ไฟไหม้ไม่เพียงแต่นำความสูญเสียต่อทรัพย์สินเท่านั้น แต่อาจนำความสูญเสียมาสู่ชีวิตของคนที่เรารักด้วย ปัจจุบันอาชีพนักผจญเพลิงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังมีอาสาสมัครเอกชนจำนวนมากเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ขณะเดียวกันภาคเอกชนหลายแห่งก็ต้องเตรียมความพร้อมพนักงานของตัวเองเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ นอกเหนือจากการรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐและอาสาสมัครอื่นๆเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตามการเรียนรู้การดับเพลิงอย่างถูกวิธี อาจทำให้สถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่นั้นลดจากหนักเป็นเบาได้ เมื่อได้รับการอบรม และเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความกล้าจาก ´สถาบันสอนดับเพลิง´ แห่งนี้
ร.ร.คนสู้ไฟ เปลี่ยน´กลัว´ให้เป็น´กล้า´
แรงบันดาลใจของคนสู้ไฟ
ห่างจากกรุงเทพฯออกไป 180 กิโลเมตร ณ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เนื้อที่เกือบ 60 ไร่ ท่ามกลางวงล้อมของขุนเขาถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมของ ´สถาบันฝึกดับเพลิงกู้ภัยชั้นสูง ไทยไฟร์ ทาฟต้า´ ซึ่งสอนการดับเพลิงหลากหลายรูปแบบให้แก่บรรดาพนักงานบริษัทและหัวหน้าหน่วยดับเพลิงต่างๆ ทั้งที่เป็นคนไทยและชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ มาแล้วไม่ต่ำกว่า 13,000 คน
ฐานฝึกขนาดใหญ่ทั้ง 5 ฐานถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้จำลองเหตุไฟไหม้ที่เกิดจากสาเหตุต่างๆอย่างสมจริง ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้จากคราบน้ำมัน แก๊สระเบิด รถบรรทุกสารพิษคว่ำ ไฟไหม้ในโรงงานที่
หรือแม้กระทั่งไฟไหม้ตัวเครื่องบินหลังจากเหตุเครื่องบินตก ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้พบเห็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง พร้อมทั้งเรียนรู้วิธีการดับเพลิงซึ่งเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป
"ต้องเรียกว่าอาชีพของผมนี่เป็นคนสู้ไฟคนหนึ่ง"ชาติชาย ไทยกล้า ผู้อำนวยการสถาบันฝึกดับเพลิงกู้ภัยชั้นสูง ไทยไฟร์ ทาฟต้า นิยามตัวเองให้เราฟัง
ประสบการณ์จากการทำงานด้านความปลอดภัยและมั่นคง
จากบริษัทคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด เกือบ 20 ปี ทำให้ชาติชายได้เรียนรู้เรื่องการดับเพลิงในคลังน้ำมันจากประสบการณ์จริง รวมทั้งมีโอกาสไปอบรมเป็นครูฝึกดับเพลิง ที่มหาวิทยาลัยเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหลายหลักสูตรในหลายประเทศ ทำให้เขาเห็นถึงอันตรายของอัคคีภัย แรงปะทุจากจุดเล็กๆอาจจะโหมกลายเป็นทะเลเพลิงที่เผาทำลายทุกอย่างในพริบตา และที่สำคัญที่สุดคือชีวิตคนที่ติดอยู่ในกองไฟ
"ผมมองว่าถ้าเราไม่เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับมัน ไม่รู้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น อาจจะสายเกินแก้ก็ได้ ประกอบกับเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วประเทศไทยยังไม่มีโรงเรียนสอนดับเพลิง ผมเลยตัดสินใจสร้างโรงเรียนขึ้นมาเพื่อเปิดอบรมในด้านนี้ โดยเราเน้นการอบรมระดับหัวหน้างานเพื่อให้พวกเขานำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดแก่พนักงานในบริษัทหรือในสถานีดับเพลิงอีกต่อหนึ่ง" ชาติชาย บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการก่อตั้งสถาบันสอนดับเพลิงแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย
มือดับไฟ ด้วยหัวใจที่กล้าหาญ
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เหตุไฟไหม้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมอันเศร้าสลดนั้นนอกจากความร้อนแรงที่เกิดการเผาไหม้ รวมทั้งอันตรายจากควันไฟและเปลวเพลิงแล้ว ´ความกลัว´ ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง เพราะเมื่อเกิดความกลัว สิ่งที่ตามมาคือการขาดสติ ทำให้ผู้ประสบเหตุอาจวิ่งหนีเข้าไปสู่วงล้อมของเปลวไฟซึ่งมีความตายรออยู่ข้างหน้า
หลักสูตรที่สถาบันสอนดับเพลิงแห่งนี้เปิดสอนนั้นมีอยู่ 3 หลักสูตร คือ การดับไฟขั้นพื้นฐาน (ใช้เวลาเรียน 1 วัน) การดับไฟขั้นสูง (ใช้เวลาเรียน 2 วัน) และการเป็นผู้สั่งการในการดับเพลิง (ใช้เวลาเรียน 4 วัน) แต่ทุกหลักสูตรจะต้องปลูกฝังความกล้าให้แก่นักเรียนเป็นอันดับแรกเสมอ
ทันทีที่เหล่าพนักงานบริษัทเปลี่ยนสถานะมาเป็นนักเรียนดับเพลิง ชั่วโมงแรกที่พวกเขาก้าวเข้าห้องเรียน ครูฝึกจะเปิดใจเพื่อละลายพฤติกรรมและเติมความกล้าหาญเข้าไปแทนที่ นอกจากจะอธิบายถึงคุณสมบัติและองค์ประกอบที่ทำให้เกิดไฟ สอนการใช้อุปกรณ์ป้องกันและอุปกรณ์ดับไฟแล้ว ครูฝึกจะพาไปยังฐานไฟฐานแรกเพื่อให้นักเรียนได้รู้จักและคุ้นเคยกับความร้อนแรงของเปลวเพลิง
"เราจะพูดให้เขารู้สึกฮึกเหิม ชี้ให้เขาเห็นว่าถ้าเรารู้จักคุณสมบัติของไฟก็สามารถควบคุมมันได้ ไฟเกิดจากองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ความร้อน ออกซิเจน และเชื้อเพลิง "ถ้าตัดอย่างใดอย่างหนึ่งออกไปไฟก็จะดับ สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ในกรณีนั้นๆ เมื่อรู้แล้วการดับไฟก็ไม่ใช่เรื่องยาก เราให้เขาใส่ชุดดับเพลิงพร้อมกับอุปกรณ์พาเดินไปที่ฐานซึ่งจุดไฟไว้ลุกท่วมเลย ให้นักเรียนยืนใกล้เปลวไฟ เพื่อให้เขากล้าที่จะเผชิญหน้ากับมัน แล้วก็ให้ลองฉีดน้ำดับไฟดู พอเขาดับได้ก็จะรู้สึกมั่นใจขึ้นชาติชายเล่า
