นัด 12 มีค. ปล่อย-ไม่ปล่อย ´หมอเผ่า´

"เฝ้าดูอาการหมอเผ่าอีก 7 วัน"


กรณีศาลมีคำสั่งให้ส่งตัว นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ผู้บริหารและอาจารย์สถาบันกวดวิชาชื่อดังแอพ พลายด์ฟิสิกส์ จากโรงพยาบาลศรีธัญญาไปให้แพทย์ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เฝ้าดูอาการเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนัดไต่สวนฉุกเฉินในวันที่ 9 มี.ค. หลังจากได้รับการร้องทุกข์ว่า นายแพทย์คนดังถูกขังโดยมิชอบ โดยมีข่าวออกมาก่อนวันนัดไต่สวนว่า นพ.ประกิตเผ่า อยู่ระหว่างการเฝ้าดูอาการป่วยทางจิตไม่สามารถเดินทางไปศาลได้

ศาลเริ่มกระบวนการไต่สวน

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดา ห้องพิจารณาที่ 704 เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (9 มี.ค.) ศาลนัดไต่สวนฉุกเฉิน เรื่อง พ.ต.ท.ฐิติเดช อินทรแป้น พงส.สบ.3 สน.บางซื่อ ร้องขอให้ปล่อยตัว นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ผู้อำนวยการสถาบันกวดวิชาแอพพลายด์ฟิสิกซ์ ถูกขังไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ อาญา มาตรา 90 ตามคำกล่าวโทษร้องทุกข์ของ น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต สาวคนสนิทของ นพ.ประกิตเผ่า

ทุกฝ่ายพร้อมขาดแต่หมอ

การไต่สวนครั้งนี้ มี นพ.ประกิตพันธ์ ทมทิตชงค์ รศ.เพลินจิต ทมทิตชงค์ นางอลิสา ทมทิตชงค์ พี่ชาย มารดา และภรรยาของ นพ.ประกิตเผ่า เดินทางมาศาลพร้อมกับคณะแพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญา นำโดย นพ. เกียรติภูมิ วงรจิต ผอ.โรงพยาบาล และ นพ.ไพฑูรย์ สมุทรสินธุ์ แพทย์เจ้าของไข้

ขณะที่ฝ่าย น.ส.เปมิกา เดินทางมาพร้อมบิดามารดา รวมทั้งเพื่อนสนิท และศิษย์เก่าสถาบันแอพพลายด์ฟิสิกซ์ ขณะที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ มี พญ.ดวงตา ไกรพัฒน์พงษ์ แพทย์เจ้าของไข้เดินทางมาพร้อมผลการตรวจรักษา ส่งให้ศาลพิจารณา โดยไม่มี นพ.ประกิตเผ่าติดตามมาด้วยแต่อย่างใด ขณะที่มีประชาชน และนักศึกษากฎหมายให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการไต่สวนเป็นจำนวนมาก

เบิกความตำรวจปากแรก


ก่อนการไต่สวนศาลไม่ให้พยานที่จะต้องเข้าเบิก ความในคดีนี้ เข้าฟังการเบิกความของพยานปากอื่น โดยให้ออกจากห้องพิจารณาทุกคน และศาลจะเรียกมาไต่สวนเป็นรายบุคคล อันดับแรกศาลได้เบิกตัว พ.ต.ท.ฐิติเดช มาเบิกความ โดยพยานในฐานะผู้ร้องได้สาบานตัว แล้วเบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. เวลาเช้า พบกับ น.ส.เปมิกา ซึ่งแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการให้ช่วยตรวจสอบการเสียชีวิตของภรรยา นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ซึ่งตนตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบว่ามีการเสียชีวิต จึงสอบสวน น.ส.เปมิกาต่อไป เกี่ยวกับการที่อ้างว่า นพ.ประกิตเผ่า ถูกควบคุมตัวที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เมื่อสรุปเรื่องราวได้จึงเดินทางไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลศรีธัญญา โดยมี น.ส.เปมิกา กับ ร.ต.ท.ไอศุรย์ ผู้ใต้บังคับบัญชาเดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

ตามหาหมอเผ่าแต่ไม่ได้สอบ

เมื่อไปถึงพบชาย 3 คน มีลักษณะคล้ายตำรวจเฝ้าที่หน้าอาคารประสาทวิทยา อ้างว่ามาคอยรักษาการณ์ และป้องกันเหตุ และพบกับพี่ชายและมารดาของ นพ. ประกิตเผ่า จึงสอบถามที่มาที่ไปเบื้องต้น และขอดูอาการป่วยด้วยตนเอง แต่ถูกปฏิเสธ ซึ่งมีลักษณะคล้ายพูดถ่วงเวลา ในที่สุดพบกับ นพ.ไพฑูรย์เจ้าของไข้ ได้เห็นรายงานการตรวจทางแพทย์ระบุว่า นพ.ประกิตเผ่า ป่วยเป็นโรคจิตระแวง แต่ไม่ให้เข้าไปดูใกล้ๆ เฝ้ารออยู่นานราว 1 ชั่วโมง มองเห็นเพียงแต่ด้านนอกไกลๆ พบว่า นพ. ประกิตเผ่าถูกคลุมร่างด้วยผ้าโผล่มาแต่ใบหน้า และหลังจากตรวจสอบเหตุการณ์ทั้งหมดในวันนั้น ทางพี่ชายกับมารดาและญาติ นพ.ประกิตเผ่าตามมาที่ สน.บางซื่อ อ้างว่าจะขอพบกับ น.ส.เปมิกาเป็นต้น เหตุการณ์ทั้งหมดข้างต้นทำให้ตนเกิดความสงสัย จึงสอบสวนต่อไป

