดเป็นรายมาตราไป

ถึงแม้ว่า ต่างฝ่ายต่างยึด พ.ร.บ.และอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ หากมองในแง่กฎหมายต่างฝ่ายต่างอ้างอิงได้ แต่การใช้อำนาจและกฎหมายที่มีอยู่ก็ไม่ควรกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้งานด้วย


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์