16 ก.ค.56 น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เปิดเผยผลการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในข้าวสารถุง 46 ตัวอย่างว่า การตรวจสารเคมีตกค้างในข้าวถุงครั้งนี้ เฉพาะจากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเนต, ยากันรา และสารรมควันข้าวเมทิลโบรไมด์เท่านั้น ส่วนสารพิษจากเชื้อราและคุณภาพข้าวถุงนั้นยังไม่เสร็จ โดยผลทดสอบข้าวสารถุง 46 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเนต รวมทั้งสารตกค้างจากยากันรา
นอกจากนี้มีข้าวถุงเพียง 12 ตัวอย่าง (ร้อยละ 26.1) ที่ไม่พบสารตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรชนิดใด ๆ
ได้แก่ 1.ข้าวลายกนก ข้าวหอมมะลิแท้ 100% 2.ข้าวพันดี ข้าวขาว 100% ชั้นดีพิเศษ 3.ข้าวธรรมคัลเจอร์ ข้าวหอมคุณภาพคัดพิเศษ 4.ข้าวรุ้งทิพย์ ข้าวขาวเสาไห้ 5.ข้าวบัวทิพย์ ข้าวหอม 6.ข้าวตราฉัตร ข้าวขาว 15% 7.ข้าวมหานคร ข้าวขาวคัดพิเศษ 8.ข้าวสุพรรณหงส์ ข้าวหอมสุรินทร์ 9.ข้าวเอโร่ ข้าวขาว 100% 10.ข้าวแสนดี ข้าวหอมทิพย์ 11.ข้าวโฮมเฟรชมาร์ท จัสมิน ข้าวหอมมะลิ 100% และ12.ข้าวชามทอง ข้าวขาวหอมมะลิ 100%
สำหรับผลการทดสอบสารรมควันข้าว เมทิลโบรไมด์ พบการปนเปื้อนสูงถึง 34 ตัวอย่าง
(ร้อยละ 73.9) ของจำนวนตัวอย่างที่นำมาทดสอบปริมาณของสารเมทิลโบรไมด์ที่พบการตกค้างในตัวอย่างที่นำมาทดสอบอยู่ที่ระดับ 0.9-6.7 มิลลิกรัม/กก. โดยตัวอย่างข้าวสารถุงที่พบปนเปื้อนมากที่สุด คือ ยี่ห้อ โค-โค่ ข้าวขาวพิมพา มีสารปนเปื้อนสูงถึง 67.4 มิลลิกรัม/กก. ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ที่กำหนดไว้ให้มีสารตกค้างได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กก.
น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า ยังพบอีก 5 ตัวอย่าง ที่ตกค้างไม่เกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ แต่พบการตกค้างสูงกว่า 25 มิลลิกรัม/กก. แต่ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กก. ได้แก่ ข้าวแสนดี ข้าวหอม พบการปนเปื้อน 41 มิลลิกรัม/กก. ข้าวตราดอกบัว ข้าวเสาไห้ พบการปนเปื้อน 29.5 มิลลิกรัม/กก. ข้าวตราดอกบัว ข้าวตาแห้ง พบการปนเปื้อน 28.9 มิลลิกรัม/กก. ข้าวสุรินทิพย์ ข้าวหอมมะลิ พบการปนเปื้อน 27.6 มิลลิกรัม/กก. และข้าวถูกใจ ข้าวขาว พบการปนเปื้อน 27.5 มิลลิกรัม/กก.
“เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานรัฐ ได้แก่ องค์การอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้เปิดเผยรายละเอียดชื่อยี่ห้อของข้าวที่พบการปนเปื้อนหรือตัวอย่างยี่ห้อที่ตรวจแล้วปลอดภัยไม่พบการปนเปื้อน ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดทิศทางการผลิตสินค้าและการบริโภคของประเทศในอนาคต และการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐครั้งต่อไป จึงควรมีองค์กรนี้ขึ้นมา”