คลังตื่นเรียกสอบรถหรู ตั้งแต่ปี 50 กว่าหมื่นคัน ชี้ใช้ช่องว่างเลี่ยงภาษี
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบรถยนต์หรูหลบเลี่ยงภาษีว่า
ได้สั่งการให้ 3 กรมจัดเก็บภาษีประสานความร่วมมือในการเข้าตรวจสอบการชำระภาษีรถยนต์หรู โดยให้ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการนำเข้ารถยนต์จำนวนมาก โดยในเบื้องต้นได้รับรายงานจากกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรว่า มีจำนวนรถยนต์หรูที่จดทะเบียนจำนวนกว่า 1 หมื่นคัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องเรียกเจ้าของรถยนต์มาตรวจสอบทั้งหมด
นายทนุศักดิ์ กล่าวว่า ที่จริงแล้วกฎหมายมีช่องว่าง และผู้ประกอบการก็อาศัยช่องว่า กรณีรถหรูหนีภาษีนี้ มีมานานแล้ว และมาเพิ่มขึ้นมาก ตั้งแต่ ปี 2550 ตั้งแต่จดประกอบและเกรย์(การนำเข้ารถยนต์อิสระ) ไล่มาเรื่อยๆ และอาศัยเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนที่สมรู้ร่วมคิดดำเนินการ ในส่วนของเรา เมื่อรับหน้าที่ก็มาดูข้อกฎหมายแก้ไข เราก็ได้ทำงานร่วมกับกรมขนส่งทางบกและกระทรวงพาณิชย์ ในการห้ามนำโครงรถมาจดประกอบและจดทะเบียน
“เรื่องนี้ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่รู้เรื่องด้วย ทำไม่ได้หรอก เห็นชัดๆว่า เป็นรถใหม่ป้ายแดง ไม่ใช่สภาพจดประกอบหรือเกรย์ ภาษีจะเสียเท่านั้นได้อย่างไร จึงถือโอกาสสังคายนาย้อนหลังไปเลย” รมช.คลัง กล่าว
วันเดียวกัน สำนักงานศุลกากร ได้เปิดเผยผลการจับกุมรถผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถหรูยี่ห้อดังที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซียทางด่านพรมแดนไทยมาเลเซียอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยจับกุมได้ 40 คัน ประกอบด้วยด่านปาดังเบซาร์ 35 คัน และด่านสะเดา 5 คัน มีทั้งยี่ห้อเดมเลอร์ไครสเลอร์, เมอร์เซเดสเบนซ์, จากัวร์, โตโยต้าอัลพาร์ท และ นิสสันแฟร์เลดี้ ซึ่งขั้นตอนอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี และขายทอดตลาด
นายประยุทธ มณีโชติ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากร ภาค 4 เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาขบวนการค้ารถหรูใช้ช่องโหว่ทางกฏหมายในการนำรถหรูเข้ามาในประเทศเพื่อการท่องเที่ยว โดยสำแดงการนำเข้ารถโดยมีเอกสารถูกต้อง ซึ่งหลักการของกรมศุลกากร จะมีเงินสดหรือแบงค์การันตี หรือตัวบุคคลค้ำประกัน เมื่อมีการส่งมอบรถให้พ่อค้า จะกลับไปแจ้งรถหายที่ประเทศมาเลเซีย
นายประยุทธ กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการป้องกัน จะให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบทั้งเอกสารลักษณะท่าทางของคนขับรถหรู ว่ามีบุคลิกสมฐานะหรือไม่ ให้จับตาเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับกรณีรถที่ขโมยมาจากประเทศมาเลเซีย เอกสารที่มายื่นนำเข้า ไม่สามารถรู้ได้ว่าปลอมหรือไม่ และต้องใช้เวลาตรวจสอบนาน จึงต้องประสานข้อมูลกับกงสุลประเทศมาเลเซีย เพื่อให้รีบแจ้งรถหายกับทางด่านศุลกากรไทยโดยเร็วภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน
ทางด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงมาตรวจดูของกลางรถหรู 6 คัน ที่ถูกเพลิงไหม้ และขนย้ายมาไว้ที่หน้าอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พร้อมเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาในการดำเนินคดีรถหรูตนไม่เคยสอบถาม และไม่เคยมอบหมายให้ดีเอสไอดำเนินการใดๆ เป็นพิเศษ เพราะมั่นใจในการทำงานของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ว่ามีความซื่อสัตย์ สุจริต
เมื่อถามถึงการร้องเรียนเกี่ยวกับรถโรลสรอยซ์ ทะเบียน พอ 4444 กทม. ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า การร้องเรียนของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. เป็นการร้องเรียนให้ตรวจสอบตนจริง ไม่ใช่การเล่นละคร ส่วนการฟ้องกลับ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา โดยคดีมีอายุความ 90 วัน อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้ความสำคัญกับคนประเภทดังกล่าว คนที่สงสัยทุกเรื่อง
ส่วนที่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสำแดงราคารถต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า กรณีดังกล่าวดีเอสไอตรวจสอบแล้ว เบื้องต้นระบุว่า ไม่มีความผิด ขั้นตอนขณะนี้อยู่ที่การตรวจสอบของกรมศุลกากร เจ้าของรถตัวจริงเป็นเศรษฐีมีเงินเป็นหมื่นล้าน ผิดด้วยหรือที่ตนรู้จักคนรวย แต่ตนไม่รู้ว่าซื้อรถมาจากที่ไหน
ด้าน นายธาริต กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีให้ผู้ครอบครองรถหรู 548 คัน ติดต่อขอนำรถเข้าตรวจสอบโดยสมัครใจ ซึ่งล่าสุดมีผู้ติดต่อขอนำรถยนต์เข้าตรวจสอบไม่ถึง 30 คัน ว่า ดีเอสไอจะขยายเวลาให้ผู้ครอบครองรถเข้าติดต่อได้ถึงวันที่ 28 มิถุนายน ส่วนจะมีผู้มาติดต่อมากหรือน้อยไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งที่สุดแล้ว ก็ต้องตรวจสอบครบทั้ง 548 คัน โดยส่วนที่ไม่สมัครใจติดต่อเข้ามา ก็จะต้องมีหนังสือเรียกและออกหมายเรียกต่อไป