ที่มา - พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เปิดใจกับ "มติชน" หลัง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุ กระทรวงกลาโหม ทำหนังสือขอตัวคืน หลังเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 6 เดือน
ความในใจ...ไวพจน์ ศรีนวล ถูก ปลด พ้น ผอ.ข่าวกรอง
นายกฯบอกกับสื่อว่า กระทรวงกลาโหมขอตัว พล.อ.ไวพจน์ กลับไปช่วยงาน
เรื่องนี้ก็แล้วแต่นายกฯ แต่ความจริงผมได้แสดงความจำนงมาตั้งแต่ต้นที่เข้ามารับตำแหน่ง ผอ.สำนักข่าวกรองฯแล้วว่า จะขอเข้ามาช่วยทำงานตรงนี้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 6 เดือน (จะครบวันที่ 20 มีนาคม 2550) เนื่องจากมีความเป็นห่วงสถานการณ์ในขณะนั้น ที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านหลังการยึดอำนาจ (19 กันยายน 2549) เพราะเห็นว่าปัญหาระหว่างทหารและพลเรือนอาจเกิดขึ้น
ยืนยันว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เกี่ยวกับการทำงานและผลงานด้านข่าวกรองอย่างที่สื่อเอาไปลงกัน เพราะทุกคนในสำนักข่าวกรองฯก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และงานข่าวกรองก็มีความคืบหน้า แต่อาจติดปัญหาเรื่องการนำการข่าวไปใช้
มีสื่อรายงานว่า จะต้องถูกปลด เหตุเพราะก่อนหน้านี้ไปตั้งกระทู้ถามเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้กับ พล.อ.สุรยุทธ์
กระทู้ที่ผมในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งขึ้นถามรัฐบาลนั้น ผมถือว่าผมทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชน อีกทั้งผมก็เป็นรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การมีส่วนร่วมของประชาชน จึงได้รับข้อมูลสะท้อนมาว่า การทำงานแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลโดยเฉพาะ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) นั้น ยังไม่สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ผมทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ประชาชนเท่านั้น
แต่การเป็น ผอ.ข่าวกรอง แล้วกลับไปตั้งกระทู้ถามรัฐบาล สะท้อนถึงความสับสนใน 2 สถานภาพหรือไม่
ประเด็นที่ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลนั้น คนฟังรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องแยกแยะว่า ผมทำหน้าที่อะไร เพราะถ้าไม่แยกแยะให้เหมาะสม ไม่ดูเจตนา ไม่ดูเนื้อหา แล้วมาว่าเป็นลูกน้องทำไมมาตั้งกระทู้ถามผู้บังคับบัญชาได้ยังไง ซึ่งถ้าคิดอย่างนั้นคงไม่ยุติธรรม
มีการตกลงกับกระทรวงกลาโหมก่อนหรือไม่ว่า เมื่อครบ 6 เดือน จะขอตัวคืน
เรื่องการขอตัวคืนของกลาโหมนั้นผมไม่รู้มาก่อนเลย และก็ไม่ทราบด้วยว่า หากย้ายกลับไปแล้วจะไปนั่งในตำแหน่งใด ผมทราบข่าวเรื่องนี้พร้อมกับสื่อมวลชนจากการชี้แจงของนายกฯ โดยส่วนตัวผมเคารพท่านนายกฯ และเชื่อมั่นในภาวะความเป็นผู้นำของท่าน จนถึงวันนี้ก็ยังเชื่อมั่นอย่างนั้น แต่ว่าในเรื่องการทำงานทุกคนก็มีบทบาทของตัวเอง
