สารอีเฟดรีนไม่ตกค้างในคน หมอชี้พบ200เท่าในครั้งเดียว

สารอีเฟดรีนใช้ฉีดเท่านั้นหมอชี้พบ200เท่าได้รับในครั้งเดียว


เพื่อนสาวคนสนิทสงสัยแหล่งที่มาสารอีเฟดรีน ที่ตรวจพบในตัว "หมอประกิตเผ่า" ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ รพ.รามาฯ ระบุ สารอีเฟดรีน ไม่ตกค้างในร่างกายมนุษย์แม้รับสารต่อเนื่องเป็นเวลานาน หากตรวจพบในปริมาณมากเกิดจากการรับสารปริมาณมากในครั้งเดียว

ด้านเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญวัตถุเสพติด อย. ระบุ ในประเทศไทยเลิกผลิตเป็นชนิดเม็ดมากว่า 30 ปี เหลือใช้เฉพาะชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดรักษาโรคภูมิแพ้รุนแรง ชี้ผู้ป่วยโรคจิตไม่น่าจะสามารถนำเข้าร่างกายได้เอง

ขณะที่ ผอ.รพ.ศรีธัญญาเซ็นคำสั่งตั้งคณะแพทย์รักษาอาการเจ้าของสถาบันกวดวิชาเป็นกรณีพิเศษ ด้าน ผบก.น.2 สั่งปิดปากพนักงานสอบสวนหวั่นกระทบชื่อเสียงองค์กร


หลังจากแพทย์ผู้รักษาอาการป่วยออกมายืนยันว่า


หลังจากแพทย์ผู้รักษาอาการป่วยของ น.พ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ เจ้าของสถาบันแอพพลาด์ฟิสิกส์ ออกมายืนยันว่า น.พ.ประกิตเผ่าป่วยด้วยอาการทางจิตไปแล้วนั้น แต่ น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต เพื่อนสาวคนสนิทที่ได้รับการขอร้องจาก น.พ.ประกิตเผ่า ให้ช่วยเหลือนำตัวออกจากโรงพยาบาลศรีธัญญา ก็ยังคงเคลือบแคลงสงสัยอยู่

โดยล่าสุด น.ส.เปมิกา ได้ตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของสาร "อีเฟดรีน" ซึ่งแพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญา ระบุว่าตรวจพบในปัสสาวะของ น.พ.ประกิตเผ่า ในวันที่รับเข้ารักษาตัว ว่าสารดังกล่าวอยู่ในร่างกายของ น.พ.ประกิตเผ่า ได้อย่างไร

น.ส.เปมิกา ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว "คม ชัด ลึก" เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ว่า ขณะนี้กำลังรอการไต่สวนในชั้นศาล ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม ซึ่งหากผลออกมาอย่างไรจึงจะทบทวนอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ทั้งนี้ตนยืนยันว่าที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็เพราะได้รับการร้องขอจาก น.พ.ประกิตเผ่า

น.ส.เปมิกา กล่าวว่า ตนไม่สามารถรับรู้เรื่องราวทั้งหมดได้เลยหาก น.พ.ประกิตเผ่า ไม่เล่าให้ฟัง และอยากให้สังคมลองพิจารณาดู ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ น.พ.ประกิตเผ่า ไปพบปลัดอำเภอพุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อขอจดทะเบียนหย่า แต่ไม่ได้นำทะเบียนสมรสไป จึงกลับไปที่บ้านพักซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่ว่าการอำเภอพุทธมณฑลมากนัก ทั้งที่ น.พ.ประกิตเผ่า ไม่ได้กลับไปพักที่บ้านหลังนี้มาระยะหนึ่งแล้ว


น.ส.เปมิกา กล่าวต่อว่า


หลังจาก น.พ.ประกิตเผ่า กลับบ้านพักเพื่อไปเอาทะเบียนสมรส ก็ไม่ได้กลับออกมาอีกทั้งที่นายธวัชชัย แก้วคงคา ปลัดอำเภอพุทธมณฑล รออยู่ แต่ รศ.เพลินจิต ทมทิตชงค์ มารดาของ น.พ.ประกิตเผ่า กลับเดินทางไปพบนายธวัชชัยแทน และแจ้งให้นายธวัชชัย ทราบว่า