สงสัยประเด็นผลประโยชน์

ศาลถามผู้ร้องว่า ทำไมถึงสนใจสอบสวนเรื่องนี้ พ.ต.ท.ฐิติเดชตอบว่า ยังมีเหตุผลเกี่ยวกับโรงเรียนกวดวิชาที่มีรายได้นับร้อยล้านบาท โดย น.ส.เปมิกาบอกว่า หาก นพ.ประกิตเผ่ามีอาการป่วยทางจิตก็จะมีการนำไปกล่าวอ้างได้ว่าเป็นคนไร้ความสามารถ เพื่อจะได้มีผู้ร้องขอเป็นผู้อนุบาล จะได้ควบคุมกิจการโรงเรียน ซึ่งทราบมาด้วยว่า เดิมบิดามารดาของ นพ.ประกิตเผ่าเคยได้ผลประโยชน์ในอัตรา 10 ล้านบาท แต่ นพ.ประกิตเผ่าได้เพียงร้อยละ 10 จึงยื่นคำขาดให้แบ่งสัดส่วนใหม่ หรือให้โอนโรงเรียนถ้าไม่โอนจะทำต่อไปคนเดียว

ท้ายสุดทางบิดามารดาจึงได้โอนกิจการให้ดำเนินการคนเดียว โดยมีรายได้ปีละ 100 ล้านบาท ตนก็ยิ่งสงสัย ถาม น.ส.เปมิกาว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การขัง นพ.ประกิตเผ่าใครจะได้รับประโยชน์ อะไร ได้รับคำตอบว่า ยังมีผลประโยชน์จากวีดิโอบันทึกการสอนฟิสิกส์ที่ นพ.ประกิตเผ่าทำไว้เป็นชุด สามารถนำออกมาใช้ได้อีก 4 ปี จะสร้างรายได้นับร้อยล้านบาท หาก นพ.ประกิตเผ่าถูกหลอกเอาตัวไปจะดำเนินการกิจการ โรงเรียนกวดวิชาต่อไปไม่ได้

นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์



เปมิกา ขึ้นเบิกความ


ต่อมาศาลได้เบิกตัว น.ส.เปมิกาขึ้นเบิกความ ระบุว่า เมื่อ 9 ปีก่อนเรียนอยู่ชั้น ม.4 โรงเรียนบดินทรเดชา ไปกวดวิชาฟิสิกส์กับสถาบันแอพพลายด์ฟิสิกส์ ของ นพ.ประกิตเผ่า เมื่อได้ผลดีก็เรียนตลอดไปจนจบ ชั้น ม.6 แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนได้ปีหนึ่งก็ย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วย้ายกลับมาที่จุฬาฯอีกจนจบปริญญาตรี สาขาจิตวิทยาสังคม ตลอดเวลาที่ผ่านมาตนกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ มีชาย 3 คน หญิง 3 คน อายุระหว่าง 22 ถึง 30 ปีเศษ

เข้ากลุ่มกันทำกิจกรรมและเรียนต่อ บางคนทำงานแล้ว บางคนอยู่ระหว่างรอเรียนปริญญาโท ทั้งหมดยังเข้าไปยังฟังการบรรยายของ นพ.ประกิตเผ่า จนปัจจุบันตนอายุ 24 ปีแล้ว ถือว่าเป็นเพื่อนต่างวัยของ นพ.ประกิตเผ่า เพราะอายุห่างกัน 13 ปี การพบปะระหว่างตนกับ นพ.ประกิตเผ่ามีลักษณะคบกันเป็นกลุ่ม ไปไหนก็ไปด้วยกัน บางครั้งกลุ่มตนก็มี 4 คน ลักษณะการคบกันก็จะนัดไปเจอกันที่คอนโดมิเนียม ที่ นพ.ประกิตเผ่าเช่าไว้ที่ย่านศาลายา พวกตนจะเข้าไปทำรายงาน ฝ่าย นพ. ประกิตเผ่าจะเข้ามาคุยบ้าง โทรศัพท์มาแล้วแบ่งปัน ความรู้สึกผ่านต่อกันบ้าง หรือเล่าปากต่อปาก บางครั้งพวกตนไม่ว่างเข้าไปที่คอนโดฯ ต้องไปออกค่ายอาสาพัฒนาต่างจังหวัด นพ.ประกิตเผ่าก็จะตามไปดู

อ้างเหตุหมออยากหย่าเมีย

ศาลถามว่า เหตุการณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร น.ส. เปมิกาเบิกความอย่างฉะฉานคล่องแคล่วว่า เรื่องราวเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 49 นพ.ประกิตเผ่ามักเป็นฝ่ายพูดบ่อยๆ เกี่ยวกับการต้องการหย่าร้างกับภรรยา และมีปัญหาเกี่ยวกับคนในครอบครัว ส่วนใหญ่จะพูดถึงพี่ชาย บางครั้งก็พูดถึงบิดามารดา และบอกว่าเมื่อมีปัญหา ทางมารดาจะเข้ามาจัดการ ฝ่ายบิดาไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา นพ.ประกิตเผ่าได้ปรึกษาพวกตนในลักษณะอยากระบาย เรื่องราวเกี่ยวกับการกระทำของภรรยา เมื่อได้ระบายแล้วก็มีอาการดีขึ้น แล้วแยกกันกลับ แต่ช่วงหลังปีใหม่ก็มีการระบายเรื่องราวที่หนักขึ้น พวกตนก็ได้แต่ฟัง

แถมผวามือปืนฝ่ายตรงข้าม

น.ส.เปมิกากล่าวว่า ที่หนักที่สุดก็คือช่วง 2 สัปดาห์ ก่อนวันที่ 19 ก.พ.50 ในช่วงนั้น นพ.ประกิตเผ่าไม่ได้อยู่กับภรรยา ซึ่งเขาเล่าว่าได้พยายามโทรศัพท์นัดมาคุยกันเรื่องหย่า แต่ภรรยาเลี่ยงไปว่าติดไปทำบุญวัดสังฆทาน เขาจึงพยายามติดต่อผ่านพี่ชายและมารดา เพื่อยืนยันขอหย่าให้ได้ ซึ่งรับปากว่าจะเป็นคนติดต่อภรรยาให้ ช่วงนั้น นพ.ประกิตเผ่าไปพบญาติที่บ้านซอยเรวดีและบอกตนว่า ได้คุยกับพี่ชาย ทราบว่าฝ่ายภรรยาก็มีมือปืน นพ. ประกิตเผ่าบอกกลับไปว่า เขาก็มีมือปืนเหมือนกันตอนนั้นทราบว่า นพ.ประกิตเผ่าไปไหนจะพกปืนตลอด ตนรู้เรื่องเกี่ยวกับอาวุธปืนเพียงเท่านี้