การสอนดับเพลิงจึงมิใช่แค่การอบรมเรื่องวิธีการดับไฟเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการหล่อหลอมความคิดและสร้างความกล้าให้แก่ผู้เรียน ซึ่งหากพวกเขาได้เผชิญกับความท้าทายในการจัดการกับเปลวเพลิงที่ลุกโหมรุนแรง ยากต่อการทำให้สงบลงแล้วล่ะก็ การดับไฟลุกไหม้ไม่มากนักก็ดูจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
สาเหตุไม่เหมือนกัน วิธีการย่อมแตกต่าง
เนื่องจากการดับเพลิงที่ได้ผลต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม หลักสูตรดับไฟขั้นสูงจะใช้เวลาอบรม 2 วัน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องการแบ่งงาน วิธีการการสั่งการ และการตั้งศูนย์สั่งการในการดับเพลิง รวมทั้งเพิ่มทักษะในการดับไฟที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ ในสถานที่แตกต่างกันด้วย โดยมีการจำลองทั้งอาคารสูง อุโมงค์รถไฟ และเครื่องบินที่ไฟกำลังลุกไหม้ไว้ให้นักเรียนได้ฝึกดับไฟในรูปแบบต่างๆ อาทิ หากดับไฟอาคารสูงก็ต้องไล่จากล่างขึ้นบน ถ้าไฟไหม้ในอุโมงค์รถไฟใต้ดินต้องไล่ดับจากบนลงล่าง
ชาติชายอธิบายว่า สาเหตุที่ก่อให้เกิดเปลวไฟก็เป็นเรื่องที่มิอาจมองข้ามและต้องนำมาชี้แนะให้นักเรียนเข้าใจ ความตื่นตกใจอาจทำให้หลายคนสาดน้ำโครมใหญ่เพื่อหวังจะดับไฟที่ลุกโหมจากถังน้ำมันเบนซิน แต่กลายเป็นว่าน้ำกลับยิ่งทำให้ไฟไหลลามกระจายไปทั่ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนทั่วไปมักลืมนึกไปว่าเหตุไฟไหม้ที่เกิดจากเชื้อปะทุที่แตกต่างย่อมมีวิธีการดับที่แตกต่างกันไปด้วย
หลักสูตรของสถาบันสอนดับเพลิงแห่งนี้จึงต้องสอนให้นักเรียนจำแนกถึงสาเหตุของเพลิงไหม้เพื่อให้สามารถเรียนรู้การดับไฟอย่างถูกวิธี อาทิ หากไฟไหม้ในโรงงานทอผ้า มักจะเกิดการลุกลามอย่างรวดเร็วเนื่องจากผ้าส่วนใหญ่มีโพลีเอสเตอร์หรือไนล่อนซึ่งมีน้ำมันเป็นองค์ประกอบเป็นส่วนผสมในใยผ้า การดับไฟให้ได้ผลนั้นนอกจากจะใช้น้ำดับแล้วยังจำเป็นต้องแยกผ้าที่ยังไม่ติดไฟออกจากกองเพลิงที่ลุกไหม้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นไฟจะคุขึ้นมาอีก
กรณีที่ไฟไหม้โรงงานผลิตสินค้าที่ต้องใช้สารเคมีในการผลิต เช่น กาว โซเวนต์ ก็จะพิจารณาตามอาการ คือถ้าไหม้ในวงแคบๆก็ให้ใช้ผงเคมีแห้งดับ แต่ถ้าสารเคมีนั้นเป็นของเหลวและไหลนองไปทั่วก็ให้ฉีดโฟมคลุมเอาไว้ ไม่ควรใช้น้ำฉีดเพราะจะทำให้สารเคมีกระเซ็นหรือไหลกระจายไปกับน้ำซึ่งจะทำให้ไฟลุกลามมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสารเคมีบางตัว
เช่น แมกนีเซียม ดินประสิว ซึ่งนิยมใช้ในการทำพลุและไม้ขีดไฟ ยังทำปฏิกิริยากับน้ำทำให้เกิดการจุดระเบิด เนื่องจากองค์ประกอบของน้ำคือไฮโดรเจนและออกซิเจน ซึ่งคุณสมบัติอย่างหนึ่งของออกซิเจนคือช่วยให้ไฟติด ส่วนไฮโดรเจนก็เป็นธาตุที่ติดไฟ
ชาติชาย ยกตัวอย่างในเรื่องนี้ว่า
" ถ้าโรงงานพลุระเบิด เจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่มีความรู้จะไม่ฉีดน้ำเพื่อดับไฟที่เกิดจากการระเบิด แต่จะฉีดน้ำลงบนพลุที่ไฟยังลามไปไม่ถึงเพื่อให้กระดาษที่ห่อดินประสิวหรือสารที่ประกอบเป็นเชื้อเพลิงเปียกชื้นจะได้ไม่ติดไฟ ส่วนไฟที่กำลังปะทุจากดินประสิวนั้นแม้จะฉีดน้ำลงไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะไม่ได้ทำให้ไฟดับ แต่ในทางกลับกันอาจทำให้สารเคมีที่กำลังระเบิดทำปฏิกิริยาแรงขึ้น แต่ทั้งนี้ถ้าวัสดุที่ห่อดินประสิวเป็นพลาสติกหรือโลหะน้ำก็ช่วยอะไรไม่ได้ ดังนั้นคุณสมบัติของเชื้อเพลิงจึงเป็นสิ่งที่นักเรียนต้องรู้ เวลาเกิดเหตุขึ้นจริงๆจะได้ไม่เกิดความผิดพลาดขึ้น"
ขณะที่ สิทธิศักดิ์ ผางโคกสูง อดีตนักเรียนที่เข้ารับการอบรมจากสถาบันดับเพลิงฯ ไทยไฟร์ ทาฟต้า ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส บริษัท ฟูจิเอซ จำกัด ซึ่งถูกส่งตัวจากบริษัทต้นสังกัดให้เข้ารับการอบรมเรื่องดับเพลิงจากสถาบันฝึกดับเพลิงฯ ไทยไฟร์ ทาฟต้า เมื่อ 5 ปีก่อน แล้วผันตัวมาเป็นครูฝึกให้แก่สถาบันแห่งนี้ในช่วงที่เขามีเวลาว่าง กล่าวเสริมถึงวิธีการดับเพลิงที่เกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันว่า
" ถ้าเชื้อเพลิงเป็นไม้เราสามารถฉีดน้ำเพื่อดับไฟได้ แต่ถ้าไหม้เพราะมีน้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง ถ้าสาดน้ำโครมลงไปไฟลามกระจายไปทั่ว และนอกจากน้ำมันจะไหลไปตามแรงผลักของน้ำแล้ว น้ำยังไปเติมออกซิเจนทำให้ไฟยิ่งโหมแรงขึ้น" วิธีการที่ถูกคือใช้โฟมฉีดให้เป็นฟองคลุมไฟไว้ หรือถ้าไฟมีปริมาณไม่มากก็อาจใช้น้ำยาล้างจาน 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 3 ส่วน ตีให้เป็นฟอง แล้วราดลงไปบนกองไฟ ฟองที่เกิดขึ้นจะไปกลบผิวของน้ำมันทำให้น้ำมันที่เหลือไม่ระเหยขึ้นมา ไอของน้ำมันจึงไม่สามารถไปรวมตัวกับออกซิเจนในอากาศ ไฟก็จะดับลง หลักการคล้ายกับที่ครูให้เอาแก้วไปครอบเปลวเทียนในชั่วโมงวิทยาศาสตร์ที่เราเรียนตอนเด็กๆ ครอบไว้ ไม่นานเทียนก็ดับ เพราะออกซิเจนในแก้วถูกเผาไหม้กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์หมด
สรรค์สร้างประโยชน์แก่สังคม
ความรู้เกี่ยวกับการดับเพลิงนั้นมิได้มีประโยชน์เฉพาะการดูแลป้องกันไฟไหม้ในบ้านเรือนหรือบริษัทที่เราทำงานอยู่เท่านั้นเพราะหากนำไปผนวกกับน้ำใจที่พร้อมจะหยิบยื่นให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว ก็จะสามารถช่วยเหลืออีกหลายชีวิตให้รอดพ้นจากความตายในเปลวเพลิงได้เหมือนกัน
เพราะนอกเหนือจากการเป็นหนึ่งในครูฝึกของสถาบันสอนดับเพลิงแห่งนี้ สิทธิศักดิ์ ยังนำประสบการณ์ที่ได้เผชิญกับเปลวไฟในการฝึกดับเพลิงที่สถาบันทาฟต้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมด้วยการนำผองเพื่อนอีกหลายชีวิตเข้าไปเป็นอาสาสมัครช่วยดับไฟในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงลงไปได้มากทีเดียว
"ผมภูมิใจมากนะที่เราสามารถช่วยชีวิตคนอื่นได้ ครั้งแรกเลยหลังจากผมผ่านการอบรมมามีเหตุเพลิงไหม้ที่ชุมชนบางปู ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับบริษัท ผมใส่ชุดดับเพลิงของบริษัทออกไปเลย บอกเจ้าหน้าที่ดับเพลิงว่าผมจะมาช่วยดับเพลิง เขาเห็นเรามีอุปกรณ์น่าเชื่อถือก็เลยอนุญาต"
จากการออกปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์จริงด้วยความรู้ที่ได้รับการอบรมมาครั้งนั้น ทำให้สิทธิศักดิ์ตั้งกลุ่มอาสาสมัครช่วยดับเพลิงขึ้นมา ด้วยการรวมตัวกับเพื่อนๆในบริษัทที่ผ่านการอบรมรุ่นเดียวกันไปช่วยดับเพลิงเวลาที่มีเหตุเพลิงไหม้ตามจุดต่างๆ
ผมลงทุนซื้อชุดดับเพลิงเองเลย
"เป็นชุดอย่างดี ประสิทธิภาพในการกันไฟสูง แต่วิธีการของผมอาจจะต่างจากนักดับเพลิงทั่วไป คือเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเขาจะฉีดน้ำจากรอบนอกเข้าไปดับไฟ ที่เรียกว่าคนล้อมไฟ ซึ่งน้ำจะกระจาย ดับไฟได้น้อย แต่ผมกับเพื่อนจะดับแบบไฟล้อมคน คือเข้าไปดับในกองไฟ ซึ่งจะดับได้ตรงจุดกว่า ไม่ต้องใช้น้ำเยอะ แต่เราก็ต้องดูด้วยว่าจุดที่เราจะเข้าไปนั้นปลอดภัยหรือเปล่า"สิทธิศักดิ์เล่าอย่างภาคภูมิใจ
บางครั้งคนที่เห็นเหตุการณ์สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้นะ ถ้าเรารู้วิธีการ แต่คนส่วนใหญ่จะกลัว อย่างรถคว่ำ ไฟลุกท่วมนี่ คนจะนึกวาดภาพตามที่เห็นในหนังว่าถ้า อีกเดี๋ยวจะต้องมีระเบิดตามมา แต่จริงๆมันไม่มีระเบิดอย่างนั้นหรอก เราสามารถทุบกระจกให้แตกแล้วดึงผู้บาดเจ็บออกมาได้โดยที่ตัวเราไม่ได้รับอันตราย
หรือถ้ามีคนติดอยู่ในกองไฟ หากมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่สามารถฉีดน้ำให้เป็นวง เราก็ฉีดดันไฟออกไป แล้วดึงตัวผู้ประสบเหตุออกมาได้ แต่ต้องดูให้ดีว่าไม่ใช่หัวฉีดแบบน้ำกระจายเป็นแฉกนะ เพราะแบบนี้แรงดันจะสูงมากอาจจะดันคนเจ็บให้กระเด็นออกไปได้รับอันตรายได้
สถาบันดับเพลิงแห่งนี้อาจไม่ใช่สถาบันเดียวที่ช่วยให้คนทั่วไปมีความรู้ มีทักษะและกล้าที่ดับไฟในยามที่เกิดเพลิงไหม้อย่างไม่คาดคิด และยังนำความรู้ไปช่วยเหลือสังคมได้ด้วย แต่สำหรับไฟซึ่งไหม้โรงเรียนหลายแห่งในแถบจังหวัดภาคอีสานนั้นคงไม่มีใครสามารถช่วยดับได้ นอกจากคนไทยด้วยกันเอง
ขอขอบคุณ
ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