สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ได้เผยแพร่ความคืบหน้าสถานการณ์ของคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเล จังหวัดระยอง ในวันที่ 31 ก.ค.จากภาพถ่ายดาวเทียมและสถานีเรดาร์เพื่อการตรวจวัดคลื่นและกระแสน้ำชายฝั่ง โดยระบุว่า
ภาพจากดาวเทียมระบบเรดาร์ COSMO-SkyMed-2 เมื่อเวลา 06.09 น. ของวันที่ 31 ก.ค.แสดงให้เห็นอาณาบริเวณของคราบน้ำมันที่เป็นฟิล์มบางๆ ที่ยังมีอยู่ทางด้านเหนือของเกาะเสม็ด ซึ่งมีขนาดลดลงจากเมื่อวานนี้เล็กน้อย (ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร) และมีการกระจายตัวของฟิล์มน้ำมันบางส่วนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเสม็ด โดยฟิล์มน้ำมันเหล่านี้น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากมวลน้ำมันที่สะสมบริเวณด้านเหนือของอ่าวเสม็ด ซึ่งควรจะมีการสำรวจภาคพื้นดินอย่างละเอียดและขจัดออกด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อลดปริมาณต้นกำเนิดของคราบน้ำมัน มิฉะนั้นก็จะยังมีการแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายวันหรือสัปดาห์
ถึงแม้ว่าคราบน้ำมันที่เป็นฟิล์มบางๆ นี้อาจจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเฉียบพลัน แต่สารเคมีบางชนิด เช่น สารอินทรีย์ในกลุ่มอะโรมาติคและโลหะบางชนิดที่มีในน้ำมันดิบอาจจะสะสมในสิ่งมีชีวิตและถ่ายทอดตามห่วงโซ่อาหารในทะเลสู่ผู้บริโภคขั้นสูงได้ รวมทั้งองค์ประกอบที่สลายตัวได้ยากจะรวมตัวและสะสมเป็นก้อนน้ำมันดิน (Tar Ball) ตามชายหาดต่างๆ ในระยะยาว ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดแผนการป้องกันและติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทางทะเลในบริเวณนี้ในระยะยาวต่อไป
อนึ่งการใช้ดาวเทียมระบบเรดาร์ตรวจวัดคราบน้ำมันนั้นเป็นการวัดความราบเรียบของผิวหน้าทะเลอันเนื่องมาจากแรงตึงผิวที่ลดลงของน้ำทะเลเนื่องมาจากฟิล์มน้ำมัน ดังนั้นแม้จะเป็นเพียงฟิล์มบางๆ ดาวเทียมก็สามารถตรวจวัดได้ ในขณะที่การสังเกตด้วยตาเปล่าอาจจะมองเห็นไม่ชัดเจนก็ได้