จากนั้นรถตู้เคลื่อนที่ออกจากโรงพยาบาลมุ่งหน้าไปยังวัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ท่ามกลางประชาชนและเจ้าหน้าที่ร่วมกันยืนพนมมือไหว้ศพเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกการจราจรตลอดเส้นทาง
ขณะเดียวกันที่วัดสระเกศมีคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนยืนเรียงแถวต้อนรับขบวนเคลื่อนศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ ตั้งแต่บริเวณริมถนนใหญ่จนถึงศาลาการเปรียญ บริเวณพระตำหนักสมเด็จอย่างเนืองแน่น ซึ่งมีการจัดเตรียมสถานที่และตกแต่งด้วยดอกไม้สีขาวเพื่อไว้อาลัยอย่างสมเกียรติ
ทั้งนี้ ภายหลังการเคลื่อนศพสมเด็จพระพุฒาจารย์มาตั้งบำเพ็ญกุศลภายในวัดเรียบร้อยแล้ว เวลา 10.00 น. วัดเปิดให้พระสงฆ์จากทั่วประเทศได้กระทำสามีจิกรรม (กราบขอขมา) จากนั้นเวลา 13.00 น. เปิดให้ประชาชนได้สักการะ ซึ่งมีประชาชนสวมใส่ชุดสีดำ-ขาวยืนต่อแถวยาวตั้งแต่บริเวณหน้าศาลาการเปรียญเป็นจำนวนมาก เพื่อทยอยเดินเข้าสักการะศพอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีพระเถระผู้ใหญ่เข้าสักการะศพอย่างต่อเนื่อง อาทิ สมเด็จพระวันรัต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร, สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส, พระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เป็นต้น
ขณะที่บุคคลสำคัญในแวดวงการเมืองทยอยมาเคารพอย่างล้นหลาม อาทิ นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.การคลัง, นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ, พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ฯลฯ จากนั้นเวลา 16.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯและรมว.กลาโหม เข้าสรงน้ำศพสมเด็จพระพุฒาจารย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัดสระเกศกำหนดตั้งบำเพ็ญกุศลศพสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นเวลา 100 วัน โดยจะเปิดให้พุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ ร่วมฟังสวดพระอภิธรรมและเข้าสักการะศพ นอกจากนี้ยังจัดทำล็อกเกตรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ไว้แจกจ่ายพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาสักการะศพด้วย
เวลา 17.15 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานน้ำหลวงสรงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) โดยมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ นำรัฐมนตรีบางส่วนเฝ้าฯรับเสด็จ การนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพวงมาลาส่วนพระองค์ จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย และทรงทอดผ้าไตร (พระสงฆ์บังสุกุล) แล้วทรงหลั่งทักษิโณทก
จากนั้นพระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เมื่อเจ้าพนักงานพระราชพิธีนิมนต์พระพิธีธรรมขึ้นนั่งยังอาสนสงฆ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกที่หน้าพระสวดพระอภิธรรม พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม เมื่อพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมจบ เสด็จฯประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
พระพรหมสิทธิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กล่าวว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์มรณภาพลงอย่างสงบ และไม่ได้สั่งเสียอะไร สิ่งที่ท่านสร้างให้กับคณะสงฆ์ไทยมีมากมาย โดยเฉพาะการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศแถบทวีปยุโรป เป็นพระสงฆ์รูปแรกที่นำพระพุทธศาสนาของประเทศไทยไปเผยแผ่ให้ชาวต่างชาติรู้จัก แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาท่านต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ เนื่องจากอาพาธ
ด้านพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นพระเถระที่มุ่งมั่น นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ยังต่างประเทศ ท่านมองว่าหากไม่มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะกลายเป็นประวัติศาสตร์เหมือนประเทศอินเดียที่มีความเจริญและล่มสลายในที่สุด จึงหันกลับมามองในประเทศไทยและมุ่งนำพระพุทธศาสนากระจายออกไปยังต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยก็ให้พระสงฆ์ช่วยกันดูแลและให้มีวัตรปฏิบัติที่ดีต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ย้อนหลังไปเมื่อครั้งมีมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 20/2547 เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2547 มติเลือกคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช โดยอาศัยอำนาจตามวรรค 5 ของมาตรา 10 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ประกอบด้วย 1.สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ 2.สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม 3.สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ 4.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุวรรณาราม 5.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม 6.สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศาราม และ 7.สมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส โดยมีมติให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
แต่เนื่องจากปัจจุบันสมเด็จพระราชาคณะบางรูปได้มรณภาพ ประกอบกับมีการสถาปนารองสมเด็จพระราชาคณะให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ เหลือเพียงสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ, สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศาราม ดังนั้น จึงเสนอแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (เพิ่มเติม) อีก 5 รูป ได้แก่ 1.สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 2.สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร 3.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุทัศนเทพวราราม 4.สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส และ 5.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม รวมเป็น 8 รูป
แต่ภายหลังการมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ขั้นตอนจากนี้ไป มหาเถรสมาคม(มส.) จะต้องคัดเลือกประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช รูปใหม่ จากคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ รวม 7 รูป ประกอบด้วย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ (ธรรมยุต),
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ธรรมยุต), สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พรหมคุตโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร (ธรรมยุต), สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร (ธรรมยุต), สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภัททจารี) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม, สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร
จากนั้น เมื่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมลงมติเลือกแล้ว สำนักพุทธฯจะส่งเรื่องรายงานเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