ผศ.ดร.ปภาศิริ บาร์เนท หัวหน้าภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า
ผู้ว่าราชการจังหวัดควรประกาศให้ชาวประมงหยุดจับสัตว์น้ำมาบริโภคในพื้นที่ จ.ระยองเป็นเวลา 3 เดือนเพื่อความปลอดภัยเพราะคราบน้ำมัน นอกจากบริเวณเกาะพร้าวแล้วยังไหลไปตามปากแม่น้ำต่าง ๆ ที่ยังไม่มีระบบการจัดเก็บ ซึ่งในน้ำมันมีสารโลหะหนักที่ไปสะสมอยู่ในสัตว์ทะเลได้ ทั้งนี้เหตุการณ์ครั้งนี้ประเทศไทยยังถือว่ายังโชคดีเพราะที่ประเทศเกาหลีใต้เคยเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วเป็นพันตัน รัฐบาลประกาศห้ามไม่ให้มีการบริโภคสัตว์เทะลในพื้นที่บริเวณนั้นเป็นปี
หัวหน้าภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา ยังกล่าวถึงผลกระทบความเสียหายต่อระบบนิเวศว่า
ในน้ำมันมีสารโลหะหนักที่สามารถสะสมในสัตว์น้ำชนิดที่เคลื่อนย้ายได้ในห่วงโซ่อาหาร ห่วงโซ่สุดท้ายคือคน เมื่อคนไปกินปลา เพราะปลาตัวใหญ่จะกินปลาตัวเล็ก ซึ่งปลาตัวเล็กไปกินแพลงตอน ในแพลงตอนมีสารโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ ขบวนการลักษณะนี้โลหะหนักยังสะสมอยู่ไม่สลายไปไหน สุดท้ายคนจะได้รับผลกระทบสูงสุด แต่ทั้งนี้ความเข้มข้นของโลหะจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการตรวจสอบ จนถึงขณะนี้งานวิทยาศาสตร์ยังตอบโจทย์ไม่ได้ แต่ผลกระทบเห็นชัดเจนคือการท่องเที่ยว ภาคการประมงเสียหายดังนั้นบริษัทน้ำมันที่เป็นต้นเหตุจึงต้องมีหน้าที่ชดใช้