เจ้าพระยาเน่า..! ทำพิษ ปลาทับทิม ตายเป็นเบือ

เจ้าพระยาเน่าอ่างทองยันอยุธยาออกซิเจนต่ำ


น้ำเจ้าพระยาเน่า ทำปลาทับทิมในกระชังตายเป็นเบือ กินพื้นที่ 2 จังหวัด อ่างทองยันอยุธยา ตรวจพบค่าออกซิเจนในน้ำต่ำกว่ามาตรฐาน ผู้ว่าฯ อ่างทองและกรมชลฯ คาดสาเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่มกลางแม่น้ำและโรงงานปล่อยน้ำเสีย ปน.สั่งเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำตรวจสอบก่อนถึงสถานีสำแล

ปลาทับทิมที่เลี้ยงในกระชังตายเป็นเป็นจำนวนมากครั้งนี้ เปิดเผยเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 มีนาคม ซึ่งผู้สื่อข่าวประจำ จ.อ่างทอง ได้รับการร้องขอจากชาวบ้านหมู่ 1 ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ที่เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ช่วยตรวจสอบหาสาเหตุที่ทำให้ปลาทับทิมที่เลี้ยงไว้ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ


หลังรับเรื่องผู้สื่อข่าวจึงเข้าไปดูในพื้นที่ พบว่า


น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดการเน่าเสียทั้งสองฟากฝั่ง ตั้งแต่หน้าวัดท่าสุทธาวาส หมู่ 1 ต.บางเสด็จ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และมีปลาทับทิม ปลาแรด กุ้งแม่น้ำ ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในกระชัง รวมทั้งสัตว์น้ำตามธรรมชาติลอยตายเป็นจำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ

นายกิตติพงษ์ วงษ์สุกรรม อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 42/2 หมู่ 1 ต.บางเสด็จ บอกผู้สื่อข่าวว่า ได้กู้เงินจากสถาบันการเงินมาล้านกว่าบาท เพื่อลงทุนเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง จำนวน 42 กระชัง รวม 105,000 ตัว โดยเลี้ยงมาได้ 4 เดือน และกำลังจะจับขายในราคากิโลกรัมละ 45 บาท แต่ก็เกิดปัญหาน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเน่าเสีย ทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้ตายหมด

"ช่วงเย็นวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ผมสังเกตเห็นความผิดปกติ น้ำในแม่น้ำมีความขุ่นมากกว่าปกติและกระแสน้ำไม่ไหล จากนั้นก็พบว่าสัตว์น้ำในธรรมชาติเริ่มลอยหัวคล้ายขาดออกซิเจน ส่วนปลาในกระชังก็ไม่ยอมกินอาหาร และลอยหัวขึ้นเหนือผิวน้ำเช่นกัน ผมจึงเติมออกซิเจนลงไปในน้ำ แต่ก็ไม่สามารถช่วยปลาที่เลี้ยงไว้ได้ ปลาทยอยตายจนหมดทุกกระชัง จึงให้ชาวบ้านมาช่วยช้อนปลาขึ้นมาแช่แข็งไว้ขายได้บ้าง" นายกิตติพงษ์ กล่าว



นางกัลยา สุริยัน อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 13 หมู่ 2 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก กล่าวว่า ลงทุนไป 6 แสนบาท ในการเลี้ยงปลา 41,500 ตัว และได้นัดพ่อค้าปลามาจับปลาตอนสายวันที่ 12 มีนาคม โดยตกลงราคาที่กิโลกรัมละ 13 บาท แต่ปลาที่เลี้ยงกลับตายเสียก่อน เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ทำอาชีพเลี้ยงปลามา

"ช่วงครั้งน้ำท่วมขาดทุนไปแล้วครั้งหนึ่ง มาตอนนี้น้ำในแม่น้ำเน่า ปลาตาย ซึ่งสาเหตุชาวบ้านเชื่อว่ามาจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ริมแม่เจ้าพระยา 4 โรงงาน อาจมีโรงใดโรงหนึ่งแอบปล่อยน้ำเสียที่มีสารพิษเจือปนลงสู่แม่เจ้าพระยา" นางกัลยา กล่าว

เมื่อเวลา 13.00 น.วันเดียวกัน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผู้ว่าฯ อ่างทอง ได้ไปตรวจจุดที่เกิดเหตุ ก่อนเรียกหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประชุมด่วน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและตรวจสอบหาสาเหตุที่ทำให้ปลาตาย


นายวิบูลย์ กล่าวว่า ตอนนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบคุณภาพน้ำ


และวัดระดับออกซิเจนในน้ำ พร้อมกับให้นำตัวอย่างน้ำในแม่น้ำ ปลาที่ตาย ไปตรวจวิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้อากาศในน้ำปิด จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าจะมาจาก 2 สาเหตุ คือ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา มีเรือบรรทุกน้ำตาลทรายแดง หนัก 650 ตัน จมลงในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหมู่ 3 ต.โพสะ อ.เมือง ส่งผลให้น้ำตาลทรายแดงละลายไปกับน้ำ หรือไม่ก็มีโรงงานแอบปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นคาดว่ามากถึง 20 ล้านบาท

