มติเห็นชอบกทพ.ขึ้นค่าทางด่วน5บาท

มติเห็นชอบกทพ.ขึ้นค่าทางด่วน5บาท

บอร์ดเห็นชอบ กรอบเจรจากับเอกชน ให้ กทพ.ขึ้นค่าผ่านทาง 5 บาท ด่วนขั้นที่ 1-2 เริ่ม 1 ก.ย.นี้

วันนี้(17 พ.ค.) ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พล.ต.อ.วิเชียร  พจน์โพธิ์ศรี  ปลัดกระทรวงคมนาคม  ในฐานะประธานกรรมการ (บอร์ด)  กทพ.เปิดเผยว่า มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับอัตราค่าผ่านทางปี 2556ของทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าผ่านทางพิเศษเสนอ โดยหลังจากนี้คณะอนุกรรมการจะต้องไปเจรจากับ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือบีอีซีแอล ผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2  ถึงแนวทางการปรับค่าผ่านทางตามการพิจารณาของ กทพ. ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเป็นไปตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ที่ กทพ. ได้ลงนามกับบีอีซีแอล เมื่อวันที่   22 ธ.ค. 2531

โดยในสัญญาฯ กำหนดให้วันที่ 1 มี.ค. 2541 และทุกระยะเวลา 5 ปี

นับจากนั้น เป็นวันพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทางฯ และให้อัตราค่าผ่านทางที่ปรับใหม่มีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน นับแต่วันพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทาง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2541 2546 และ ปี 2551 โดยการปรับอัตราค่าผ่านทางในครั้งนี้ นอกจากจะยึดหลักการตามสัญญาฯ แล้ว กทพ.ยังได้นำความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดในการปรับค่าผ่านทางทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมานำมาพิจารณาประกอบด้วย ซึ่งรวมถึงการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) และทางพิเศษบูรพาวิถีด้วย

นายอัยยณัฐ  ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า การปรับอัตราค่าผ่านทางไม่ใช่การขึ้นราคา

หากแต่เป็นการปรับเพื่อให้อัตราค่าผ่านทางพิเศษในปัจจุบัน
คงมูลค่าที่แท้จริงของอัตราค่าผ่านทางพิเศษเดิม ณ วันที่เปิดใช้งาน โดยปรับบนพื้นฐานอัตราเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภคสำหรับกรุงเทพมหานครที่นำดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มี.ค. 2551 (93.90) เทียบกับเดือนมีนาคม 2556 (104.76) มาคำนวณ  หาอัตราเพิ่มได้ร้อยละ 11.57 นำไปคูณอัตราค่าผ่านทางเดิมแล้วปัดให้ลงท้ายด้วย 0 หรือ 5 ทำให้อัตราค่าผ่านทางใหม่ สำหรับโครงข่ายในเขตเมือง (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร : ดินแดง-ท่าเรือ, บางนา-ท่าเรือ, ดาวคะนอง-ท่าเรือ, ทางพิเศษศรีรัช ส่วน A และ B : พญาไท-พระราม 9, พญาไท-บางโคล่) จะปรับอัตรา  ค่าผ่านทางสำหรับรถ 4 ล้อ จากเดิม 45 บาท เป็น 50 บาท รถ 6-10 ล้อ จากเดิม 70 บาท เป็น 75 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ จากเดิม 100 บาท เป็น 110 บาท ตามลำดับ ส่วนโครงข่ายนอกเขตเมือง(ทางพิเศษศรีรัช ส่วน C และ D) จะปรับเฉพาะทางพิเศษศรีรัช ส่วน D(ถนนพระราม 9-ถนนศรีนครินทร์) สำหรับ รถ 6-10 ล้อ จากเดิม 50 บาท เป็น 55 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ จากเดิม70บาท เป็น 75บาท ตามลำดับ

สำหรับทางพิเศษอุดรรัถยาและทางพิเศษบูรพาวิถี จะพิจารณา ตามหลักเกณฑ์และสัญญาที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นเดียวกัน
 
โดยขั้นตอนต่อจากนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าผ่านทางพิเศษจะต้องไปเจรจากับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)และบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด คู่สัญญา ที่มีความเห็นไม่ตรงกับ กทพ.ในการขอขึ้นผ่านทาง โดยมีอัตราสูงกว่าเพราะเทียบจากฐานค่าผ่านทางคนละปี ซึ่ง กทพ.จะยืนยันแนวทางของ กทพ. หลังจากนั้นต้องนำผลการเจรจามาเสนอบอร์ด ก่อนที่จะได้รายงานไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อออกประกาศกระทรวงฯ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าผ่านทางสำหรับทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1ก.ย. 2556และทางพิเศษอุดรรัถยา จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2556 เป็นต้นไป


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์