พยานเบิกความต่อไปว่า นพ.ประกิตเผ่าเล่าว่า นัดภรรยามาหย่ากันที่ว่าการอำเภอพุทธมณฑล วันที่ 19 ก.พ. เวลา 10.00 น. โดยพี่ชายให้ตกลงกันก่อนว่า พวกเขาขอพาตำรวจคนกลางไปตรวจ เพื่อตรวจอาวุธปืน ว่า นพ.ประกิตเผ่ากับภรรยา เอาปืนติดตัวไปหรือไม่ ถ้าต่างคนต่างไม่มีปืน จะได้หย่ากัน

ไม่เคยพาไปนั่งสมาธิ


ศาลถาม น.ส.เปมิกาต่อว่า มีเรื่องเกี่ยวกับการนั่งสมาธิหรือไม่ น.ส.เปมิกากล่าวว่า ไม่เคยมีการพากันไปนั่งสมาธิ มีแต่ไปพักผ่อนที่ปราณบุรี ในกลุ่มของพวกตนไม่มีการเสพยาเสพติด ไม่มีแม้แต่เหล้าหรือบุหรี่ ตอนนั้นทราบว่า นพ.ประกิตเผ่าสนใจศึกษาธรรมะ เนื่องจากเคยไปบวชที่วัดท่าซุง เมื่อเดือน เม.ย. 49 และมีการวางแผนเกี่ยวกับการศึกษาธรรมะ ตอนนั้นเขายังมีจิตใจปกติดี ในวันที่ 18 ก.พ. ก่อนไปหย่า พวกตนทั้งหมดไปนอนค้างที่คอนโดฯ จนเช้าวันที่ 19 ก.พ. นพ.ประกิตเผ่าขับรถออกไปก่อน 09.00 น. และบอกว่า จะกลับมาเวลา 18.00 น. ขอให้อยู่รอ

โทร.มาบอกถูกกักอยู่ศรีธัญญา

น.ส.เปมิกาเบิกความว่า หลังจากนั้นพวกตนก็แยกย้ายไปเรียนบ้างทำงานบ้าง ตนเพียงคนเดียวโทรศัพท์ ไปถามข่าวจาก นพ.ประกิตเผ่า เขาบอกว่ายังหย่าไม่ได้เพราะเอกสารไม่ครบ ต้องกลับไปเอาที่บ้านย่านสนาม ไดรฟ์กอล์ฟ แล้วก็ไม่ได้ติดต่อกันอีก จนเวลา 06.00 น. วันที่ 20 ก.พ. 50 ได้รับโทรศัพท์จาก นพ.ประกิตเผ่า ว่า เขาอยู่ที่อาคารประสาทวิทยา โรงพยาบาลศรีธัญญา ตนจำได้ว่าอาคารนี้เป็นอาคารรักษาคนโรคจิตเพราะเคยไปเรียนวิชานี้ เมื่อถามว่าแล้วหมอไปทำอะไร เขาตอบว่า ถูกพี่ชายให้มาอยู่ที่นี่ พี่ชายบอกว่าภรรยาไม่ได้เดินทางมาหย่าเพราะเสียชีวิต และสงสัยว่าเขาจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตาย และบอกว่าเขาอยู่ในอาการเครียด พี่ชายจึงต้องการให้อยู่โรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย พร้อมกันนั้นยังบอกให้ช่วยตรวจสอบว่า ภรรยาของเขาตายจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ให้แจ้งข่าวมา แต่ถ้าไม่ตายจริงก็ให้พาตำรวจมารับตัวเขาออกไป

โดนญาติหมอตามประกบติด

เมื่อทราบดังนั้นจึงทำตามที่หมอบอก โดยพาเพื่อนผู้หญิงที่ทำงานเป็นผู้จัดการบริษัทไปด้วย เมื่อไปถึง สน.บางซื่อ ก็พบตำรวจหญิง พาไปพบ พ.ต.ท.ฐิติเดช จากนั้นจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง แล้วตำรวจก็พาตนกับเพื่อนไปโรงพยาบาลศรีธัญญา เพื่อถามว่า นพ.ประกิตเผ่าพักอยู่ห้องไหน พบชายฉกรรจ์ 4 คน จำได้ว่าสวมชุดตำรวจคอมมานโด 1 คน และเจ้าหน้าที่สถาบันกวดวิชา จึงเข้าไปสอบถามแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ บอกว่าอีก 2 คนที่เหลือเป็นตำรวจกองปราบปราม

จึงกลับไปรอที่รถยนต์ สักพักตำรวจมาตามไปที่หน้าตึกประสาทวิทยา พบ พ.ต.ท.ฐิติเดชยืนคุยอยู่กับมารดา พี่ชายของ นพ.ประกิตเผ่า สรุปแล้วตนไม่ได้พบกับ นพ.ประกิตเผ่า ต่อมาจึงเดินทางกลับไปที่ สน.บางซื่อ โดยมีมารดาและพี่ชาย นพ.ประกิตเผ่าตามมาด้วย โดยมารดาและพี่ชาย นพ.ประกิตเผ่าบอกว่า นพ.ประกิตเผ่ามีอาการทางจิต มีความหวาดระแวง จึงไม่อยากให้เข้าไปเยี่ยมเกรงจะกระทบกับการรักษา ซึ่งหลังจากเข้าร้องทุกข์แล้ว พยานยังเข้าให้ปากคำกับ พ.ต.ท.ฐิติเดช อีก 2 ครั้ง

