โพลล์ชี้′สังคมออนไลน์′ทำเด็กเสียตัว
ภาพประกอบจาก อิืนเตอร์เน็ต
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า
วธ.ร่วมกับนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา วธ.ทำวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง "เด็กเล็กเสียชีวิต เด็กโตเสียตัว" ในมุมมองผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,531 ตัวอย่าง วันที่ 20-22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ร้อยละ 92.4 ได้ยินข่าวอันตรายต่อชีวิตที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กผ่านสื่อมวลชนบ่อยมากถึงมากที่สุด
และร้อยละ 86.4 บอกว่าครู พี่เลี้ยง พนักงานคนขับรถ ยังไม่ดูแลชีวิตนักเรียนได้ดีเพียงพอ ร้อยละ 77.8 รัฐบาลยังไม่มีมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิตของนักเรียนได้ดีเพียงพอ และร้อยละ 55.6 ผู้ปกครองยังดูแลชีวิตของลูกๆ ไม่ดีเพียงพอ
น.ส.ลัดดากล่าวว่า ที่น่าสนใจคือร้อยละ 55.7 เห็นด้วยถ้ารัฐบาลออกกฎหมายเอาผิดผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กเล็กอยู่บ้านเพียงลำพัง และร้อยละ 85.1 เห็นด้วยถ้าสื่อมวลชนช่วยผลักดันนโยบายสาธารณะที่ช่วยดูแลความปลอดภัยในชีวิตของเด็กเล็ก ทั้งนี้ เมื่อสอบถามผู้ปกครองถึงประเภทสื่อในสังคมไทยยุคปัจจุบันที่เสี่ยงอันตรายทำให้เด็กโตเสียตัว พบว่าร้อยละ 76.2 เป็นสังคมออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์กมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 66.2 เป็นการชักชวนพูดคุยกันในโลกออนไลน์ ร้อยละ 64.9 เป็นภาพยนตร์ แผ่นหนังโป๊ ร้อยละ 55.4 เป็นละครโทรทัศน์ในฉากเลิฟซีน เพศสัมพันธ์ ร้อยละ 40.2 การเสนอภาพข่าวโทรทัศน์ข่มขืน ลวนลามทางเพศ และร้อยละ 33.4 เป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร