รร.เล็กตั้งเครือข่ายต้าน ค้านศธ.ยุบ พงศ์เทพออกทีวีแจง ให้ชุมชนตัดสินอยู่-ไป

รร.เล็กตั้งเครือข่ายต้าน ค้านศธ.ยุบ พงศ์เทพออกทีวีแจง ให้ชุมชนตัดสินอยู่-ไป


"พงศ์เทพ"หวังยกคุณภาพการศึกษา แจงควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่แตะที่จัดการเรียนการสอนดี เผย 20 ปีควบรวมแล้วกว่า 3 พันแห่ง เครือข่าย ร.ร.ขนาดเล็กเปิดเว็บล่าชื่อค้าน

@ พงศ์เทพแจงเกณฑ์ยุบร.ร.


เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 11 พฤษภาคม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในรายการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนŽ ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ชี้แจงแนวคิดการยุบรวมและควบรวมโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คนว่า ที่บอกว่ายุบ ความหมายคือ ยุบรวมกับควบรวม ไม่ใช่ยุบโรงเรียนไปเลย หมายความว่า เด็กยังมีที่เรียน ครูมีงานทำ คนที่อยู่ในโรงเรียนมีงานทำเหมือนเดิม ที่ต้องพิจารณา เพราะคุณภาพการศึกษาเทียบค่าเฉลี่ยทั้งประเทศต่ำกว่าควรจะเป็น ปีที่แล้วนักเรียนต่ำกว่า 20 คน มี 200 โรงเรียน จำนวนนักเรียน 21-40 คน ประมาณ 2,000 โรงเรียน และจำนวน 21-60 คนมีประมาณ 3,000 โรงเรียน

นายพงศ์เทพกล่าวว่า อย่างแรกคือ เรื่องคุณภาพครู ครูต้องแบ่งเวลาสอนแต่ละชั้นเรียน ไม่เหมือนครูในโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่ละคนสอนนักเรียนเต็มเวลาทั้งชั่วโมง และข้อสอง รัฐบาลให้เงินรายหัวแต่ละโรงเรียนไป ถ้านักเรียนน้อยก็เป็นเงินนิดเดียว ไม่สามารถนำไปพัฒนาโรงเรียน ซื้ออุปกรณ์การศึกษาที่ดีๆ ให้นักเรียนได้

@ เผย20ปีควบรวมกว่า3พัน

นายพงศ์เทพกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการยุบควบรวมไปแล้ว ไม่ใช่ครั้งแรก 20 ปีที่ผ่านมาควบรวมไปแล้วกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งในการพิจารณายุบ ทางผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการเขตการศึกษาต้องไปสำรวจข้อมูลใหม่ ถ้าเด็กที่ต่ำกว่า 20 คนต่อโรงเรียน ตอนนี้เพิ่มขึ้นกว่าที่มีอยู่ 700 แห่งหรือไม่ เป็นการทำเพื่อให้เด็กไปสู่สถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่เวลายุบหรือควบรวม รัฐจะสนับสนุนเรื่องการเดินทางให้ มีเอกชนมารับขนไปกลับ รัฐจ่ายค่าขนส่งให้นักเรียน 1 คน/1 วัน วันละ 10 บาท ถ้าไกลก็ 15 บาท

การยุบรวมไม่ใช่เป็นคำสั่งของ ศธ.เท่านั้น แต่ต้องเข้าไปถามประชาชน ผู้อำนวยการโรงเรียนทั้งหลาย ถ้าเห็นว่าควบรวมแล้วมีคุณภาพดีกว่าก็จะพิจารณา ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องควบรวมกี่แห่ง ในการควบรวมครูที่เคยอยู่แทนที่เดิมจะสอน 3 ชั้น ก็สอนแค่ชั้นเดียว โรงเรียนขนาดเล็กไม่ว่าเล็กขนาดไหน ถ้าจัดการการศึกษาได้ดี เราให้อยู่ และสนับสนุนด้วย แต่ที่จะยุบหรือควบรวมคือ เล็กและไม่มีคุณภาพ คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีคุณภาพต่ำ เราอยู่เฉยไม่ได้Ž นายพงศ์เทพกล่าว

@ ปชป.จี้ฟื้น1โรงเรียนคุณภาพ

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า ปชป.ขอคัดค้านกับแนวทางการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะการที่นายพงศ์เทพอ้างถึงเรื่องงบประมาณนั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะ ศธ.ถือเป็น

กระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด และประเทศไทยถือว่าใช้เงินไปกับการศึกษามากเป็นอันดับ 2 ของโลก จึงไม่มีเหตุผลที่จะนำเรื่องงบประมาณมาอ้าง จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน โดยจัดให้มีโรงเรียนคุณภาพ 1 ตำบล 1 โรงเรียน ตามที่ ปชป.ได้เคยเสนอไว้

นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน ส.ส.กทม. ปชป.กล่าวว่า อยากเสนอแนวทางให้รัฐบาลนำไปพิจารณา และทบทวนการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 3 ข้อ คือ 1.พิจารณาแบ่งระดับชั้นการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กใหม่ โดยการแยกประถมชั้นต้น ตั้งแต่ ป.1-ป.3 และประถมตอนปลาย ตั้งแต่

ป.4-ป.6 อยู่คนละโรงเรียน เพื่อให้แต่ละโรงเรียนบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น 2.ย้ายครูไปสอนในแต่ละโรงเรียน จะทำให้กระบวนการได้มาซึ่งบุคลากรที่มีคุณภาพมารวมตัวกัน และจะทำให้ปัญหาขาดแคลนครูผู้สอนลดลง และ 3.ทำโรงเรียนประจำตำบลให้เกิดขึ้น เพราะท้ายที่สุดโรงเรียนขนาดเล็กจะถูกยุบไปโดยปริยาย ทั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จะนำเรื่องนี้เข้าหารือต่อที่ประชุม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

@ เครือข่ายร.ร.เล็กแนะเพิ่มงบฯ

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา(มร.สส.) นายเดชา พงษ์แดง รองประธานเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย แถลงข่าวภายหลังประชุมหารือเกี่ยวกับนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กของ ศธ.ว่า เครือข่ายฯไม่ได้คัดค้านการยุบรวม ควบรวม โรงเรียนขนาดเล็ก แต่อยากให้จัดกลุ่มให้ชัดเจน โดยการจัดกลุ่มโรงเรียนที่จะยุบและโรงเรียนที่ไม่ควรยุบนั้น จะต้องมีเกณฑ์ประเมินที่เหมาะสม เปิดโอกาสให้ชุมชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงมีส่วนร่วมในประเมินว่า โรงเรียนขนาดเล็กแห่งใดควรยุบหรือไม่ยุบด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของเขตพื้นที่การศึกษาเพียงฝ่ายเดียว

แม้โดยหลักการเราไม่ขัดนโยบายยุบโรงเรียน แต่ที่กังวลคือ การให้การสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กจากรัฐ ถ้าปล่อยให้อยู่ในสภาพนี้ต่อไป โรงเรียนขนาดเล็กไม่สามารถจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้ สุดท้ายโรงเรียนขนาดเล็กที่เหลืออยู่ต้องถูกจัดเข้าอยู่ในกลุ่มโรงเรียนที่จะถูกยุบ ฉะนั้น เราจึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลโดย ศธ. เพิ่มงบฯ วัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน ให้โรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้นŽ นายเดชากล่าว และว่า ระบบจัดสรรงบตามรายหัวนักเรียน และจัดสรรครูตามจำนวนนักเรียนนั้น ไม่เหมาะสมจะนำมาใช้กับโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะทำให้ได้ครูและงบน้อยเกินกว่าจะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้

@ แนะยกฐานะเป็นนิติบุคคล

นายสมบูรณ์ ริมท้าว ประธานเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การให้ข่าวเกี่ยวกับนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศหวั่นไหว กังวล มีผลกระทบต่อความรู้สึกของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู

เพื่อแก้ปัญหา ทางชมรม สภาการศึกษาทางเลือกไทย มีข้อเสนอให้รัฐบาลยกฐานะโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศเป็นนิติบุคคล พร้อมดำเนินการให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนชุมชน คือ เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รองรับการจัดการศึกษาให้ความรู้ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชน โดยให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาโรงเรียนชุมชน และจัดสรรเงินให้โรงเรียนชุมชน แห่งละ 200,000 บาทต่อปี รวมถึงให้ปรับปรุงกฎหมายที่ขัดขวางการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น การกำหนดเกณฑ์การจัดสรรครู 1:20 และการจัดสรรงบตามรายหัว ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อโรงเรียนขนาดเล็กŽ นายสมบูรณ์กล่าว

