อธิการบดีจุฬาอ้อนม็อบอุเทนถวาย 15มีนาฯ ชุมนุมอย่างสงบ ระบุไม่ได้รุมเร้าให้ย้ายออกในวันสองวัน
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการเชิญนายสืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย พร้อมด้วยนายอภิชาติ จิระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เข้าหารือกรณีข้อพิพาทการทวงคืนที่ดินบริเวณ มทร.ตะวันออกวิทยาเขตอุเทนถวาย ว่า ทางอุเทนถวายได้ให้ข้อมูลว่าที่ดินมีที่มาอย่างไร โดยอ้างว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยเช่าที่ดินจากจุฬาเลย จนกระทั่งมาถึงปี 2482 ที่ดินทั้งหมดในละแวกนั้นซึ่งเป็นที่ดินพระราชมรดกต้องโอนให้จุฬาฯ อุเทนถวายถวายฎีกา
โดยขณะนี้เรื่องยังอยู่ในขั้นตอนการถวายฎีกา เพราะยังไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยลงมา ส่วนกรณีที่คณะกรรมการชี้ขาดการยุติการดำเนินคดีแพ่งของหน่วยราชการและหน่วย งานที่เกี่ยวข้อง ( กยพ.)ระบุว่าที่ดินเป็นสิทธิ์ของจุฬาฯ และให้อุเทนถวายย้ายออกไปนั้น ทางอุเทนถวายอ้างว่าในชั้นนี้อุเทนถวายฯไม่ได้มีส่วนเข้าไปสู้คดีเลย
"ข้อมูลที่ได้จากจุฬาฯ และอุเทนถวายในขณะนี้ บางส่วนตรงกันบางส่วนไม่ตรงกัน ดังนั้นในส่วนที่ต่างกันคงต้องขอข้อมูลมาดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทางอุเทนถวายจะส่งเอกสารข้อมูลต่างๆ มาให้ นอกจากนี้จะขอดูเอกสารกรณีที่กยพ.ด้วย ดังนั้นคงต้องรอดูเอกสารก่อน และยังไม่นัดทั้งสองฝ่ายมาเจอกัน ทั้งนี้คาดว่าน่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่นาน" นายพงศ์เทพ กล่าวและว่า ขณะนี้อุเทนถวายยังยืนยันว่ามีสิทธิ์ในพื้นที่นี้อยู่ และจะยังไม่ย้ายออกไป แต่ได้ขอให้อุเทนถวาย กลับไปคิดทบทวนด้วยว่าการอยู่ที่เดิมกับการย้ายไปอยู่ที่ใหม่บริเวณ ต.บางปิ้ง จ.สมุทรปราการ มีพื้นที่กว้างขวางกว่ากันมาก พื้นที่ใดจะมีประโยชน์ต่อการศึกษามากกว่ากัน ทั้งนี้หากอุเทนถวายยอมที่จะย้ายที่ดิน ทางรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณที่จะใช้พัฒนาสถานที่ใหม่ให้กับอุเทนถวายอยู่ แล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2550
นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์เหตุการณ์ทั้งหมด มีข้อยุติเชิงกฎหมาย แล้วซึ่งยืนยันว่า จุฬาฯเข้าใจ เห็นใจ และเคารพการตัดสินใจของอุเทนถวาย โดยพยายามช่วยเหลือทุกวิถีทาง เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา เข้าพบรัฐมนตรีว่าการศธ.
โดยขอให้ ศธ.อนุเคราะห์ จัดสรรงบประมาณในการขนย้าย และขอใช้ที่ดินราชพัสดุ เพราะเชื่อว่าหากอุเทนถวายยังไม่ได้รับสิ่งที่มาคอยเอื้อประโยชน์ตรงนี้ อุเทนถวายเองคงยังไม่สามารถย้ายได้ ทั้งนี้จุฬาฯ ไม่ได้รุมเร้าให้ออกไปในวันสองวัน ถ้ายังไม่ได้ที่ดินใหม่ ก็เข้าใจและเห็นใจ คงต้องนั่งคุยกันทุกฝ่าย ทั้ง ศธ. อุเทนถวายและ จุฬาฯ โดยวางแผนอนาคตว่าควรย้ายไปช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ้าตกลงได้และเกิดผลดีทุกฝ่าย ก็น่าเป็นทางออกที่ดี
อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวยังถึงกรณีที่มีข่าวว่า ศิษย์เก่าอุเทนถวาย จะรวมตัวกันวันที่ 15 มีนาคม เพื่อทวงคืนที่ดินจากจุฬาฯ โดยส่งจดหมายอิเลคทรอนิกส์มีข้อความว่า "พี่ๆที่รักทั้งหลาย ถ้าไม่จำเป็นช่วงเช้าวันที่ 15 มีนาคมกรุณาอย่าใช้เส้นทางการจรจรเส้นจุฬาฯมาบุญครอง เพราะ โรงเรียนอุเทนถวาย ทั้งศิษย์เก่าใหม่ทั่วสยามทั้งหมดชุมนุมที่ โรงเรียนอุเทนถวาย เตือนภัยมาก่อนที่จะเข้าไปโดยไม่รู้ ช่วยบอกต่อและระวังลูกหลานพวกเราด้วย เพราะเขาจะเรียนร้องเอาที่ดินที่ตั้งโรงเรียนคืนจากจุฬาฯ ไม่ทราบอะไรจะเกิดขึ้น" นั้น ทางจุฬาฯ เคารพในการตัดสินใจของชาวอุเทพฯ เชื่อมั่นในเกียรติภูมิชาวอุเทนถวาย ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่จะไม่ทำอะไรเกิดผลกระทบต่อประเทศ และสังคมในภาพรวม และคิดว่าคงไม่เกิดเหตุการณ์อะไร ซึ่งที่ผ่านมานักศึกษาอุเทนถวาย มาพบกับนายกองค์การนิสิตจุฬาฯ เป็นภาพที่ดี และเชื่อว่าถึงแม้จะเป็นการชุมนุมก็เป็นการชุมนุมโดยสงบ ทั้งนี้กิจกรรมที่จุฬาฯจัดในวันที่ 15 มีนาคม เช่น การแสดงของวงสุนทราภรณ์ ยังจัดตามปกติ
"จดหมายที่ส่งต่อทางสื่อออนไลน์ ส่งผลให้คนหวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย ส่งผลกระทบต่างๆ สร้างความไม่สบายใจให้ประชาชน นิสิตนักศึกษา นักท่องเที่ยวนักธุรกิจ หลายคนเกรงมือที่สาม ผมคิดว่า หากเราใช้วิธีการคุยกัน หรือหากจะมีการชุมนุมก็ขอให้เป็นการชุมนุมโดยสงบ ผมเชื่อในเกียรติภูมิของชาวอุเทนถวาย ซึ่งทุกฝ่ายก็คงไม่อยากให้เกิดความเดือดร้อน" นพ.ภิรมย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในช่วงก่อนจะถึงวันที่ 15 มีนาคม จะมีการนัดหารือกับผู้บริหารของอุเทนถวาย เพื่อวางมาตรการป้องกันหรือไม่ นพ.ภิรมย์กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการนัดหมาย เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น