ถ้าจะมีการย้ายผมตามที่เป็นข่าว ถ้าดูตามเหตุผลปกติ อย่างที่นายกฯบอกก็คือ ผมได้บอกกับผู้ใหญ่ที่ให้ผมมาทำงานว่า จะขอมาทำงานตรงนี้เพียงระยะเวลาสั้นๆ 6 เดือน ขอมาช่วยงานในช่วงเปลี่ยนผ่านเพียงระยะสั้นๆ แต่ถ้าเหตุผลไม่ปกติ ก็คงมีเพียงเรื่องเดียวคือ ที่ผมไปทั้งกระทู้ถามรัฐบาลในฐานะเป็น สนช.ที่ตั้งใจสะท้อนความรู้สึกประชาชนและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เท่านั้น
การทำงานงานไม่มีประสิทธิภาพ เป็นเหตุผลด้วยหรือไม่
ขอชี้แจงตรงนี้เลยว่า ในรัฐบาลปัจจุบัน มีการปรับนโยบายมากมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหลายส่วน ซึ่งสำนักข่าวกรองฯก็พร้อมสนับสนุนนโยบายเต็มที่ เต็มความสามารถตามภารกิจ ตามคุณลักษณะของหน่วยงาน ที่ว่าการข่าวไม่มีประสิทธิภาพ ผมขอพูดแทนข้าราชการสำนักข่าวกรองฯ ว่า ไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมา เราทำทุกอย่างตามขีดความสามารถตามนโยบาย ตามคุณลักษณะของหน่วยงานที่สามารถตอบสนองได้
ความสนิทสนมส่วนตัวกับ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม ในกลุ่มอำนาจเก่าเป็นเหตุผลหรือไม่
คงไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กำลังเป็นข่าวอยู่ แต่โดยส่วนตัวแล้วกับพี่แอ๊ด ท่านก็เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาที่ผมเคยทำงานร่วมมาหลายปีเมื่อครั้งที่อยู่กองทัพบก ท่านเป็นคนที่มีขีดความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานด้านการข่าวสูง เจ้าหน้าที่ด้านการข่าวในกองทัพแทบทุกคนก็เคยเป็นลูกน้องท่านมาทั้งนั้น โดยส่วนตัวแล้วผมเคารพนับถือท่าน และมีความชื่นชมท่านในภาวะความเป็นเจนเทิลแมน (สุภาพบุรุษ)
ขณะนี้สายสัมพันธ์กับ พล.อ.สุรยุทธ์เป็นอย่างไร
กับท่านนายกฯ ผมเคยทำงานกับท่านมานาน ผมเคารพท่าน และเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำของท่าน เรื่องนี้ผมเข้าใจดี เพราะมันเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่เพราะสำนักข่าวกรองฯไม่มีผลงาน
ยืนยันว่าที่ผมตั้งกระทู้ไปนั้น ผมมีเจตนาดี และคิดถึงประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเมื่อผมมาทำหน้าที่เป็น สนช. ก็ต้องทำเพื่อประชาชน
ขวัญกำลังในการทำงานยังดีอยู่หรือไม่
ไม่มีอะไร ผมยังมีกำลังใจดี
น้อยใจหรือไม่ ที่ตั้งใจมาช่วยทำงานแต่กลับโดนแบบนี้
หยุดคิดเล็กน้อย)...ผมพูดได้อย่างนี้ว่า แนวทางการทำงานที่ผ่านมาของผมนั้น ผมยึดในเรื่องการปฏิบัติงานตามแนวทางขอมผมคือ ผมมีจุดยืน มีแนวทางการทำงานที่เป็นตัวของตัวเองในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ผมไม่ได้ไม่ได้ทำตัวเป็นข้าทาสบริวารหรือเป็นเด็กในสังกัดของใคร ผมถือว่าผมเป็นทหารของแผ่นดิน สำหรับสิ่งที่สื่อรวมทั้งสังคมวิพากษ์วิจารณ์นั้น ไม่กระทบกำลังใจผม และก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมาย
ในชีวิตการรับราชการส่วนใหญ่ก็มาในสายของทหาร ผมมาถึงจุดที่สูงสุดของการรับราชการแล้ว คือ เป็นนักยุทธศาสตร์ ต้องพร้อมที่จะแตกต่าง ถ้าเรื่องไหนจะเกิดผลกระทบต่อส่วนรวมของประเทศ ไม่ใช่ไปทำตามกระแส ซึ่งแบบนั้นคงไม่เหมาะสมในฐานะที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายประเทศ ส่วนเรื่องท้อแท้ผมคงไม่มี