เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 4 ส.ค. ผู้สื่อข่าว ข่าวสด รายงานว่า นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
นายโชติ ตราชู ปลัดทส. นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืช เข้าตรวจความคืบหน้าของการจัดเก็บคราบน้ำมันที่รั่วไหลเข้าอ่าวพร้าวเกาะเสม็ด ที่ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว ที่เหลือ คือ การฟื้นฟูเกาะเสม็ด โดยนายวิชิต ชาติไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายสุเมธ สายทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าหมู่เกาะเสม็ด นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 พร้อมเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับมื้อเที่ยง ด้วยเมนูปูทะเล ระยอง โดยต้มมาใหม่ เนื้อขาวสะอาดหวานอร่อย ซึ่ง ทางรมว.ทส. ได้รับประทาน พร้อมยกนิ้วยืนยันว่าปูม้า ปูทะเลของระยอง ในตลาดบ้านเพ ตลาดตะพง ในพื้นที่รอบเกาะเสม็ด ยังรับประทานได้และมีรสชาติดี ขอให้นักท่องเที่ยวมั่นใจได้
จากนั้นนายวิเชษฐ์ พร้อมคณะ ได้เดินทางข้ามฝั่งจากบ้านเพ ไปเกาะเสม็ดด้วยเรือเร็วใช้เวลา เพียง 10 นาทีเท่านั้น
และสำรวจทางด้านหาดทรายแก้ว พื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบซึ่งยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเที่ยวอยู่เป็นจำนวนมาก และเดินทางด้วยรถอีกต่อไปยังอ่าวพร้าว เพื่อสำรวจพบว่ามีมีการจัดเก็บน้ำมันออกทั้งหมดแล้ว หาดทรายกลับมาขาวสวยงามดังเดิม เหลือเพียงแค่ใช้เวลาในการฟื้นฟู ทั้งนี้ จะต้องมีนักวิชาการประเมินผลกระทบ แบ่งเป็นโซน A B C และใช้เวลาระยะยาว ต่อไปในระยะเวลา ประมาณ 1 ปี
นายวิเชษฐ์กล่าวในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมระยะยาว
โดยทาง ปตท. และกรมควบคุมมลพิษ และทางจังหวัด ต้องมีการดูแลอยู่อย่างต่อเนื่อง เรื่องของน้ำมันที่ซึมเข้าไปในเนื้อทราย ที่ทาง ปตท.จะมีการขุดสำรวจ เพื่อดูว่ามีน้ำมันตกค้างหรือไม่ เป็นการกระทำอย่างต่อเนื่องตามหลักวิชาการ อาจมีเรื่องของการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ
“เรื่องของปะการังและแพลงตอน สัตว์น้ำทะเล ได้มีการสำรวจเบื้องต้น ยังไม่พบว่ามีปะการังหรือ ปู ปลา ทะเล ตาย การที่ปะการังสร้างเมือกห่อหุ้ม จะมีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ต่อไป ในส่วนของความกังวลเรื่องสารที่ใช้ในการย่อยสลายคราบน้ำมัน โดยการโปรยสารเคมีที่ระบุ เป็นสถานการณ์ทางเลือกที่ดีที่สุด ที่ทั่วโลกใช้ สารจะไปรวมจับคราบน้ำมันย่อยสลายลงไป เป็นตะกอนตกไปในท้องทะเล ย่อยสลายได้โดยแบคทีเรียในท้องทะเล และแสงอาทิตย์ย่อยสลายตามหลักวิชาการก็เป็นอาหารของสัตว์ในท้องทะเล และจะได้ให้นักประดาน้ำลงดูว่ามีผลกระทบหรือไม่อย่างไร”
ทั้งนี้อีกประมาณ 1 สัปดาห์ อ่าวพร้าวก็สามารถเปิดทำการได้
นักท่องเที่ยวก็สามารถพักได้ตามปกติแล้ว และขอให้ทาง ปตท ใช้อ่าวพร้าวเกาะเสม็ดเป็นสถานที่การอบรม สัมมนา จัดกิจกรรมทุกประเภท เพื่อเป็นโอกาสที่จะสร้างความเชื่อมั่น สร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้นให้แก่พื้นที่ด้วยการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
ด้านนายวิชิต ชาติไพสิฐ ผวจ.ระยอง ชี้แจงกรณีปัญหาความเดือดร้อนปากท้องของชาวประมงเบื้องต้น
ต้องรีบสรุปเพื่อเตรียมประกาศอัตราความช่วยเหลือรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่จะชดใช้ให้กับชาวประมงระยอง ที่มีอยู่กว่า 20 กลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบแล้วเบื้องต้นมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1 กลุ่มลานหินขาว 2 กลุ่มแหลมเทียน 3 กลุ่มเรือเล็กศาลาเขียว 4 กลุ่มสวนสนยูงทอง 5 กลุ่มเรือนวลทิพย์ 6 กลุ่มอวนปู (ท่าเทียบเรือ) และมีผู้ลงชื่อร้องเรียนอีกจำนวน 560 ราย ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ประมงจังหวัด เป็นหัวหน้าชุดเยียวยาดูแลประมงเรือเล็ก ลำดับความช่วยเหบลือให้เป็นขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ระยะปานกลางไปถึงระยะยาว โดยจะมีการประชุมของแต่ละส่วน เพื่อสรุปรวมอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นของชาวประมงระยองกับยอดการขายอาหารทะเล ลดลง ทั้งบรรดาพ่อค้าแม่ค้า
ต่างงดการสั่งซื้ออาหารทะเลจำพวก ปูหอย ซึ่งทำให้ชาวประมงได้รับผลกระทบอย่างมาก จากวันแรกที่น้ำมันรั่วไหลเข้ามา ชาวประมงต้องเร่ขายปูเพียงกิโลกรัมละ 100 บาท ต้องยอมขายลดลงกว่า ร้อยละ 50 ทำให้ขาดทุนมาก ทิ้งไว้ปูหอยก็จะเน่า ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นักท่องเที่ยวก็ลดลงเพราะไม่มั่นใจว่าจะมีสารปนเปื้อนหรือไม่จึงไม่กล้าซื้อกิน รวมทั้งกรุ๊ปทัวร์ก็งดสั่งอาหารทะเล ทำให้ชาวประมงขาดรายได้เลี้ยงชีพ และครอบครัวเดือดร้อน