ปชช.80%มั่นใจ'จำนำข้าว'ทุจริต!
โพลล์ชี้ ปชช.กว่า 80% มั่นใจ 'จำนำข้าว' มีทุจริต เสียความรู้สึกเหลือ 1.2 หมื่นต่อตัน นักธุรกิจแนะ 10 ทางออกแก้ปัญหา ขณะที่ 46% มองปชต.ไทยยังไม่พัฒนา
23 มิ.ย. 56 สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องโครงการรับจำนำข้าวต่อเสถียรภาพของรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ
นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง โครงการรับจำนำข้าวต่อเสถียรภาพของรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา ชุมพร ตรัง และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 1,432 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 19 - 22 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
จากผลสำรวจเมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างกรณีการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าว นั้นพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 81.2 คิดว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าว ในขณะที่ร้อยละ 18.8 คิดว่าไม่มี นอกจากนี้เมื่อสอบถามต่อไปถึงความเหมาะสม ในการตัดสินใจของรัฐบาลกรณีที่มีการลดราคาจำนำข้าว จากตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 12,000 บาทนั้น พบว่า ประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 65.1 เห็นว่าไม่เหมาะสม ในขณะที่ร้อยละ 34.9 เห็นว่าการลดราคาจำนำข้าวดังกล่าวมีความเหมาะสมแล้ว
อย่างไรก็ตามผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 63.5 ระบุ “รู้สึกผิดหวัง” ต่อรัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนตามที่หาเสียงไว้ กรณีที่มีการปรับราคารับจำนำข้าวจาก ตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 12,000 บาท ในขณะที่ร้อยละ 36.5 ระบุไม่รู้สึกอะไรเลย
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ ตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 62.3 ระบุไม่พึงพอใจต่อการบริหารจัดการในโครงการรับจำนำข้าวโดยภาพรวม ในขณะที่ร้อยละ 37.7 ระบุพึงพอใจ และตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 74.7 คิดว่าโครงการรับจำนำข้าวส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล โดยมีเพียงร้อยละ 25.3 ที่ระบุว่าไม่ส่งผลกระทบ
สำหรับความคิดเห็นต่อทางออกที่ดีที่สุดสำหรับนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาในโครงการรับจำนำข้าวนั้น พบว่า ร้อยละ 33.1 ระบุว่าให้ทำงานต่อไปโดยที่ไม่ต้องทำอะไร ในขณะที่ร้อยละ 34.8 ระบุให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี รองลงมาคือ ร้อยละ 18.9 ระบุให้ลาออก และร้อยละ 13.2 ระบุให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามลำดับ
ผู้ช่วย ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า รัฐบาลยังคงมีโอกาสปรับปรุงแก้ไข “ปัญหาเขาควาย” หรือที่เรียกว่า DILEMMAได้เพราะถ้าจะเดินหน้าต่อไปไม่ปรับปรุงแก้ไขก็ประสบปัญหาแรงเสียดทานจากคนกลุ่มหนึ่ง ถ้าจะไปลดราคาจำนำข้าวก็พบกับแรงต่อต้านของคนอีกกลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังให้โอกาสรัฐบาลปรับปรุงโดยแบ่งออกเป็น กลุ่มที่ต้องการให้ปรับคณะรัฐมนตรี กลุ่มที่ให้ทำงานต่อไป กลุ่มที่ให้นายกรัฐมนตรีลาออก จะเห็นได้ว่ามีเพียงส่วนน้อยที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยจึงยังมี “โอกาส” หรือ Opportunities ควรให้ผู้มีอำนาจและบารมีในพรรคที่มีความเชี่ยวชาญด้าน “โอกาส” ในเวลานี้เข้ามาร่วมตัดสินใจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของรัฐบาล อย่าปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่านี้จนยากจะควบคุมได้
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.9 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.8 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 22.3 อายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 21.2 อายุระหว่าง 40-49 ปี และ ร้อยละ 27.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 73.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 4.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
'ดุสิตโพล' เสนอ 10 ทางออก 'โครงการรับจำนำข้าว' ในมุมของนักธุรกิจ
ปัญหาต่างๆในเรื่องของการจำนำข้าวเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของงบประมาณที่มีการขาดทุนและสูญเสียเป็นจำนวนมาก โดยมีกลุ่มหนึ่งที่เป็นนายธนาคาร และนักธุรกิจที่น่าจะมองปัญหาจำนำข้าวในอีกมิติหนึ่ง ที่พร้อมจะหาทางออกให้ดำเนินการไปด้วยดี “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สัมภาษณ์ทั้งลักษณะตัวต่อตัวและโทรศัพท์สัมภาษณ์นายธนาคาร นักธุรกิจ (เช่น ผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทต่างๆ) ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้ทางด้านธุรกิจที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 279 คน ระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายน 2556 สรุปผลดังนี้
นักธุรกิจ เสนอ “10 ทางออก” โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ดังนี้
อันดับ 1 เร่งแก้ไขข้อผิดพลาดและอุดช่องโหว่ของโครงการโดยเฉพาะการสวมสิทธิ์ และการทุจริต 84.23%
อันดับ 2 กำหนดราคารับจำนำข้าวให้ใกล้เคียงกับราคาตลาด 71.02%
อันดับ 3 กำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสม ชัดเจน จำกัดจำนวนในการรับจำนำข้าวเพื่อป้องกัน การสวมสิทธิ์ และรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ 65.76%
อันดับ 4 จัดตั้งทีมวิจัยเพื่อศึกษา ค้นคว้า และหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาปรับใช้ในโครงการ /พัฒนาระบบการปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและคาดการณ์แนวโน้ม ของตลาดโลกล่วงหน้าได้ 63.20%
อันดับ 5 ควบคุมราคาวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตต่างๆ เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมัน เป็นต้น 59.35%
อันดับ 6 ควรพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทยให้มีความแตกต่างกับที่อื่น มีเอกลักษณ์เฉพาะหรือสร้างจุดเด่นเพื่อเจาะกลุ่มตลาดในต่างประเทศ พร้อมหาตลาดใหม่รองรับ 56.79% อันดับ 7 รัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับชาวนา พูดคุยกันเพื่อให้รับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง /และต้องให้ชาวนารู้ถึงปัญหาที่รัฐบาลกำลังประสบอยู่ 54.23% อันดับ 8 รัฐบาลจะต้องเร่งระบายข้าวที่มีอยู่ให้หมดก่อน และตรวจสอบโกดังข้าวทุกแห่งทั่วประเทศ 52.94% อันดับ 9 ตั้งคณะกรรมการหรือมีเจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง ลงพื้นที่ตรวจสอบดูแลการดำเนินงานตามกระบวนการต่างๆ ให้ถูกต้อง ชัดเจน และเป็นธรรม 47.82% อันดับ 10 ควรนำข้าวที่มีอยู่มาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทย 46.53%