เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 ส.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 803 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก
ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ยกฟ้อง ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม หรือนายบัณฑิต สิทธิทุม อายุ 44 ปี อดีตตำรวจ สภ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว และแนวร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดฐานก่อการร้าย, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินผู้อื่น,ร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายจนเป็นให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์,ร่วมกันยิงปืนโดยใช้ดินระเบิดในที่ชุมนุม, ร่วมกันมีเครื่องยิงระเบิดไว้ในครอบครอง ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้,ร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ , ร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1,221, 222 , 258, 265,295,358,371,376 ประกอบมาตรา 80 และ 83 และพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดไปในเมือง ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ตามความผิดพ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พ.ศ.2490 จากกรณียิงจรวดอาร์พีจีไปยังกระทรวงกลาโหม ปี 2553 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 38 ปี
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า คดีนี้มีพยานโจทก์หลายปาก ซึ่งเห็นคนร้ายในช่วงเวลาแตกต่างกัน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า
พยานพบเห็นคนร้ายขับรถยนต์ โตโยต้า วีโก้ สีบรอนซ์ทอง หมายเลขทะเบียน ตศ 9818 ทม. เข้ามาจอดภายในซอยบริเวณด้านหลังกระทรวงกลาโหม ซึ่งพยานระบุว่าเห็นจำเลยอยู่ในรถคันดังกล่าวด้วย จากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงก็ได้ยินเสียระเบิดดังขึ้น ซึ่งภายหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบรถยนต์ดังกล่าวจอดอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุ สภาพกระจกแตกทั้งคัน ประตูรถเสียหายทั้งบาน และตัวรถได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และภายในรถยังพบเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 2 จำนวน 1 กระบอก และระเบิดสังหารเอ็ม 67 จำนวน 3 ลูก และเสื้อแจ็คเก็ต 1 ตัว แสดงว่าคนร้ายใช้รถยนต์คันดังกล่าวในการก่อเหตุจริง
ประเด็นมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้นำพยานขึ้นเบิกความจำนวนหลายปาก
แต่คำเบิกความของพยานถึงสาระสำคัญตำแหน่งที่นั่งภายในรถยนต์ของคนร้ายไม่ตรงกัน โดยพยานบางรายระบุเห็นจำเลยเป็นคนขับ แต่พยานบางรายระบุว่าจำเลยนั่งข้างคนขับ พยานบางคนระบุว่าจำเลยใส่หมวกแก๊ป ขณะที่พยานบางคนบอกว่าไม่ได้ใส่หมวก ซึ่งพยานให้การขัดแย้งกันเองไม่มีน้ำหนักมั่นคงน่าเชื่อถือ และขัดแย้งกับคำให้การของตนเองที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน จึงยังไม่แน่ใจว่าคนร้ายใช่จำเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญแห่งคดี พยานต้องเบิกความให้ชัดเจนมั่นคง
อีกทั้งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลากลางคืนแสงไฟมีน้อย ถึงแม้ว่าผลตรวจลายนิ้วมือแฝงภายในรถและเสื้อเจ็คเก็ต จะพบว่ามีสารพันธุกรรมจำเลยปะปนอยู่
แต่ก็มีของบุคคลอื่นรวมอยู่ด้วย ส่วนที่พยานให้การว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวกับรถยนต์คันก่อเหตุที่มีการซื้อขายต่อกันมาหลายทอดนั้น แต่พยานโจทก์ก็ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยอยู่ในรถยนต์คันเกิดเหตุด้วยและเป็นคนร้ายจริงหรือไม่ เห็นว่าแม้ว่าพยานแวดล้อมจะเบิกความระบุว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับรถยนต์คันดังกล่าว แต่โจทก์ไม่มีพยานเบิกความเน้นว่าจำเลยเป็นคนร้ายแต่อย่างใด จึงมีเหตุสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับยกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา และให้ริบของกลาง
ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ‘ส.ต.ต.’ ยิงอาร์พีจีใส่กห.ช่วงม็อบปี 53 ชี้พยานให้การขัดแย้งกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษา เจ้าตัวดีใจจนถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาระหว่างอยู่ภายในห้องพิจารณาคดี
ขณะที่วันนี้ไม่มีญาติหรือแกนนำนปช.มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วยแต่อย่างใด โดย ส.ต.ต.บัณฑิต กล่าวระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวเพื่อจะไปคุมขังต่อที่เรือนจำว่า “รู้สึกดีใจมาก รอคอยวันนี้มานาน และเห็นว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง ซึ่งที่ผ่านมายืนยันว่าตนเองไม่ผิดและจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด”
ส.ต.ต.บัณฑิต ยังกล่าวถึงกรณีการเสนอพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า ส่วนตัวเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ยากที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านสภา
เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงขัดแย้งกัน และในส่วนที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นว่า ไม่สมควรนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอาญา หรือจำเลยที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วนั้น ส่วนตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็น แต่ยอมรับได้หากจะมีการนิรโทษกรรมให้กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ. ถ้าหากทำแล้วเกิดความปรองดองขึ้นในบ้านเมือง
สำหรับคดีดังกล่าว พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อ.2317/2553 สรุปว่า
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2553 จำเลยกับพวกอีก 1 คน ร่วมกันใช้เครื่องยิงจรวด อาร์พีจี 2 เล็งและยิงลูกระเบิดไปยังอาคารกระทรวงกลาโหม เขตพระนคร ทำให้นายศักดิ์ หาญสงคราม ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ สายเคเบิลโทรศัพท์ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสียหายเป็นเงินจำนวน 39,421 บาท จำเลยกับพวกมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญ บังคับ รัฐบาลไทยให้ยุบสภา ทั้งยังสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือการก่อการร้ายของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยมีเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 2 จำนวน 1 กระบอก ลูกระเบิดแบบสังหาร เอ็ม 67จำนวน 3 ลูก ปืนกลมือ (เอ็ม 3) ขนาด .45 จำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืน .45 จำนวน 48 นัดเหตุเกิดที่แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงพระนคร เขตพระนคร แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แขวงวัแดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. เกี่ยวพันกัน
ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม รวมจำคุกทั้งสิ้น 38 ปี และให้ริบของกลาง ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี จนกระทั่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาดังกล่าว