ได้พูดคุยตกลงกับ น.พ.ประกิตเผ่า เรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นาน น.พ.ประกิตเผ่ากลับถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลศรีธัญญา และต่อมาก็มีการตรวจพบสารอีเฟดรีนในร่างกายหมอมากมายได้

สำหรับข้อสงสัยการตรวจพบสารอีเฟดรีนในปัสสาวะของ น.พ.ประกิตเผ่า ที่แพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญาระบุว่าพบสารดังกล่าวมากกว่าคนปกติถึง 200 เท่านั้น ซึ่งเป็นชนวนที่ทำให้ น.ส.เปมิกา สงสัยแหล่งที่มาของสารดังกล่าว โดยน.ส.เปมิกา ระบุว่า ที่ผ่านมา น.พ.ประกิตเผ่า ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ และรับประทานยารักษาอาการอยู่เป็นประจำ

ผู้สื่อข่าว "คม ชัด ลึก" ได้สอบถาม ผศ.น.พ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ หน่วยโรคภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ถึงข้อสงสัยดังกล่าว

โดย ผศ.น.พ.กิตติ ได้ให้ความเห็นว่าปกติแล้วแม้ว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะรับประทานยารักษาอาการอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลายาวนานก็ไม่น่าจะมีสารตกค้างอยู่ในร่างกาย หากตับและไตของผู้ป่วยไม่มีปัญหา อีกทั้งถึงแม้ว่าตับและไตของผู้ป่วยจะมีปัญหา ก็ไม่น่าจะมีสารตกค้างอยู่ในร่างกายในปริมาณมาก


ผศ.น.พ.กิตติ กล่าวต่อว่า


ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ที่มีอาการหืดหอบรวมอยู่ด้วย แพทย์จะให้ยาขยายหลอดลม หรือยาพ่น ลดอาการอักเสบของหลอดลม และจะให้ยาลดอาการบวมของหลอดลม และยาฉีดรักษาอาการเกี่ยวกับสารที่ผู้ป่วยแพ้ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความเคยชิน

ผศ.น.พ.กิตติ กล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มักได้รับยาลดน้ำมูกที่มีส่วนผสมของสารอีเฟดรีนและสารแอนตี้อีสตามีน เพื่อลดอาการบวมของเยื่อบุโพรงจมูกและหลอดลม ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องรับประทานยาต่อเนื่องกันวันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งยาจะออกฤทธิ์อยู่ในร่างกายประมาณ 4-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะถูกตับและไตขับออกมาจนหมด โดยผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงซึมอยู่ประมาณ 1-2 วัน

"สารดังกล่าวจะถูกตับและไตขับออกมาจนหมด น้อยมากที่จะมีการตกค้างอยู่ในร่างกาย แม้ว่าผู้ป่วยจะรับประทานยาที่มีส่วนผสมของสารอีเฟดรีนอย่างต่อเนื่องและยาวนานก็ตาม ทั้งนี้สารดังกล่าวอาจส่งผลให้มือสั่น ใจสั่น เพราะมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ" ผศ.น.พ.กิตติ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวต่อว่า ปริมาณสารอีเฟดรีน ที่มีอยู่ในร่างกายมากกว่าคนปกติถึง 200 เท่านั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดจากการตกค้างในร่างกาย แต่น่าจะเป็นเพราะรับยามาในเวลาเดียวกันในปริมาณมาก โดยอาจจะรับเข้าไปโดยการกินทีเดียวพร้อมกันประมาณ 10-30 เม็ด หรือรับด้วยวิธีการฉีดเข้าร่างกาย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตราย หัวใจอาจจะล้มเหลวเสียชีวิตได้


ขณะที่เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเสพติด เปิดเผยว่า


ขณะที่เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายหนึ่ง เปิดเผยกับ "คม ชัด ลึก" ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเลิกผลิตสารอีเฟดรีน เป็นแบบชนิดเม็ด เพื่อรักษาอาการโรคภูมิแพ้มานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่ในต่างประเทศยังคงผลิตเป็นชนิดเม็ดใช้อยู่