ปฏิเสธไม่รู้จักสารเอฟริดีน


ศาลถามพยานย้ำว่า ที่เบิกความกับศาลทั้งหมดเป็นความจริงหรือไม่ หากเป็นความเท็จจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่ง น.ส.เปมิกาแถลงยืนยันว่าคำเบิกความทั้งหมดเป็นความจริง เมื่อศาลถามว่ารู้จักสารเอฟริดีนหรือไม่ น.ส.เปมิกาตอบว่า เพิ่งรู้จักเมื่อเกิดคดีนี้ โดยส่วนตัวไม่ทราบว่าสารเอฟริดีนเข้าสู่ร่างกาย นพ.ประกิตเผ่าได้อย่างไร แต่ในวันที่ 19 ก.พ. ก่อนที่ นพ.จะถูกส่งไปโรงพยาบาลศรีธัญญา ยังสามารถขับรถไปที่ว่าการอำเภอพุทธมณฑลเพียงคนเดียวได้ ซึ่งหากได้รับสารเอฟริดีนในปริมาณสูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์คงไม่มีสติขับรถเพียงลำพังได้

ซัก ผอ.ศรีธัญญาเรื่องรับผู้ป่วย

ต่อมาศาลเรียก นพ.เกียรติภูมิ สมุทรสินธุ์ ผอ.รพ.ศรีธัญญาเข้าไต่สวน ได้ความว่า ในฐานะ ผอ.มีอำนาจ หน้าที่ในการบริหารงานทั่วไปในโรงพยาบาล ทั้งเรื่องคน งานวิชาการ และการเงิน ส่วนการรับตัวคนไข้เข้ารับรักษา จำเป็นต้องลงบันทึกในเวชระเบียนหรือไม่ พยานตอบว่าในกรณีฉุกเฉินไม่จำเป็นต้องมี ศาลจึงถามย้ำว่าในกรณีของ นพ.ประกิตเผ่าเข้ากรณีฉุกเฉินหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เข้ากรณีฉุกเฉิน เท่าที่ทราบ นพ.ประกิตเผ่าเข้ารักษาตัวประมาณ 10.47 น. วันที่ 19 ก.พ. แต่ที่ พ.ต.ท.ฐิติเดชตรวจสอบไม่พบรายชื่อนั้น เป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่ยังไม่ลงบันทึกข้อมูลคนป่วยลงในคอมพิวเตอร์ โดยยอม รับว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากความบกพร่องในการทำงาน แต่ไม่มีลักษณะผิดปกติ จึงไม่ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหรือสืบหาข้อเท็จจริง แต่ทั้งนี้เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่แล้วกลับไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอบถามการรักษาตัวของ นพ.ประกิตเผ่าแต่อย่างใด

อ้างแม่หมอร้องขอตำรวจไปเฝ้า

ผอ.รพ.ศรีธัญญาเบิกความต่อว่า สำหรับอาคารประสาทวิทยา ที่ นพ.ประกิตเผ่ารักษาตัวอยู่นั้นเป็นตึกผู้ป่วยใน มีการรักษาความปลอดภัยเหมือนหน่วยงานราชการทั่วไป การเข้าไปในบริเวณรักษาพยาบาลต้องได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ป่วยที่ไม่ต้องคดีอาญาไม่จำเป็นต้องมีตำรวจคุ้มครอง ส่วนที่มีชายฉกรรจ์ 4 คน คอยคุ้มกัน นพ.ประกิตเผ่า ที่อาคารนั้นเนื่องจากมารดาของ นพ.ประกิตเผ่าร้องขอ โดยเกรงว่า นพ.ประกิตเผ่าจะหลบหนี รวมทั้งอาจมีบุคคลที่ไม่พึงประสงค์แอบเข้ามาพบได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคลุ้มคลั่ง เจ้าหน้าที่จะให้การพยาบาล พูดคุยและสอบถามสาเหตุ ถ้าไม่เป็นผล ต้องตรวจดูรายงานแพทย์ว่าจะสามารถฉีดยาได้หรือไม่ หรือควรใช้วิธีควบคุมผูกมัดและนำไปรักษาเป็นการเฉพาะแล้วแต่กรณี

เมื่อศาลถามว่าการที่มารดาของ นพ.ประกิตเผ่า ร้องขอให้นำชายฉกรรจ์ 4 คน มาคุ้มครองนั้น แสดงว่า ไม่ไว้ใจการดูแลของโรงพยาบาลศรีธัญญาใช่หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิตอบว่า มารดาและพี่ชาย นพ.ประกิตเผ่า เชื่อมั่นในการรักษาอาการทางจิตของโรงพยาบาล แต่คงไม่มั่นใจเรื่องที่ผู้ป่วยหลบหนี เพราะที่โรงพยาบาลไม่ได้มีลักษณะเป็นสถานที่ควบคุม ไม่มีเหล็กดัดแน่นหนา เมื่อญาติผู้ป่วยร้องขอจึงอนุญาตให้ไปตามหน้าที่ โดยพยานไม่เคยรู้จักเกี่ยวพันกันมาก่อน

ไม่ขอพูดเรื่องสารเอฟริดีน


ศาลถามต่อไปว่า หากคนปกติได้รับการรักษาโดยให้ยาผิดประเภทจะทำให้เกิดภาวะทางจิตไม่ปกติได้หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิตอบว่า สารบางตัวมีผลต่อระบบสมอง อาทิ ยาบ้า ส่วนการให้น้ำเกลือผู้ป่วยจิตเวชมี 3 กรณี คือ ผู้ป่วยขาดสารอาหาร 2. ต้องรักษาด้วยการฉีดยาเป็นประจำ และเพื่อให้ร่างกายมีน้ำและขับสารพิษออกจากร่างกาย แต่จะนานกี่วันนั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายผู้ป่วย ส่วนเรื่องสารเอฟริดีนในร่างกาย นพ.ประกิตเผ่านั้นทราบจากรายงานการตรวจของ นพ.ไพฑูรย์ แพทย์เจ้าของไข้ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้

เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล จึงขออนุญาตยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรแทน สำหรับนายโจ้ (นายอนุวัฒน์ จันทประเทศ) ซึ่งปรากฏตามคำร้องของพนักงานสอบสวนว่าเป็นผู้ที่ให้ นพ.ประกิตเผ่า ยืมใช้โทรศัพท์นั้น ไม่ทราบชื่อจริง แต่ทราบว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งผู้ช่วยเหลือคนไข้ โดยไม่ทราบว่าเป็นคำสั่งของแพทย์ พยาบาล หรือญาติคนไข้ที่ให้มาดูแล นพ. ประกิตเผ่าโดยตรง อย่างไรก็ตาม หากทางญาติประสงค์ที่จะให้มีคนดูแลผู้ป่วยเป็นการเฉพาะก็สามารถร้องขอได้

กองปราบฯ-191 เฝ้าตลอด

ต่อมาเวลา 14.00 น. ศาลเรียก ร.ต.ท.ไอศูรย์ อินทร พนักงานสอบสวน สบ 1 สน.บางซื่อ พยานซึ่งได้รับ มอบหมายจาก พ.ต.ท.ฐิติเดช อินทรแป้น พนักงานสอบสวน สบ 3 ให้พา น.ส.เปมิกาไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.อ.เมืองนนทบุรี เมื่อวันที่ 20 ก.พ 50 ซึ่ง ร.ต.ท.ไอศูรย์ แถลงว่า เมื่อเวลา 18.00 น. ของวันที่ 20 ก.พ. พา น.ส. เปมิกากับเพื่อนชายของ น.ส.เปมิกาอีก 1 คน ไปแจ้งความ แต่พนักงานสอบสวน สภ.อ.เมืองนนทบุรีไม่รับเรื่อง เมื่อโทร.แจ้ง พ.ต.ท.ฐิติเดช จึงสั่งการให้ไปหาข้อมูลว่า

นพ. ประกิตเผ่าไปรักษาตัวที่ รพ.ศรีธัญญา จริงหรือไม่ เมื่อไปถึงพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่อง 2 นาย ทราบชื่อ ด.ต. ชำนาญ ใสจันทึก สังกัด กก.3 ป. ตำรวจอีกนายหนึ่งสังกัดกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ 191 ซึ่งทั้งสองแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่แจ้งว่านายสั่งให้มาเฝ้า แต่ไม่ทราบว่านายคนนั้นหมายถึงใคร ต่อมายังมี พ.ต.ท.ธีระศักดิ์ ภิญโญ สังกัด 191 มาสังเกตการณ์ด้วย จากนั้นเห็นมารดา พี่ชาย ของ นพ.ประกิตเผ่า และ นพ.ไพฑูรย์ แพทย์เจ้าของไข้ เดินทางมา ซึ่งเหตุที่พยานรู้ว่าเป็น นพ.ไพฑูรย์ เพราะได้แสดงใบรับรองแพทย์การวินิจฉัยอาการของ นพ.ประกิต-เผ่า ซึ่งในใบรับรองแพทย์ระบุเพียงว่าป่วยเป็นจิตเวช แต่ ไม่ระบุรายละเอียดของอาการ ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นข้อพิรุธ

หมอกินยาแล้วสะลึมสะลือ

จากนั้นศาลเรียกนายอนุวัฒน์ จันประเทศ หรือโจ้ ผู้ช่วยเหลือคนไข้ ซึ่งเป็นผู้ให้ นพ.ประกิตเผ่ายืมโทร-ศัพท์มือถือ ตอบคำถามศาลว่า ได้รับคำสั่งจากพยาบาล ให้ดูแล นพ.ประกิตเผ่า ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. เวลา 16.00-08.00 น. ของวันที่ 20 ก.พ. ที่ถูกควบคุมไว้ห้องเดี่ยว ชั้น 1 ของอาคารประสาทวิทยา ซึ่ง นพ.ประกิตเผ่ามีอาการหวาดระแวง กลัวว่าคนจะทำร้าย ระหว่างดูแลนั้นพยานจะต้องปลุกให้ นพ.ประกิตเผ่าลุกขึ้นมากินยาเม็ดสีขาว 3 เม็ด เมื่อเวลา 20.00 น. จากนั้นเวลา 24.00 น. นพ. ประกิตเผ่าตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำ โดยพยานต้องเข้าประคอง เนื่องจากมีอาการสะลึมสะลือ

เพ้อถึงเปมิกาพร้อมเรียกชื่อเมีย


ระหว่างเฝ้าดูแล พบว่า นพ.ประกิตเผ่าเพ้อเรียกชื่อเปมิกา และแอน (นางอลิสา ภรรยา) และในเช้าวันรุ่งขึ้นที่ 20 ก.พ. เวลาประมาณ 07.45 น. นพ.ประกิตเผ่าตื่นขึ้นมาแล้วถามด้วยน้ำเสียงเบาว่าที่นี่ที่ไหน เมื่อบอกว่าอยู่ที่ตึกประสาทวิทยา โรงพยาบาลศรีธัญญา นพ. ประกิตเผ่าจึงขอยืมโทรศัพท์ 2 นาที โทร.หาญาติ โดยลักษณะการพูดของ นพ.ประกิตเผ่าเหมือนคนปกติ แต่ ระหว่างโทร.คุย พยานไม่ได้อยู่ฟังด้วย หลังจากนั้นเวลา 08.00 น.

มีผู้ชายโทร.เข้ามาในมือถือ แล้วเห็นว่าเป็น เบอร์เดียวกับที่ นพ.ประกิตเผ่าโทร.หา จึงยื่นโทรศัพท์ให้ นพ.ประกิตเผ่าคุย แล้วเมื่อพยานออกเวร เวลา 12.00 น. มีผู้ชายอ้างว่าเป็นญาติโทร.มาสอบถามรายละเอียดอาการ พยานรำคาญจึงบอกกลับไปว่าไม่อยากยุ่งแล้วพร้อมกับปิดมือถือ ซึ่งการสอบถามอาการดังกล่าวเหมือนกับไม่ใช่ ญาติ เพราะถามถึงรายละเอียดของ นพ.ประกิตเผ่า พยานเปิดมือถืออีกครั้งเวลา 19.00 น. ปรากฏว่ามีผู้หญิงโทร.มาถามอาการอีก และพยานตอบว่า นพ.ประกิตเผ่ากำลังถูกให้น้ำเกลือและกินข้าวได้

เข้า รพ. 3 วันเริ่มถามหาปืน

นายอนุวัฒน์ หรือโจ้ ตอบศาลด้วยว่า ตั้งแต่ นพ. ประกิตเผ่าเข้ารักษาตัวเมื่อวันที่ 19 ก.พ. จนถึงวันที่ 26 ก.พ. ที่ศาลลงเดินเผชิญสืบที่โรงพยาบาลศรีธัญญา พยานเข้าดูแล นพ.ประกิตเผ่าทั้งสิ้น 10 วัน ซึ่งเห็นว่ามี อาการดีขึ้นเป็นลำดับเพราะได้ให้น้ำเกลือทุกวัน โดยหลังจากเข้ารักษาอาการแล้ว 3 วัน ประมาณวันที่ 23 ก.พ. นพ.ประกิตเผ่า ถามหาเครื่องรางของขลัง และอาวุธปืน ทั้งนี้ก่อนที่ศาลจะเผชิญสืบ นพ.ประกิตเผ่าถูกย้ายจากตึกประสาทวิทยา มาที่ตึกประกายสุข เมื่อเวลา 22.00 น. ของวันที่ 25 ก.พ. ส่วนที่มีตำรวจเข้ามาเฝ้าข้างตึกนั้น พยานคิดเองว่า นพ.ประกิตเผ่าอาจเป็นคนร้าย ตำรวจจึงมาเฝ้า

เมียบอกสามีเปลี่ยนไป

หลังจากนายอนุวัฒน์ หรือโจ้ตอบคำถามแล้ว ต่อมา นางอลิสา ภรรยา นพ.ประกิตเผ่า เข้าไต่สวนระบุว่า รู้จักกับ นพ.ประกิตเผ่า มาตั้งแต่ ม.4 ที่ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา แล้วแต่งงานกันในปี 2537 ด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายและครอบครัวรู้จักกันเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีบุตรด้วยกัน 2 คน ส่วนเรื่องปัญหาหย่าร้างพยานไม่ได้เป็นคนเริ่มที่จะต้องการหย่า โดยมาทราบเรื่องที่ นพ.ประกิตเผ่า จะขอหย่าเมื่อวันที่ 23 ก.พ.

หลังจากที่เดินทางกลับมาจากประเทศสหรัฐฯ ซึ่งพยานเดินทางไปต่างประเทศนานประมาณ 10 วัน เนื่องจากมีความทุกข์ และเครียดจากพฤติกรรมที่ นพ.ประกิตเผ่า เปลี่ยนแปลงไปภายในเวลา 2-3 เดือน นับตั้งแต่ ธ.ค. 49 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นพ.ประกิตเผ่าเป็นคนรักครอบครัว มีความรับผิดชอบ และมีวินัยมาก เวลาทำอะไรมักจะบอกกล่าวครอบครัวก่อน ซึ่ง นพ.ประกิตเผ่า เปลี่ยนเป็นคนที่เครียดง่าย และมักจะเกี้ยวกราดไม่มีเหตุผล โดยเมื่อยังปกติ นพ.ประกิตเผ่า บอกว่า เคยไปที่เชียงใหม่ กับ น.ส.ศิวพร และเพื่อนชายคนหนึ่ง เพื่อทดสอบความสามารถการนั่งสมาธิขั้นสูงของ น.ส.ศิวพร

รู้เรื่องหย่าจากแม่-พี่ชายผัว


ภายหลังพยานรู้จักจากบุคคลอื่นด้วยว่า นพ. ประกิตเผ่ารู้สึกกลัวพยานว่าเป็นคนอันตรายไม่กล้าเข้าใกล้ และเมื่อเดือน ม.ค.มีผู้หญิงโทร.มาหาพยาน บอกว่าเป็นเพื่อนของ น.ส.ศิวพร เหลืองเรณูกุล หรืออุ๋ย ชื่อเดิมของ น.ส.เปมิกา พูดทำนองเยาะเย้ยว่า ได้ตัว นพ.ประกิตเผ่า แล้ว ซึ่งพยานรู้จักกับ น.ส.เปมิกา ในใบหน้าเดิมที่มีชื่อเดิมว่า น.ส.ศิวพร โดย อุ๋ย ศิวพร เข้าเรียนที่โรงเรียนกวดวิชา และได้รู้จักกับ นพ.ประกิตเผ่า เนื่องจากระหว่างเรียนมักจะมีอาการเป็นลมบ่อย นพ.ประกิตเผ่าจึงช่วยดูแล ทั้งนี้นางอลิสายังตอบศาลด้วยว่า หลังจากกลับจากสหรัฐฯแล้วเมื่อวันที่ 23 ก.พ. มารดาและพี่ชาย นพ.ประกิตเผ่า จึงแจ้งเรื่อง นพ.ประกิตเผ่า ขอหย่าและทราบด้วยว่า นพ.ประกิตเผ่ามีอาการป่วยทางจิต ซึ่ง นพ.ประกิตพันธ์ พี่ชายบอกว่า ที่ป่วยเพราะได้รับสารเอฟริดีน แต่พยานไม่ได้สอบถามว่าได้รับสารได้อย่างไร

ไม่คิดใช้ปืนตัดสินปัญหา

เมื่อศาลถามถึงธุรกิจครอบครัว นางอลิสา ตอบยืนยันว่า เรื่องการเงินครอบครัวจะมี รศ.เพลินจิต มารดา เป็นผู้จัดสรรให้โดยเท่าเทียมกันทุกคน โดยบิดาและมารดาของ นพ.ประกิตเผ่า มีความยุติธรรม ซึ่งจำนวนพี่น้อง นพ.ประกิตเผ่าเป็นผู้ได้รับส่วนแบ่งมากที่สุด และเมื่อเดือน พ.ย. 49 มารดายินยอมที่จะโอนกิจการให้ นพ.ประกิตเผ่าบริหาร ทั้งนี้พยานยืนยันด้วยว่า พี่น้องคนอื่นประกอบวิชาชีพด้วย ไม่ได้รับรายได้จาก การบริหารสถาบันกวดวิชาเพียงอย่างเดียว ซึ่งพี่น้องไม่มีปัญหากับส่วนแบ่งรายได้ที่ นพ.ประกิตเผ่าได้มากกว่าคนอื่น และเมื่อศาลสอบถามเกี่ยวกับความเชื่อไสยศาสตร์ นางอลิสาตอบว่า มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วเมื่อศาลถามถึงอาวุธปืน นางอลิสาตอบว่า พยานสามารถยิงปืนได้ เพราะเคยติดตามสามีไปยิงปืนและสามีเคยให้อาวุธไว้ แต่พยานไม่เคยติดตัวไว้ รวมทั้งพยานไม่เคยคิดว่าจะมีปัญหาร้ายแรงขนาดที่จะต้องใช้อาวุธเป็นเครื่องมือตัดสิน

พี่ชายยันไม่มีเรื่องผลประโยชน์

ต่อมา นพ.ประกิตพันธ์ พี่ชาย นพ.ประกิตเผ่า เข้าเบิกความสรุปว่า นพ.ประกิตเผ่าเข้ามาบริหารงานสถาบันกวดวิชาเมื่อปี 2537 ซึ่งรายได้หลักของครอบครัวมาจากสถาบันกวดวิชา ครอบครัวไม่เคยมีปัญหาเรื่องรายได้ โดยตนมีอาชีพรับราชการเป็นอาจารย์นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้รับปันผลประโยชน์จากสถาบันกวดวิชา แต่เมื่อมีครอบครัวหรือความจำเป็น มารดาก็จะจัดสรรให้เพราะเป็นสิทธิที่จะต้องได้รับ โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 49 มารดาต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูแลน้องสาว จึงมอบอำนาจการสั่งจ่ายเงินให้ นพ. ประกิตเผ่ามีอำนาจอนุมัติเพียงคนเดียวเพื่อความสะดวก โดยไม่ได้ให้อำนาจบริหารแก่ นพ.ประกิตเผ่าแต่อย่างใด ปกติเป็นคนแจ่มใสร่าเริง ต่อมากลับมีอาการสะลึมสะลือ บางครั้งวิ่งออกไปโดยบอกว่าจะไปนั่งสมาธิ ส่วนตัวไม่เชื่อว่าน้องชายคิดมากเรื่องผลประโยชน์ในสถาบันกวดวิชา เพราะได้รับส่วนแบ่งมากอยู่แล้ว

อ้างโดนคุณไสยขอเลิกกับเมีย


นพ.ประกิตพันธ์เบิกความต่อว่า เดือน ม.ค. หมอประกิตเผ่าเริ่มมีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิมกับภรรยา หายไปทุกสัปดาห์ เมื่อกลับมาก็มักจะอาละวาดภรรยา หาว่าพูดจาไม่เข้าหู ทำให้ภรรยา นพ.ประกิตเผ่าต้องหนีไปบวช และเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำใจ และเมื่อวันที่ 9 และ 12 ก.พ. นพ.ประกิตเผ่ามาหาบิดามารดา และโทรศัพท์ มาคุยกับตนว่าจะเลิกกับภรรยา เพราะถูกทำคุณไสยเสกตะปูเข้าท้องจนอาเจียนเป็นเลือด ตนนึกไม่ออกว่าจะช่วยอย่างไร ต่อมาวันที่ 16-17 ก.พ. น้องชายโทรศัพท์ มาหาอีกครั้ง บอกหายใจไม่ออก ตนกลัวว่าน้องชายจะเสียชีวิต จึงถามว่าทำอย่างไรจึงจะไปพบได้ โดยน้องชายตอบว่า ให้พาภรรยาไปจดทะเบียนหย่า ที่ว่าการอำเภอพุทธมณฑล เวลา 10.00 น. วันที่ 19 ก.พ. จึงตอบตกลงไปพร้อมกับบิดามารดา

ไม่ได้เอาไปขังศรีธัญญา

นพ.ประกิตพันธ์เบิกความว่า ดังนั้น จึงได้ประสาน พ.ต.ท.ธีรศักดิ์ ภิญโญ ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 191 ซึ่งรู้จักกัน ให้ประสานกับผู้กำกับการ สภ.อ.พุทธมณฑล ลงบันทึกประจำวันในการนำตัว นพ.ประกิตเผ่าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีธัญญา พร้อมขอกำลังสนับสนุน เมื่อถึงเวลาพบกับ นพ.ประกิตเผ่า จึงเข้าตรวจค้นตัวและรถยนต์ของน้องชาย พบอาวุธปืนรวม 3 กระบอก และนำน้องชายขึ้นรถยนต์ เมื่อน้องชายไม่เห็นภรรยา แต่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนาย จึงเข้าใจด้วยตัวเองว่ากำลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีทำร้ายร่างกาย หรือฆาตกรรมภรรยา พร้อมบอกว่าไม่ได้เป็นคนฆ่าใครตลอดทาง ขอยืนยันว่า การนำตัวน้องชายไปรักษานั้น ไม่ได้เป็นการหลอกลวงหรือเอาตัวไปคุมขังโดยมิชอบตามที่มีผู้ร้อง

นพ.ประกิตพันธ์เบิกความต่อไปว่า เมื่อไปถึงโรงพยาบาลศรีธัญญา คณะแพทย์ก็ได้รับตัวน้องชายไว้ แล้วตรวจร่างกายทันที ตนไม่ได้เข้าไปดูอาการ เพียงแต่ ให้ประวัติคนไข้เท่านั้น ช่วงนั้นตนเข้าไปถอดเสื้อเกราะ เพื่อหมอจะได้ให้น้ำเกลือ ตอนนั้นเขาพูดว่าเขาอยู่ในโรงพยาบาลแล้วรู้สึกปลอดภัย ตนยังขอให้เพื่อนคือ พ.ต.ท.ธีรศักดิ์ ภิญโญ สังกัด 191 ส่งตำรวจมาอารักขาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้น

ศาลบอกอาการยังไม่หาย

จากนั้นศาลแจ้งว่า เนื่องจากมีพยานต้องไต่สวนหลายปาก และมีข้อเท็จจริงที่ศาลต้องประชุมสำนวน และทำคำสั่งศาล และเท่าที่ฟังการไต่สวนมาก็พอจะเห็นเค้าโครงแล้วว่าคดีจะออกมาอย่างไร จึงต้องไต่สวนพยานเป็นแพทย์ที่ให้การรักษาอีก 2 ปาก ส่วนการตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เท่าที่ศาลรู้อาการยังไม่หาย และถ้าญาติเห็นว่าไม่ปลอดภัย จะส่งตำรวจไปอารักขาก็ได้ และถาม นพ.ประกิตพันธ์ว่า ให้นำ พ.ต.ท. ธีรศักดิ์มาศาลได้หรือไม่ นพ.ประกิตพันธ์ตอบว่า นำมาได้ เพราะเป็นเพื่อนเรียนมาด้วยกัน ศาลจึงถามคู่ความว่าศาลจะไต่สวนต่อไปวันจันทร์ที่ 12 มี.ค. โดยให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินร์รักษาตัว นพ.ประกิตเผ่าไปพลางก่อน จะขัดข้องหรือไม่ คู่ความแถลงไม่ขัดข้อง

ห้ามคู่กรณีออกมาแถลงข่าว


จากนั้นศาลได้ออกข้อกำหนดว่า ที่ผ่านมามีการแถลงข่าวของฝ่ายผู้ร้องและผู้คุมขังกับญาติ ศาลห้ามแถลงข่าวอีกเพราะเป็นการชี้นำและกดดันศาล คดีนี้ศาลพยายามให้ข้อเท็จจริงปรากฏออกมา จึงอย่าให้มีส่วนหนึ่งส่วนใดของข่าวมากดดันให้ศาลยกคำร้องหรือเห็นพ้องกับคำร้อง ทั้งนี้ เพื่อให้คดีนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของกฎหมาย ป.วิอาญามาตรา 90 จากนั้นศาลจะสืบพยานลับเป็นแพทย์ 2 ปาก และให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากห้องพิจารณา และเมื่อศาลฟังคำเบิกความแล้วศาลจะมีคำสั่งกระบวนพิจารณาต่อไป

พิจารณาเสร็จไม่เกินบ่าย 12 มี.ค.

จากนั้นศาลได้ทำการไต่สวนในทางลับพยานอีก 2 ปาก คือ นพ.ไพฑูรย์ สมุทรสินธุ์ เจ้าของไข้ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา กับ พญ.ดวงตา ไกรพัฒน์พงษ์ โดยห้ามไม่ให้ ผู้เกี่ยวข้องเข้ารับฟัง กระทั่งเสร็จสิ้นลงเมื่อเวลา 20.30 น. นายพิทักษ์ เริ่มก่อกุล ในคณะผู้พิพากษากล่าวต่อคู่ความว่า แม้คดีนี้ตามกฎหมายจะต้องมีคำสั่งโดยด่วน แม้จะเร่งทำการไต่สวนแล้ว แต่ติดที่เงื่อนเวลา นอกจากนั้นยังต้องชั่งน้ำหนักและประชุมศึกษาข้อมูล ซึ่งยังต้องไต่สวนพยานเพิ่มเติมอีก 1 ปาก ทำให้คาดว่าการพิจารณาในเรื่องนี้จะเสร็จสิ้นไม่เกินบ่ายวันจันทร์ที่ 12 มี.ค. ที่จะถึงนี้

ระบุหมอป่วยมาขึ้นศาลไม่ได้

จากนั้นได้อ่านกระบวนการพิจารณาทั้งหมดตลอดทั้งวันที่ผ่านมาให้คู่ความฟัง โดยมีใจความสำคัญระบุว่า พญ.ดวงตา ไกรพัฒน์พงษ์ ผู้ตรวจรักษา ส่งหนังสือของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ที่ศาลตั้งให้เป็นแพทย์กลางในการตรวจรักษา โดยระบุถึงอาการของ นพ.ประกิตเผ่า พร้อมแถลงถึงสาเหตุที่ไม่สามารถนำตัว นพ.ประกิตเผ่า มาเบิกความได้ เนื่องจากยังมีอาการป่วยทางจิต จึงมาไต่สวนไม่ได้ ส่วนการพิจารณาลับแพทย์ทั้งสอง คือ นพ. ไพฑูรย์ สมุทรสินธุ์ และ พญ.ดวงตา ไกรพัฒน์พงษ์ ศาลได้รับเอกสารไว้แล้ว

อนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้แล้ว


ขณะที่ พญ.ดวงตาระบุว่า ในการรักษาผู้ป่วย ถ้าจะให้อาการดีขึ้น ต้องให้ญาติและผู้เกี่ยวข้องเข้าพบผู้ป่วยเพื่อประโยชน์แก่การรักษา ทั้งนี้ ในการเข้าเยี่ยมขึ้นอยู่ กับดุลยพินิจของ พญ.ดวงตาจะเป็นผู้อนุญาต โดยการเยี่ยมจะต้องเป็นผลดีต่อการรักษาเท่านั้น

จากนั้นคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายจึงออกมาจากห้องพิจารณาคดี ผู้สื่อข่าวเข้าไปถาม น.ส.เปมิกาว่าจะไปเยี่ยม นพ. ประกิตเผ่าหรือไม่ น.ส.เปมิกานิ่งเฉยไม่ตอบคำถาม แล้วเดินจากไปพร้อมกับบิดาและมารดา เมื่อเข้าไปถาม รศ. เพลินจิตที่เดินออกมาพร้อม นพ.ประกิตพันธ์ และนางอลิสา

ได้คำตอบจาก รศ.เพลินจิตว่า ยังไม่ไป พร้อมกับเอ่ยปากขอโทษผู้สื่อข่าวว่าให้สัมภาษณ์อะไรไม่ได้แล้วเพราะศาลสั่งไว้ ขณะที่ พญ.ดวงตา แพทย์ผู้ดูแลรักษา นพ.ประกิตเผ่า ระหว่างรักษาตัวอยู่ที่สถาบันกัลยาณ์-ราชนครินทร์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการที่ญาติจะเข้าเยี่ยม นพ.ประกิตเผ่าว่า การเข้าเยี่ยมผู้ป่วยต้องอยู่ ในหลักเกณฑ์ของศาล คือต้องมีผลดีต่อผู้ป่วย แต่ใครจะเข้าเยี่ยมต้องพิจารณากันอีกครั้ง

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวสารที่มีคุณภาพ จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ





เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์