เอเจนซี - นักโบราณคดีขุดพบหมู่บ้านขนาดเล็กยุคหินใหม่ ที่สร้างขึ้นเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อนคริสตกาล และเชื่อว่าน่าจะเป็นที่พักอาศัยของกลุ่มผู้สร้างสโตนเฮนจ์
ขุดพบหมู่บ้านยุคหินใหม่ เชื่อเป็นที่อยู่ของผู้สร้างสโตนเฮนจ์
ไมค์ ปาร์กเกอร์ เพียร์สัน นักโบราณคดี
จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ในอังกฤษ เปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 ม.ค.) ว่าทีมงานขุดค้นพบบ้านเล็กๆ 8 หลังใกล้กับบริเวณที่ตั้งสโตนเฮนจ์ และเชื่อว่าในบริเวณนั้นน่าจะมีบ้านปลูกอยู่ทั้งหมดถึง 25 หลัง
ทั้งนี้ สโตนเฮนจ์ หรือแนวหินประหลาด เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคกลาง ตั้งอยู่กลางทุ่งนาของเมืองซาลส์บิวรี ประเทศอังกฤษ ประกอบด้วยแนวหินที่วางเรียงกันเป็นวงกลมในแนวขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์และกลุ่มดาวต่างๆ ในช่วงเวลาสำคัญ
บ้านโบราณเหล่านั้นอยู่บนพื้นที่ที่เรียกว่า เดอร์ริงตันวอลส์ ห่างจากสโตนเฮนจ์ราว 2 ไมล์ และเป็นที่ตั้งของแนวท่อนไม้ประหลาดในลักษณะเดียวกับสโตนเฮนจ์
หมู่บ้านที่ว่ามีอายุประมาณ 2,600 ปี
ก่อนคริสตกาล ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการสร้างสโตนเฮนจ์ และพีระมิดแห่งกิซาในอียิปต์
จูเลียน โทมัส จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ อังกฤษ ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งสโตนเฮนจ์และเดอร์ริงตันวอลส์มีถนนเชื่อมต่อไปยังแม่น้ำเอวอน ซึ่งบ่งชี้ถึงรูปแบบการเดินทางระหว่างสองพื้นที่
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เดอร์ริงตันวอลส์เป็นที่อยู่อาศัย ขณะที่สโตนเฮนจ์เป็นสุสานและอนุสรณ์สถาน
บ้านไม้ที่พบเป็นบ้านทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละห้องมีขนาด 25 ตารางเมตร กลางบ้านมีเตาไฟตั้งอยู่ ลักษณะโดยทั่วไปเกือบเหมือนกับบ้านหินที่สร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกันบนเกาะออร์กนีย์ นอกชายฝั่งสกอตแลนด์
ปาร์กเกอร์ เพียร์สันเสริมว่า
ภายในบ้านมีร่องรอยที่บ่งชี้ว่าเคยมีเตียงและตู้ไม้ตั้งอยู่ นอกจากนั้น ยังพบกระดูกสัตว์ หัวลูกศร และวัตถุอีกหลายอย่างภายในหมู่บ้าน รวมถึงซากสุกรที่อายุราว 9 เดือนขณะถูกชำแหละเพื่อนำไปปรุงอาหารสำหรับเทศกาลกลางฤดูหนาว
บ้านสองหลังที่โทมัสค้นพบ ตั้งอยู่แยกต่างหากจากบ้านหลังอื่นๆ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นบ้านของผู้นำชุมชนหรือเป็นที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เนื่องจากไม่พบซากหรือขยะจากครัวเรือนเหมือนที่พบในบ้านหลังอื่นๆ ในบ้านทั้งสองหลังดังกล่าว
"เราคิดว่า เรากำลังศึกษาหมู่บ้านของผู้ที่เป็นผู้สร้างสโตนเฮนจ์" เพียร์สันบอกและว่า "สิ่งที่พบบอกเราว่า สโตนเฮนจ์เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของนิคมขนาดใหญ่ และเป็นสุสานใหญ่ที่สุดในอังกฤษในยุคนั้น"
โทมัสเสริมว่า สถานที่ที่พบครั้งนี้มีความสำคัญมาก ถือเป็นชุมชนที่พักอาศัยที่มีขนาดใหญ่ ตรงข้ามกับสโตนเฮนจ์ที่ไม่มีร่องรอยว่ามีผู้ไปพักอาศัยมาก่อน และน่าเชื่อว่ามีการเผาศพในบริเวณนั้นราว 250 ศพ
การขุดค้นนี้ได้รับการสนับสนุนโดยเนชั่นแนล จีโอกราฟิก โซไซตี้, อาร์ต แอนด์ ฮิวมานิตี้ส์ รีเสิร์ช เคาน์ซิล, อิงลิช เฮอริเทจ และเว็สเส็กซ์ อาร์เคโอโลจี้ และคาดว่าจะมีการขุดค้นในบริเวณเดอร์ริงตันวอลส์ต่อไปจนถึงปี 2010
ขอขอบคุณ
ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