ปัจจุบันในประเทศไทยใช้สารอีเฟดรีนในรูปแบบของยาฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อรักษาอาการผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง ที่มีอาการช็อกหมดสติ ซึ่งทันทีที่ผู้ป่วยได้รับสารดังกล่าวเข้าไปก็จะทำให้ฟื้นสติ ทั้งนี้จะไม่ใช้ยาดังกล่าวต่อเนื่อง จะใช้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยช็อกหมดสติเท่านั้น โดยสารดังกล่าวจะมีฤทธิ์อยู่ในร่างกายผู้ป่วยประมาณ 4-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะถูกขับออกจากร่างกายโดยไม่ตกค้าง

เภสัชกรรายเดิม กล่าวด้วยว่า สารอีเฟดรีน เป็นสารควบคุม ในประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเพียงรายเดียว โดยโรงพยาบาลทุกแห่งจะต้องซื้อสารดังกล่าวเพื่อรักษาผู้ป่วยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น อีกทั้งต้องทำบัญชีการใช้สารดังกล่าวอย่างเข้มงวดและต้องทำรายงานการใช้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับทราบทุกเดือน

"กรณีของหมอประกิตเผ่า ที่ตรวจพบสารอีเฟดรีนในร่างกายในปริมาณมากกว่าคนปกติ 200 เท่านั้น ทำให้ผมแปลกใจมาก และเชื่อว่าเป็นการตั้งใจรับเข้าร่างกาย ไม่ใช่เกิดจากการตกค้าง เพราะสารชนิดนี้ร่างกายจากขับออกได้หมด อีกทั้งสารอีเฟดรีน จะไม่ใช้ต่อเนื่อง มีไว้เพื่อฉีดเข้าเส้นเลือดของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกหมดสติเท่านั้น และทันทีที่ผู้ป่วยฟื้นก็จะหยุดใช้ทันที" เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเสพติด ระบุ


เภสัชกรรายเดิมยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า


ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต หรือบุคคลที่อยู่ในอาการคลุ้มคลั่ง ไม่น่าจะฉีดสารอีเฟดรีนเข้าเส้นเลือดได้เอง เพราะต้องฉีดเข้าเส้นเลือดโดยตรง ผู้ที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ไม่น่าจะทำได้ อีกทั้งสารอีเฟดรีน เมื่อนำเข้าสู่ร่างกายเกินขนาดก็จะทำให้ผู้รับฟั่นเฟือน มีอาการซึม และหวาดระแวง จนกลายเป็นบุคคลที่มีปัญหาทางจิตได้ อีกทั้งหากรับสารเข้าร่างกายจำนวนมากก็อาจทำให้หัวใจล้มเหลวเสียชีวิตได้

วันเดียวกัน น.พ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรักษาอาการของ น.พ.ประกิตเผ่า ว่า ได้ประสานไปยัง ศ.พ.ญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อขอให้จัดตั้งทีมจิตแพทย์ให้ความเห็นเกี่ยวกับการวินิจฉัยอาการของ น.พ.ประกิตเผ่าแล้ว และยังได้ตั้งกรรมการแพทย์ในลักษณะทีมสหวิชาชีพ

ถือเป็นการตั้งทีมแพทย์เป็นกรณีพิเศษ จากเดิมที่คนไข้จะมีแพทย์ 1 คนดูแล ส่วน น.พ.ประกิตเผ่า จะเดินทางไปศาลตามนัดได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของทีมแพทย์

ขณะที่ ศ.พ.ญ.นงพงา กล่าวว่า ได้ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน ได้แก่ รศ.น.พ.ณรงค์ สุภัทรพันธุ์ จิตแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี พ.อ.พ.ญ.นวพร หิรัญวิรัตน์กุล จิตแพทย์จากโรงพยาบาลพระมุงกุฎเกล้า และ น.พ.เกษม ตันติผลาชีวะ จากโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ไปร่วมตรวจสอบอาการ

โดยแพทย์ทั้ง 3 คน ได้ร่วมวินิจฉัย และสรุปความเห็นส่งให้ น.พ.เกียตริภูมิ เพื่อประกอบการไปให้ปากคำที่ศาลในวันที่ 2 มีนาคม 2550 แล้ว ส่วนรายละเอียดไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นเรื่องของคนไข้



