เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
แถลงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายหาดและพื้นที่อ่าวต่างๆ รอบเกาะเสม็ด จ.ระยอง จากการเฝ้าระวังกรณีเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลระยอง เบื้องต้นว่า จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งรอบเกาะเสม็ด 12 หาด ซึ่ง คพ.ไปเก็บมาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า ค่าความเป็นกรด ด่าง ค่าออกซิเจนละลายน้ำเป็นปกติไม่เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้
ส่วนผลการตรวจวัดโลหะหนักทั้ง 12 หาด พบว่าบริเวณอ่าวพร้าวและอ่าวทับทิม มีปริมาณสารปรอทเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดเอาไว้
ซึ่งค่ามาตรฐานปรอทในคุณภาพน้ำทะเลนั้นต้องไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่พบว่าที่อ่าวพร้าวมีค่าสูงถึง 2.9 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนที่อ่าวทับทิมนั้นสูง 0.25 ไมโครกรัมต่อลิตร สำหรับการตรวจวัดค่าปิโตรเลี่ยมคาร์บอนนั้น ยังวิเคราะห์ไม่เสร็จ คาดว่าจะรู้ผลได้ช่วงเช้าวัดที่ 15 สิงหาคม
สำหรับพื้นที่อ่าวพร้าวนั้น เราไม่สงสัยว่าทำไมค่าปรอทถึงเกินมาตรฐาน เพราะคราบน้ำมันบางส่วนยังคงหลงเหลืออยู่
แต่สำหรับที่อ่าวทับทิมซึ่งอยู่คนละฝั่งกันนั้น น่าสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร เบื้องต้นได้สอบถามไปยังพื้นที่แล้วพบว่า มีกิจกรรมจากการท่องเที่ยวบางอย่างที่ทำให้ปริมาณปรอทเกินมาตรฐานได้ ซึ่ง คพ.จะได้ตรวจสอบในรายละเอียด เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป ในช่วงนี้ขอแนะนำว่า ให้หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำที่ 2 พื้นที่นี้ก่อน
ทั้งนี้ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างน้ำทั้ง 12 หาด ทุก 3 สัปดาห์ จำนวน 3 ครั้ง หลังจากนั้นก็จะเก็บอีกราย 3 เดือน อีก 3 ครั้ง ใน 32 จุด และจะแถลงข่าวให้ทราบผลการตรวจวัดทุกครั้ง" นายวิเชียรกล่าว
นายนิพนธ์ พงษ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า
สำหรับการสำรวจความเสียหายของปะการัง ในพื้นที่อ่าวพร้าว พบว่า บริเวณอ่าวพร้าวด้านเหนือ มีปะการังฟอกขาว 50% ส่วนด้านใต้ ฟอกขาวไปแล้วประมาณ 70-80% และบริเวณอ่าวปลาต้ม ฟอกขาวประมาณ 20% นอกจากนี้ยังมีสัตว์ทะเลบางชนิดที่ได้รับผลกระทบคือ ฟองน้ำ แต่ยังเห็นไม่ชัดเจนนัก