@ เปิดเว็บล่าชื่อค้านการยุบ

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวว่า ทุกรัฐมนตรีที่มานั่ง ศธ. มีนโยบายยุบโรงเรียนอยู่เรื่อย เป็นผลจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของ สพฐ. ทำให้มีโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มทุกวัน ปัจจุบันมีโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ประมาณ 14,000 โรง ฉะนั้น สพฐ.ควรกระจายอำนาจจัดการศึกษาให้ผู้มีศักยภาพในการจัด และควรมาดูสาเหตุของปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่แท้จริง เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้ถูกต้อง

เราได้เปิดให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายยุบโรงเรียนลงชื่อใน www.change.org ขณะนี้มีผู้ลงชื่อแล้ว 11,693 รายชื่อ ทางสมาคมได้ส่งอีเมล์ไปยังรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว และในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ทางชมรมและสมาคมจะพบรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ส่วนวันที่ 16 พฤษภาคม อนุกรรมาธิการการศึกษาของวุฒิสภา ได้เชิญสมาคมไปชี้แจงŽ นายชัชวาลย์กล่าว

@ ครูโคราชโอดสอนทุกชั้น

นายชลอ แยกโคกสูง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหมื่นไวย ต.หมื่นไวย อ.เมืองนครราชสีมา กล่าวว่า โรงเรียนบ้านหมื่นไวย เปิดสอนมาร่วม 60 ปี แต่การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจเท่าที่ควร จึงเกิดการเปรียบเทียบของผู้ปกครอง ที่ต่างต้องการให้บุตรหลานได้มีโอกาสได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับคนอื่นๆ จึงส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนอื่นๆ ทำให้ปัจจุบันโรงเรียนมีนักเรียน 40 คน

นายชลอกล่าวว่า ปัญหาคือ ครูผู้สอน ซึ่งมีเพียง 2 คน รับผิดชอบนักเรียนที่ศึกษาต่างชั้น วุฒิภาวะต่างกัน หากจับเรียนร่วมกัน สติปัญญาการรับรู้ในกลุ่มสาระวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ มีปัญหาชัดเจน จึงทำได้แต่เพียงให้นักเรียนทุกคน อ่าน หรือท่องจำภาษาไทย บางคนกำลังหัดเขียน ก็นั่งเล่น ฟังพี่ๆ อ่าน นี่แหละคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

@ ทำโรงเรียนพี่-โรงเรียนน้อง

ครูที่มีอยู่ 2 คน ถ้าใครลาออก หรือผมต้องเดินทางประชุม ครูที่เหลือเพียงคนเดียว ต้องทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบทั้งหมด ต้องปล่อยให้เด็กอยู่ในรั้วโรงเรียน รอเวลาเลิก ถ้าไม่ให้ยุบ สพฐ.ต้องจัดส่งครูผู้สอนมาเพิ่มเติม รวมทั้งสนับสนุนงบสื่อการเรียน การสอน ให้เท่าเทียมกัน จะเป็นแรงดึงดูดให้ผู้ปกครองส่งบุตร หลานมาเรียนเพิ่มขึ้นŽ นายชลอกล่าว และว่า ได้มีข้อเสนอไปแล้ว เตรียมนำมาปรับใช้ในเทอมหน้า โดยประสานการเรียนร่วมกับโรงเรียนชุมชนประโดก-โคกไผ่ ที่ตั้งห่างออกไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร โดยขอสนับสนุนยานพาหนะ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจาก อบต.หมื่นไวย และผู้ปกครอง

นายเสน่ห์ สุขนาคินทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนประโดก-โคกไผ่ กล่าวว่า ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งต้องการให้เป็นโรงเรียนทั้งสองแห่งเป็นโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง ช่วยเหลือแบ่งปันกัน และยินดีจะรับนักเรียนจากโรงเรียนบ้านหมื่นไวยมาเรียนร่วมในบางวิชา โดยจะจัดครูผู้สอนที่มี 14 คน ผลัดเปลี่ยนรับผิดชอบช่วยสอนในกลุ่มวิชาหลัก

@ มหาชัยเข้าเกณฑ์ยุบ8โรง

ที่ จ.สมุทรสาคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร มีแผนการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน โดยปัจจุบัน จ.สมุทรสาคร มีโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 24 แห่ง กำลังพิจารณายุบโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 60 คน ประมาณ 8 แห่ง ซึ่งปีการศึกษา 2556 คาดจะมีการยุบ 4 แห่งได้แก่ โรงเรียนบ้านชายทะเลกาหลง ต.กาหลง อ.เมืองสมุทรสาคร ปัจจุบันมีนักเรียน 44 คน ครูอัตราจ้าง 1 คน วันเปิดภาคเรียนวันที่ 14 พฤษภาคม นักเรียนทั้งหมดจะต้องไปเรียนที่โรงเรียนวัดกาหลง ต.บางโทรัด อยู่ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร โดยจะมีการจัดรถกระบะรับส่งนักเรียน

ข่าวแจ้งว่า อีก 3 แห่งได้แก่ โรงเรียนวัดเกาะ หรือสำลีราษฎร์อุปถัมภ์ ต.บ้านเกาะ อ.เมืองสมุทรสาคร ปัจจุบันมีนักเรียน 50 คน จะโอนย้ายนักเรียนเฉพาะชั้น ป.5 และ ป.6 ไปเรียนรวมที่โรงเรียนวัดบางปลา, โรงเรียนวัดศรีวนาราม ต.บางกระเจ้า อ.เมืองสมุทรสาคร มีนักเรียน 35 คน จะโอนย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวัดใหญ่บ้านบ่อ และโรงเรียนวัดนาขวาง ต.กาหลง อ.เมืองสมุทรสาคร ปัจจุบันมีนักเรียน 61 คน จะโอนย้ายนักเรียนเฉพาะชั้น ป.4 และ ป.5 ไปเรียนที่โรงเรียนวัดกาหลง ต.บางโทรัด

@ เชียงใหม่หนุนพัฒนาศึกษา

นายชุมพล รัตน์เลิศลบ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) เชียงใหม่ เขต 1 รับผิดชอบพื้นที่ อ.เมือง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันกำแพง อ.แม่ออน กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายยุบรวมโรงเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาเนื่องจากโรงเรียนบางแห่งมีครู 3 คน สอน 6 ชั้นเรียน ส่งผลประสิทธิภาพการศึกษาด้อยลง ทั้งนี้เขต 1 มีโรงเรียนที่อยู่ในข่ายยุบรวม 1 แห่ง

นายอุทิศ ขัติวงษ์ รักษาการ ผอ.สพป.เชียงใหม่ เขต 5 รับผิดชอบ อ.ฮอด อ.ดอยเต่า อ.อมก๋อย กล่าวว่า มีโรงเรียนที่อยู่ในข่ายยุบรวมโรงเรียน หรือคละชั้นเรียน 22 แห่ง ซึ่งต้องเป็นพิจารณาเป็นรายไป ทั้งนี้ จะประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสถานศึกษา วันที่ 13 พฤษภาคมนี้

พื้นที่เขต 5 บางส่วนเป็นโรงเรียนบนพื้นที่สูง 50-60 แห่ง เป็นนักเรียนชาวไทยภูเขากว่า 70 % บางรายเป็นต่างด้าวที่อพยพตามผู้ปกครองที่เป็นแรงงาน แต่มีไม่ถึง 1 % ส่วนใหญ่เรียน 6 เดือน ถึง 1 ปี ก่อนอพยพตามพ่อแม่ไปทำงานที่อื่นŽ นายอุทิศกล่าว

@ ตากควบรวมแล้ว2แห่ง

นายทองสุข อยู่ศรี ผอ.สพป.ตาก เขต 2 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ 1-2 ปี สพป.ตาก เขต 2 ได้ดำเนินการเป็นต้นแบบการเรียนรวมมาแล้ว โดยยุบโรงเรียนบ้านผาลาด ซึ่งเป็นโรงเรียนหลักมีนักเรียน 36 คน ไปเรียนโรงเรียนชุมชนบ้านแม่กุ ต.แม่กุ อ.แม่สอด และยุบโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง ต.ขเนจื้อ อ.แม่ระมาด ที่มีนักเรียน 40 คน ไปเรียนโรงเรียนบ้านแม่ระมาดน้อย

นายทองสุขกล่าวว่า การยุบโรงเรียนถือว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาบางโรงเรียนมีนักเรียนจำนวนน้อยแต่ครูจำนวนมาก ส่วนในพื้นที่ที่จำเป็นต้องคงไว้ก็คงไว้ที่เดิม โดยแก้ไขด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนใช้ครูสอนวนและนำเทคโนโลยีผ่านดาวเทียมมาใช้ หรือเสริมอุปกรณ์การเรียนการสอน ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป

@ ชาวบ้านยุบพริกรวมตัวต้าน

นายไพชยนต์ สูรยาทิตย์ ผอ.สพป.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 กล่าวว่า มีโรงเรียนที่เข้าข่ายยุบรวมประมาณ 60 แห่ง เช่น เขต อ.เมือง มีโรงเรียนบ้านยุบพริก หมู่ 11 ต.บ่อนอก โรงเรียนบ้านทางหวาย ต.คลองวาฬ และอีกหลายแห่งที่เข้าข่าย เนื่องจากมีเด็กนักเรียนเพียง 30-60 คน

นายเจริญศักดิ์ ศรีทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยุบพริก กล่าวว่า โรงเรียนอยู่ในข่ายที่จะถูกยุบ เนื่องจากมีนักเรียนในภาคการศึกษาที่แล้วเพียง 37 คน ส่วนภาคเรียนใหม่ที่กำลังจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ มีนักเรียนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ไม่ยินยอมให้ยุบโรงเรียน เนื่องจากชาวบ้านบริจาคที่ดินและเงินสร้างโรงเรียนเมื่อปี 2521 การยุบโรงเรียนจะต้องได้รับความยินยอมจากชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาโรงเรียนยังได้รับรางวัลรับรองมาตรฐานทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

นายสุวรรณ หุ่นเก่า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 บ้านยุบพริก เปิดเผยว่า ตนและชาวบ้านจะไม่ยอมยุบโรงเรียน เพราะชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจก่อสร้าง เพื่อให้เด็กในพื้นที่มีสถานศึกษาใกล้บ้าน และปัญหาจากการยุบโรงเรียนบ้านละลอง หมู่ 6 ต.บ่อนอก เมื่อหลายปีก่อน ได้สะท้อนความล้มเหลวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากปัจจุบันสภาพโรงเรียนที่มีการก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ถูกปล่อยทิ้งร้าง และสภาพโดยทั่วไปชำรุดทรุดโทรม กลายเป็นสถานที่มั่วสุมเพื่อเสพยาเสพติดของวัยรุ่นในพื้นที่

@ ชัยนาทเปลี่ยนที่เรียนบางวิชา

น.ส.ศศิธร วงษ์เมตตา ผอ.สพป.ชัยนาท กล่าวว่า จ.ชัยนาท มีโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในเกณท์การยุบรวมทั้งสิ้น 48 โรงเรียน กระจายอยู่ใน 8 อำเภอ ของ จ.ชัยนาท โดยโรงเรียนเหล่านี้กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนนักเรียน จากสาเหตุทั้งด้านจำนวนประชากรเด็กที่ลดลง และการเดินทางสัญจรที่เจริญมากขึ้น ทำให้เด็กบางส่วนที่พ่อแม่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีจะส่งให้บุตรหลานเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่อยู่ชุมชนเมืองและมีความเจริญ หรือโรงเรียนขนาดใหญ่มีชื่อเสียง

นายชูชีพ เหลือสำเภา ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดศรีมณีวรรณ ต.คุ้งสำเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท กล่าวว่า ปัจจุบันต้องดูแล 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดพิกุลงามอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ชั้น ป.1-6 มีนักเรียนทั้งสิ้น 38 คน ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องมีการยุบรวมกับ ร.ร.วัดศรีมณีวรรณ โดยปัจจุบันโรงเรียนวัดพิกุลงามจะใช้วิธีเดินทางไปเรียนที่ ร.ร.วัดศรีมณีวรรณ ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 4 กิโลเมตร เฉพาะในรายวิชาที่ทางโรงเรียนไม่มีครูสอน

@ พะเยาให้ชาวบ้านช่วยดูแล

นายวัชระ ศรีคำตัน ประธานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 กล่าวว่า มีจำนวนโรงเรียนในความรับผิดชอบประมาณ 100 แห่ง หากพิจารณาตามเกณฑ์ที่จะยุบรวมจะเข้าเกณฑ์ประมาณ 50-60 แห่ง กระจายอยู่ทั่วไปทั้งพื้นที่ราบและบนที่สูง

เหตุผลสำคัญที่ไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็กสำหรับ สพป. 2 คือ บางโรงมีความผูกพันระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ด้วยผู้เฒ่าหรือประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันบริจาคที่ดิน หรือบริจาคสิ่งของต่างๆ เพื่อทำนุบำรุงและก่อเกิดเป็นโรงเรียนในชุมชนแห่งนั้นขึ้นมา และอีกประการหนึ่งคือ ทางชุมชนและคณะกรรมการสถานศึกษาต้องร่วมกันดูแลโรงเรียนไม่ให้เสื่อมสภาพ เพื่อวันหนึ่งในอนาคตเมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น ลูกหลานจะกลับมาเรียนได้อีกครั้งหนึ่ง และสร้างความผูกพันกับชุมชนบ้านเกิดต่อไปŽ นายวัชระกล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์