"ขอยืนยันว่าไม่มีจิตแพทย์คนไหนที่จะบอกว่าคนธรรมดาเป็นคนป่วย เพราะการพูดเช่นนั้นถือว่าบาปกรรมมาก และเป็นการเพิ่มภาระให้แก่แพทย์ เพราะปัจจุบันแพทย์ต้องรับภาระหนักอยู่แล้ว ดิฉันยืนยันว่าเมืองไทยคงไม่มีหรอกจะมีก็คงในต่างประเทศเป็นสมัยก่อน เช่น ที่รัสเซีย ที่มีเรื่องของการเมืองและต้องการกำจัดคู่ต่อสู้ทางการเมืองจึงเอาเรื่องนี้ไปเกี่ยวข้อง

เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องตั้งแต่สมัยโบราณการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในตอนนี้ถือว่าแย่มาก ทำให้ผู้ป่วยหวาดระแวงที่จะเข้ารับการรักษา" ศ.พ.ญ.นงพงา กล่าวและย้ำว่า จิตแพทย์ไม่ต้องการให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแม้แต่คนเดียว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาก็มีคนที่มีปัญหาทางจิตหลายคนไม่ยอมรับว่าตนเองมีปัญหา

ศ.พ.ญ.นงพงา กล่าวว่า การที่ราชวิทยาลัยได้ส่งจิตแพทย์ 3 ท่านไปร่วมตรวจวินิจฉัยซ้ำ เป็นการตรวจยืนยันครั้งที่ 2 เพื่อให้สังคมหายข้องใจ ไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลศรีธัญญาตรวจวินิจฉัยเองไม่ได้ เพราะแพทย์ที่โรพยาบาลนี้มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว

ศ.พ.ญ.นงพงา กล่าวด้วยว่า การตรวจวินิจฉัยว่าใครเป็นโรคจิตหรือไม่นั้น สามารถทราบผลได้ภายในชั่วโมงเดียว และทุกประเทศก็มีวิธีการตรวจสอบเหมือนกัน ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยโรคจะดูอาการแสดง 3 ประการ คือ

ความผิดปกติทางความคิด
ความผิดปกติทางอารมณ์ และ
ความผิดปกติทางพฤติกรรม

ซึ่งจิตแพทย์เพียงคนเดียวก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นคณะแพทย์ แต่ถ้าเกิดความไม่ไว้วางใจอย่างกรณี น.พ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ก็ต้องตั้งขึ้นมาเป็นคณะแพทย์ขึ้นมา


ศ.พ.ญ.นงพงา กล่าวต่อว่า


คำถามที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคจะเป็นคำถามเฉพาะ ซึ่งจิตแพทย์ทุกคนจะได้รับการเรียนการสอนมาเฉพาะทาง โดยเฉพาะอย่างการตรวจสอบความผิดปกติทางความคิด ซึ่งจะแสดงออกมาให้เห็นได้ยากกว่าความผิดปกติทางพฤติกรรมและอารมณ์

เช่น บางคนนั่งสวดมนต์ภาวนาคนเดียว โรยข้าวสาวไว้บนเตียง หรือเอามะนาวมาเรียงต่อๆ กันรอบเตียง เหล่านี้คนส่วนใหญ่จะมองเห็นได้ชัด ความผิดปกติทางอารมณ์ก็เหมือนกัน บางคนคึกคักเป็นพิเศษ หัวเราะคนเดียว บางคนเศร้า เก็บตัวเงียบ ร้องไห้

"แต่สำหรับความผิดปกติทางความคิดจะเห็นได้ยาก จะต้องพูดคุยถึงจะรู้ และต้องพูดคุยให้ถูกจุดด้วย ไม่ใช่พูดทั่วๆ ไปก็จะมองไม่ออก เหมือนกับคนทั่วไปไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ต้องพูดถึงสิ่งที่เขากำลังคิดหรือวิตกกังวลอยู่ แล้วสิ่งที่เขากำลังคิดอยู่ก็จะออกมา" ศ.พ.ญ.นงพงา กล่าว

ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์ บอกด้วยว่า กรณีตรวจพบสารอีเฟดรีนในตัว น.พ.ประกิตเผ่า มากกว่าคนปกติถึง 200 เท่านั้น มีผลต่อการวินิจฉัยโรคด้วยเช่นเดียวกัน ทางการแพทย์เรียกว่า การวินิจฉัยแยกโรค หมายถึง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากสาเหตุนี้ก็ได้ เหมือนกับตำรวจที่มักตั้งประเด็นต่างๆ เอาไว้มากกว่าหนึ่งประเด็น

อย่างไรก็ตาม ศ.พ.ญ.นงพงา ยอมรับว่า สารอีเฟดรีนมีส่วนในการกระตุ้นระบบประสาท แต่จำไม่ได้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไรร่างกายถึงจะขับออกหมด เพราะคนทั่วไปไม่มีใครใช้สารอีเฟดรีนโดยตรงมาก่อน


นอกจากนี้ ศ.พ.ญ.นงพงา ยังให้สัมภาษณ์ในคำถามที่ว่า


มีจิตแพทย์เคยทำให้คนบ้าหรือไม่ว่า เกิดขึ้นได้ยาก เพราะต้องจับคนไข้มัดและจะเกิดความวุ่นวาย ไม่มีใครเขาทำกัน แต่เคยมีในต่างประเทศที่นักการเมืองบังคับให้จิตแพทย์วินิจฉัยคู่แข่งว่ามีอาการทางจิต แต่สมัยนี้คงทำไม่ได้แล้ว เนื่องจากขณะตรวจวินิจฉัยโรค ไม่ได้กระทำกันตามลำพัง

ด้าน น.พ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า คณะจิตแพทย์จากราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้วินิจฉัยอาการ น.พ.ประกิตเผ่า แล้ว มีผลสรุปสอดคล้องกับโรงพยาบาลศรีธัญญา

ซึ่งกรมสุขภาพจิตคงไม่ดำเนินการใดๆ กับพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ ที่อาจทำให้ภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลศรีธัญญา และกรมสุขภาพจิตเสียหาย แต่คิดว่า บิดามารดา พี่ชาย และภรรยาของ น.พ.ประกิตเผ่า คงจะดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว

ขณะที่ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผบก.น. 2 กล่าวว่า ได้สั่งห้ามไม่ให้พนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ ให้ข่าวเกี่ยวกับเรื่อง น.พ.ประกิตเผ่า อีก เนื่องจากเรื่องเข้าสู่ขั้นตอนการไต่สวนพิจารณาในชั้นศาลแล้ว ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องการจะปิดกั้นไม่ให้พนักงานสอบสวนพูด

แต่การพูดจะกระทบกับหลายองค์กร หลายสถาบัน ทั้งครอบครัวของ น.พ.ประกิตเผ่า รวมถึง รพ.ศรีธัญญา ซึ่งเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงและมีศักดิ์ศรีขององค์กร การที่ผู้ปฏิบัติจะสามารถให้ข่าวได้ก็ต้องได้รับอนุมัติจากตนในฐานะผู้บังคับบัญชา ถ้าเป็นระดับพนักงานสอบสวนก็ต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าสถานี


พล.ต.ต.อำนวย กล่าว


"การพูดบางครั้งอาจทำให้กระทบกระทั่งกันและอาจสร้างความเสียหายได้ เพราะทุกองค์กรต่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ซึ่งผมในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ต้องดูแล สำหรับพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีนั้นผมไม่ได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดแต่อย่างไร แต่ได้มีขั้นตอนการตรวจสอบว่าการที่พนักงานสอบสวนทำไปถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ ถ้าทำถูกต้องก็ต้องชมเชย ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องว่ากล่าวตักเตือน "

ส่วนบรรยากาศที่อาคารประสาทวิทยา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ น.พ.ประกิตเผ่า รักษาตัวอยู่นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชายฉกรรจ์ 4 คน ใช้วิทยุสื่อสารในการติดต่อกัน เฝ้าประตูทางเข้าออกอย่างเข้มงวด โดยไม่อนุญาตให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าไปภายในอาคารอย่างเด็ดขาด



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ

จาก หนังสือพิมพ์คม.ชัด.ลึก.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์