แจงใช้กำไลฝังชิพกับนักโทษชรา-ป่วยหนัก ไม่เกี่ยวคดีการเมือง

แจงใช้กำไลฝังชิพกับนักโทษชรา-ป่วยหนัก ไม่เกี่ยวคดีการเมือง


 รมว.ยุติธรรม แจงข่าวใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์คุมขังนักโทษนอกคุก ระบายความแออัดในเรือนจำ เผยยังไม่พร้อมใช้งาน ย้ำเน้นนักโทษชรา-ป่วยหนัก ไม่เกี่ยวนักโทษการเมือง

            สืบเนื่องจากกรณีที่มีการเผยแพร่กฎกระทรวงฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกแบบอื่น โดยให้นักโทษใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตัว แทนการจำคุก ในกรณีที่จำเป็น ซึ่งสามารถตรวจสอบที่อยู่ และจำกัดขอบเขตในการเดินทางได้ จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าจะทำให้ประชาชนไร้ความปลอดภัย ตามที่ได้รายงานข่าวไปนั้น

            ล่าสุด วานนี้ (26 มีนาคม 2556) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำทีมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เปิดแถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า มาตรการควบคุมนักโทษแทนการคุมขังในเรือนจำ ถือเป็นวิวัฒนาการซึ่งหลายประเทศทั้งอังกฤษ แคนาดา นำมาใช้ ส่วนในเอเชียมีสิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า Electronic Monitoring หรือ EM มาใช้แทนการคุมขังในเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนนักโทษที่ถูกจำคุกประมาณ 260,000 คน จากเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง ขณะที่มีความสามารถในการรองรับนักโทษได้เพียง 190,000 คน จึงต้องมีแนวคิดเสริมในการระบายนักโทษออกไปคุมขังยังสถานที่ข้างนอกเพื่อลดจำนวนนักโทษในเรือนจำ

           
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตจะมีผลบังคับใช้ทันทีหลังจากประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา แต่กระทรวงฯ ก็จะต้องออกกฎระเบียบและวิธีการปฏิบัติให้เร็วที่สุด ขอให้ผู้ที่จะยื่นขอใช้สิทธิ์รอไปก่อน เพราะจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกฎกระทรวงดังกล่าวมีการเปิดกว้างไว้ค่อนข้างมาก

            นอกจากนี้ พล.ต.อ.ประชา กล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าวจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ต้องขัง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

            1. ผู้ต้องหาชราหรือป่วยเป็นโรคเอดส์ระยะสุดท้าย ไตวายเรื้อรัง มะเร็งระยะสุดท้าย หากจำคุกต่อไปต้องเสียชีวิตและต้องออกไปรับการรักษา เช่น ฟอกไต หรือฉายรังสี ทุกสัปดาห์
            2. กลุ่มที่ต้องออกไปดูแลลูกและภรรยาหรือพ่อแม่ที่แก่ชราและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
            3. กลุ่มผู้เจ็บป่วยเรื้อรังและต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง
            4. กลุ่มนักโทษที่มีเหตุทุเลาการลงโทษ เช่น ต้องคลอดบุตร หรือวิกลจริต

            โดยญาติจะต้องร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลอีกครั้ง ส่วนศาลจะมีดุลยพินิจอย่างไร ถือเป็นอำนาจของศาล ซึ่งการปฏิบัติจะต้องมีความชัดเจน โดยจะใช้ระบบจีเอสเอ็มในการติดตามตัว ซึ่งปัจจุบันทางกรมราชทัณฑ์มีแนวปฎิบัติให้ลดวันต้องโทษและพักการลงโทษกับนักโทษชราและนักโทษเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายอยู่แล้ว

            ขณะที่ทางด้าน นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า เงื่อนไขสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ คือ บังคับใช้เฉพาะกับนักโทษที่ต้องโทษจำคุกแล้วและอยู่ในการคุมขังของเรือนจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามที่ศาลมีคำสั่ง ถ้าใครไม่เข้าเงื่อนไขก็ใช้วิธีการนี้ไม่ได้


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์