รณรงค์ พ.ร.บ.คู่ชีวิต คำว่า เพศ เป็นแค่ตัวอักษร
ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรณรงค์ให้สังคม "เข้าใจ" ว่าทำไมคู่รักที่เป็น "เพศเดียวกันและคู่ของคนข้ามเพศ" จึงออกมารวมตัวกันผลักดัน "ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ..." เพื่อเปิดโอกาสให้คนรักเพศเดียวกันที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย เดิม สามารถจดทะเบียนเป็น "คู่ชีวิต" อันนำไปสู่สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
เนื่องในวันแห่งความรักที่ผ่าน "เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ" กว่า 30 คน ร่วมเดินรณรงค์สร้างความเข้าใจต่อสังคมเพราะสังคมไทยยังมีอคติและมายาคติ เกี่ยวกับนิยามของความรักและสถาบันครอบครัว ที่สร้างกรอบไว้เพียงความรักระหว่างชายหญิงและครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อแม่ ลูก ที่ไปรษณีย์กลาง เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร (สถานที่จัดงานจดทะเบียนสมรสเขตบางรัก) และที่ว่าการอำเภอ จังหวัดเชียงใหม่
ขบวนรณรงค์สร้างความฮือฮาให้กับคู่รักชาย-หญิงไม่น้อย เมื่อปรากฏโฉมของคู่รักทอม-ดี้ แต่งทักซิโด้สุดเนี้ยบควงสาวในชุดแต่งงานสีขาวเกาะ เข้ามายื่อเจตจำนงขอจดทะเบียนสมรส แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้
แม้ ได้รับการปฏิเสธ แต่ทั้งคู่และเครือข่ายก็ร่วมแจกดอกไม้สีขาวผูกโบสีรุ้งแสดงความยินดีกับคู่ บ่าวสาวที่มาจดทะเบียนสมรสกว่า 500 คู่
"เรามาร่วมยินดีกับคู่ที่สมหวังในรัก" คู่บ่าวสาวของงาน "รุ่งทิวา ตังคโนภาส" และ "ภัลลวี จงตั้งสัจธรรม" บอกเหมือนกันด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
"เรา ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมา 9 ปีแล้ว ที่มายื่นในครั้งนี้เพื่อให้สังคมเปิดรับมากขึ้น และจะสู้เพื่อความเป็นธรรมต่อไป" ทั้งคู่ยืนยันเจตนารมณ์
ขณะที่คู่รักเพศเดียวกัน "วราพร ดรุธชาติ-ภัทรญา บุญวัณรัตน์" ที่มาร่วมรณรงค์ด้วย บอกเสริมว่า รู้ว่าความเท่าเทียมทำได้ยาก แต่ที่มารณรงค์เพราะเราก็อยากได้บางสิ่งที่จะสามารถมีได้ อย่างทุกวันนี้ทำงานอยู่ด้วยกันแล้ว
"ทุกวันนี้อุปสรรคในการใช้ ชีวิตคู่ของพวกเราไม่มีปัญหา เพราะว่าเราก็ไม่ได้สนใจรายละเอียดคนที่มองมาจากมุมนอก การจดทะเบียนสมรส ความจริงแล้วกว้างมาก ถามว่าอยากจดไหม ความจริงอยากได้แค่สิทธิที่จะคุ้มครองเราเท่านั้น เหมือนคนทั่วไปได้รับ แต่ก็รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่สังคมจะยอบรับ เพราะว่าแม้คนจะเปิดรับแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เต็มที่ เรียกได้ว่าเปิดกว้างแต่ไม่ยอมรับ ซึ่งเราก็เข้าใจเพราะแค่เรื่องชายหญิง สังคมยังแบ่งกันเลย" วราพร-ภัทรญากล่าว
ด้าน "อัญชนา สุวรรณานนท์" ประธานกลุ่มหญิงรักหญิง "อัญจารี" เผยว่า คิดว่าความรักไม่ได้มีเรื่องของเพศ หรือเรื่องของอายุเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะว่าจริงๆ แล้วคนเพศไหนก็รักกันได้ แต่บางสังคมจะเปิดรับมากน้อยไม่เท่ากัน ส่วนในสังคมไทยเองก็เปิดรับและให้พื้นที่ตรงนี้ค่อนข้างสูง ยกเว้นบางครอบครัวที่ไม่ชอบและเครียดกับเรื่องนี้
"แต่ กฎหมายไทยและนโยบายระดับรัฐกลับไม่ยอมรับกับเรื่องนี้ มันเหมือนกับว่าถ้าไม่ได้เป็นทางการจะเป็นอย่างไรก็ได้ แต่เป็นทางการไม่เห็นด้วย แต่สำหรับกฎหมายคู่ชีวิต ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความรัก แต่เป็นเรื่องของชีวิตคู่ การอยู่ร่วมกัน การสร้างบ้านและความมั่นคงในชีวิตร่วมกัน ทำให้ทำได้ยาก ถ้าสังคมยังไม่ยอมรับ"
อัญชนาบอกอีกว่า ตอนนี้กฎหมายคู่ชีวิตเพิ่งร่างเสร็จร่างแรก ต้องรอให้ ส.ส.ลงนามเพื่อยื่นเข้ารัฐสภา 20 ชื่อ แต่ก่อนที่จะยื่นต้องมีการปรับร่างเพื่อให้ ส.ส.เห็นด้วย ในช่วงปรับนี้ก็เป็นห่วงว่าจะเป็นไปในทางใด เพราะ ส.ส.หากไม่เข้าใจประเด็นนี้จริงๆ ก็อาจปรับไปในสภาพที่ไม่เหมาะกับคนกลุ่มนี้จริงๆ ต้องคอยติดตามต่อไป