นายมงคล มูลมณี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอ่างทอง กล่าวว่า ผลการวัดค่าออกซิเจนในน้ำ หรือค่าดีโอ (Dissolve oxygen) อยู่ที่ 1.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐาน ที่ต้องมีค่าเกิน 4 ดีโอ ทำให้น้ำในบริเวณดังกล่าวไม่เหมาะแก่การอุปโภคบริโภค ซึ่งตอนนี้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคกลาง จ.นนทบุรี ได้เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจพิสูจน์หาสาเหตุที่ทำให้น้ำเสียแล้ว



นายฉัตรชัย ฮุนทวีชัย ประมงจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ในน้ำน่าจะมีสารหนักประปนอยู่จำนวนมาก จนทำให้ออกซิเจนในน้ำหมด อย่างไรก็ตาม ได้เก็บตัวอย่างปลาที่ตายส่งศูนย์ประมงน้ำจืดที่ จ.สุพรรณบุรี เพื่อหาสารตกค้างแล้ว

ส่วนที่ ต.บางชะนี และ ต.บางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่ามีปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในกระชังและสัตว์น้ำในธรรมชาติลอยตายเป็นจำนวนมากเช่นกัน

นางสมใจ พงษ์เจริญ อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 2 หมู่ 4 ต.บางชะนี กล่าวว่า ได้เลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง 5 กระชัง รวม 1 หมื่นตัว มีอาการลอยคอตั้งแต่คืนวันที่ 11 มีนาคม จนเช้าปลาก็ตายหมด

นายทองแรม ศีลวัตร ประมงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวหลังจากลงเรือออกตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ ต.บ้านใหม่ อ.พระนครีศรีอยุธยา ไปถึง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ว่า พบว่ามีปลาในแม่น้ำตายเป็นจำนวนมาก และปลาในกระชังของเกษตรกรเสียหายกว่า 200 ราย สาเหตุเพราะค่าออกซิเจนในน้ำต่ำ ซึ่งในส่วนที่เสียหายเริ่มตั้งแต่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ไปจนถึง อ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ ได้ประสานกับทาง จ.อ่างทอง เข้าทำการตรวจสอบแล้ว


นายบุญสนอง สุชาติพงศ์ วิศวกรชลประทาน 9 และโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า


ตามที่เกิดเหตุการณ์ปลาในกระชังและปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาตายเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สาเหตุอาจจะมาจากเรือบรรทุกน้ำตาลหนัก 650 ตัน ล่มกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณวัดท้องคุ้ง ต.โพสะ เหนือบริเวณที่เกิดปลาตาย 9 กิโลเมตร

อีกสาเหตุหนึ่งอาจจะเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในบริเวณนั้นปล่อยน้ำเสียลงมา ส่วนการแก้ปัญหาเบื้องต้นกรมชลประทานได้ทำการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น จากเดิม 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อช่วยเจือจางน้ำที่เน่าเสียให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

น.พ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปริมาณออกซิเจนในน้ำเมื่อลดลงกะทันหันปลาจะเกิดภาวะช็อกจนตาย หากกรณีนี้เกิดจากมีน้ำตาลลงสู่แม่น้ำจำนวนมากจะไม่มีผลกระทบต่อคนในการนำน้ำไปอุปโภคบริโภค ควรกรองและต้มให้สุกก่อน

การที่คนลงน้ำในบริเวณที่น้ำตาลละลายก็ไม่มีอันตราย เพราะไม่เกิดภาวะเป็นกรดเป็นด่าง อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นของน้ำตาลในน้ำจะค่อยๆ เจือจางใน 2-3 วัน หากประชาชนจะนำปลาตายมาบริโภคต้องปรุงให้สุก ไม่ควรบริโภคเครื่องในปลา พวกกระเพาะ ไข่ปลา แต่หากเลี่ยงได้ก็ไม่ควรบริโภคปลาดังกล่าว ควรช้อนขึ้นมาฝังกลบทำลาย


นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า


ขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงแล้วว่ามาจากอะไร เข้าใจว่าปลาที่ตายทั้งที่อ่างทองและพระนครศรีอยุธยาน่าจะมาจากกรณีเดียวกัน ตอนนี้ยังไม่ทราบว่ามาจากเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม หรือโรงงานปล่อยน้ำเสีย ต้องดูให้รอบคอบก่อนจะระบุสาเหตุ

นายวุฒิชัย รังสิยะวัฒน์ รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า ได้สั่งการเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำในบริเวณดังกล่าวมาตรวจสอบแล้ว ซึ่ง กปน.อยู่ระหว่างรอเจ้าหน้าที่รายงานผล อย่างไรก็ตาม จะต้องดูว่าระยะทางของน้ำเสียยาวแค่ไหน และคำนวณว่าจะไหลผ่านสถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี หรือไม่ หากไหลผ่านทางสถานีสูบน้ำสำแลจะปิดประตูน้ำเพื่อให้น้ำเสียไหลผ่านไปก่อน

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรือบรรทุกน้ำตาลล่มจริง แบคทีเรียในน้ำจะช่วยสลายน้ำตาลได้เร็ว คาดว่าน้ำเสียดังกล่าวน่าจะหมดก่อนที่จะถึงสถานีสูบน้ำสำแล ทั้งนี้ สถานีสูบน้ำสำแสจะมีการเก็บตัวอย่างน้ำตรวจสอบคุณภาพน้ำตลอดเวลาอยู่แล้ว หากพบว่าคุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐานก็จะมีการปรับคุณภาพน้ำที่สถานีดังกล่าวก่อนส่งลงในคลองประปา


ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ

จาก หนังสือพิมพ์คม.ชัด.ลึก.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์