พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีสนามหลวง
เมื่อวันที่ 13 พ.ค.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขว่ัญ ณ พลับพลาพิธีท้องสนามหลวง ในโอกาสนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ โดยเสด็จในการนี้ด้วย
ทั้งนี้ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา ได้แก่ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวสุมาลี จำเริญ นิติกรชำนาญการ กรมปศุสัตว์ และนางสาวสุวิสาข์ เกตุอินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กรมส่งเสริมการเกษตร สำหรับเทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวพชร ลาภผล นักวิชาการประมงปฏิบัติการ กรมประมง นางสาวกาญจนา มาลัยกฤษณะชาลี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คู่เคียงมีจำนวน 16 ราย และผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคฟ้า และ พระโคใส ส่วนพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคมั่น และ คงเมื่อถึงฤกษ์พิธีไถหว่าน พระยาแรกนาจะได้ยาตราพร้อมเทพีออกจากโรงพิธีพราหมณ์ มีราชบัณฑิต และพราหมณ์นำผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง
พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายบังคมแล้วไปยังลานแรกนา เจ้าพนักงานจูงพระโคเทียมแอก พระยาแรกนาเจิมพระโค และไถดะไปโดยรี 3 รอบ และไถขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียดพร้อมหว่านเมล็ดธัญพืช พระยาแรกนาส่งพระแสงปฏักให้หัวหน้าพราหมณ์ถือไว้ เพื่อหยิบพันธุ์ข้าวเปลือกในกระบุงทองกระบุงเงินที่เทพีหาบ ตามหว่านลงในลานแรกนาพร้อมไถกลบ 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดธัญพืชลงในดินเมื่อครบแต่ละรอบพนักงานประโคมฆ้องชัยเครื่องดุริยางค์ ครั้งหว่านเสร็จพระยาแรก นารับพระแสงปฏักจากหัวหน้าพราหมณ์กลับเข้าสู่โรงพิธีพราหมณ์พร้อมด้วยเทพี
พนักงานผู้ทำหน้าที่ดูแลพระโคปลดพระโคออกจากแอกแล้วจูงพระโคทั้งคู่ไปยืนที่ขอบลานแรกนา ตรงหน้าพลับพลาที่ประทับ พราหมณ์ถือถาดวางกระทงบรรจุของ เลี้ยงพระโคเป็นการเสี่ยงทายถาดละ 7 สิ่งคือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า
สำหรับการเสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนา ได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า ปีนี้น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
ส่วนการเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยงปีนี้ พระโคกินข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
นอกจากนี้ พระโคยังกินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์เพียงพอ พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร อุดมสมบูรณ์ดี หลังจากเสร็จพิธีแล้วประชาชนต่างกรูเข้าเก็บเมล็ดข้าวเพื่อเก็บไว้เป็นศิริมงคลด้วย
สำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปีนี้ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือพระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 12 พ.ค.เวลา 17.00 น.กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้นๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น และเมื่อครั้งครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธานเหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ และจะทรงจำศีลเงียบ ๓ วัน ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
จากนั้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพหลเทพคู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนาด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดกล้าฯ ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
สำหรับความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า"การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมนิยมมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้วพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิจไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่างเหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝนน้ำท่า มากไปน้อยไปด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นอันตรายไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิและมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลังจึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจโดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้างให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด”