"ใช่แล้ว แต่ละคนก็ย่อมมีนิยายของตนเอง แต่นิยายของฉันไม่ใช่นิยายของปู่ย่าตาทวดที่เล่าสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณกาล แต่เป็นนิยายจากความเป็นจริงของครั้งหนึ่งในชีวิตเมื่อวัยเยาว์"
ชีวิตเหมือนนิยาย ของซีไรต์ลาว ´บุนเสิน แสงมะนี´
´ชีวิตของฉันเหมือนนิยาย´
บุนเสิน แสงมะนี เขียน
บทเริ่มต้น
การเดินทางครั้งแรกในชีวิตบนรถโดยสารคันเก่าสายปากซัน-เวียงจันทน์ ด้วยเงินเพียง 1,000 กีบ นำพาบัณฑิตหนุ่มจากมหาวิทยาลัยครูดงโดกข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจากแผ่นดินเกิด หลายปีในดินแดนหลังม่านเหล็กพร้อมใบปริญญาโทสาขาภาษาและพิธีการต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยนานาชาติ กรุงมอสโก คือประตูสู่โลกกว้างที่ทอดยาวนำพาเขาไปทุกที่ เท้าเปล่าที่เคยเหยียบย่างบนคันนาเปลี่ยนมาสวมรองเท้าย่ำพื้นดินที่ปกคลุมด้วยหิมะหนาวเหน็บ มือที่เคยจับชอล์กเขียนกระดานคือมือเดียวกับที่จดจารเรื่องราวมากมายลงแผ่นกระดาษของสมุดบันทึก
แม้แต่ตัวของบุนเสิน แสงมะนี เองก็คงไม่ล่วงรู้ว่า ฉากและชีวิตของเขาจะกลายมาเป็นวัตถุดิบในเรื่องสั้นจำนวนกว่า 400 เรื่องต่อมาในอนาคต หากว่าความทุกข์ยากในวัยเด็ก และความเหงาทารุณร้ายกาจในต่างแดนคือตัวบ่มประสบการณ์ชีวิตให้แก่ชายชาวลาวผู้นี้ เรื่องสั้นจำนวนทั้งหมด 24 เรื่องในหนังสือ ´ใบไม้ใบสุดท้าย´ ก็ถือเป็นผลงานที่กลั่นข้นจากเลือดเนื้อและชีวิตของนักเขียนซีไรต์ลาวผู้นี้
พ่อของฉันเป็นกรรมกรสร้างบ้าน นานๆ พ่อจะพูดว่า "ถ้าไม่มีงานทำเวลานี้ ก็ไม่รู้ว่าจะหาเงินที่ไหนมาซื้อเสื้อซื้อกางเกงให้ลูกใส่ไปเรียนหนังสือ"
พ่อแม่ฉันไม่รู้หนังสือจริงๆ แต่พวกท่านก็อาศัยแรงงานและความอดทนต่องาน หนักเอาเบาสู้แบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้แดดแท้ๆ จึงสามารถเลี้ยงดูพวกฉันซึ่งมีด้วยกัน 3 คนให้เติบโตเป็นผู้เป็นคนกับเขาได้เหมือนทุกวันนี้
คืนนั้นพ่อพูดกับฉันว่า
"มีแต่เรียนเท่านั้นลูกเอย คนเราจึงจะเอาตัวรอดจากความยากจนได้"
เช้าวันนั้น ฉันลุกขึ้นแต่เช้า แต่ขนาดนั้นพ่อแม่ก็ยังตื่นนอนก่อนฉัน แม่เตรียมห่อข้าว ปลาปิ้ง และน้ำพริกใส่ถุงให้ฉันกินระหว่างทางเวลาหิว แม่บอกว่า
"ลูกเอย แม่มีเงินให้ลูกแค่ค่ารถโดยสารและเงินซื้อกินเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูก ประหยัดซื้อ ประหยัดจ่ายนะ ถ้าเมื่อใดคิดถึงพ่อแม่และน้อง หรืออยู่ไม่ได้ก็ให้กลับมาหาพ่อแม่"
ถ้อยความเหล่านี้ สะท้อนช่วงต้นของชีวิตของบุนเสิน แสงมะนี ผ่านการนำเสนอในรูปแบบเรื่องสั้นและบทบันทึกในช่วงต่างกรรมต่างวาระของชีวิต
ปฏิเสธมิได้ว่าในชีวิตของบุนเสินมีนวนิยาย และเรื่องสั้นของเขาก็ไม่ต่างอะไรจากอัตชีวประวัติบางส่วนของผู้เขียนอย่างชัดเจน
หากในวันนี้ เด็กชายจากเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ที่ไม่รู้แม้แต่ชื่อจริงของตัวเองในวันแรกที่เข้าโรงเรียน ได้เล่าเรียนจนจบชั้นประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ
เขาเป็นกรรมการและเลขาคณะบริหารงานกระทรวงหนุ่มสาว 3 สมัย ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งเลขานุการประจำรัฐมนตรีและรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติลาว!
ไคลแมกซ์
หากชีวิตของนักเขียนซีไรต์ลาวผู้นี้เป็นหนังสือนิยาย มันก็ดำเนินมาถึงตอนที่ตัวละครประสบความสำเร็จสูงสุดตามแบบของขนบนิยายสุขนาฏกรรม
เขาประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง เกียรติยศจากหน้าที่การงาน และได้รับการนับถือในฝีมือการประพันธ์จากนักอ่านชาวลาวทั่วไป บุนเสินได้รับรางวัลด้านการประพันธ์หลายรางวัล อาทิ เรื่องสั้น ´กลับบ้านสู่แม่´ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดเรื่องสั้นทั่วประเทศที่วารสาร ´วันนะสิน´ จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2523 และเรื่องสั้น ´คนคืนคน´ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดเรื่องสั้นแบบฉบับกองทัพประชาชนลาว เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันจัดตั้งกองทัพครบ 45 ปี
แต่ที่ทำให้ชื่อของบุนเสินเป็นที่จับตามองที่สุด คือในปี 2547 ที่บุนเสินได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ดีเด่น ´รางวัลสินไซ´ ซึ่งเป็นรางวัลด้านวรรณกรรมรางวัลแรกของลาวจากผลงานเรื่องสั้น ´ประเพณีและชีวิต´ และต่อมาเรื่องสั้นดังกล่าวก็ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2548 อีกด้วย
กว่าจะมีวันนี้ได้มิใช่เรื่องง่าย
ท้าวบุนเสินชี้แจงว่าเนื่องจากลาวยังมีประชากรน้อยเมื่อเทียบกับไทย ทำให้ตลาดหนังสือไม่คึกคักทางด้านยอดพิมพ์และยอดจำหน่าย จึงไม่มีธุรกิจสำนักพิมพ์ สายส่งและร้านหนังสือขนาดใหญ่เช่นในเมืองไทย ภาพรวมตลาดหนังสือลาวในปัจจุบันมีแนวหนังสือที่หลากหลายมากขึ้น แต่ส่วนมากมักจะกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่
อาทิ เวียงจันทน์,หลวงพระบาง, สะหวันนะเขต, ปากเซ เป็นต้น ในกรุงเวียงจันทน์เองมีร้านหนังสือทั่วไปประมาณ 20 ร้าน ขณะที่ระบบการพิมพ์หนังสือที่นั่น นักเขียนลาวจะเป็นผู้นำผลงานไปจ้างให้โรงพิมพ์พิมพ์ให้
ทางโรงพิมพ์ก็จะรับงานตามความพอใจและพิจารณาดูว่านักเขียนผู้นั้นอยู่ระดับไหน ยังไม่มีสำนักพิมพ์หรือบรรณาธิการเป็นเรื่องเป็นราว เมื่อหนังสือพิมพ์ออกมาเสร็จ นักเขียนก็จะเป็นผู้จ่ายค่าจ้างแก่โรงพิมพ์ แล้วก็นำไปฝากขายกระจายตามร้านหนังสือต่างๆ ด้วยตนเอง
ฟังดูแล้วก็คิดถึงหนังสือทำมือในบ้านเราที่ดูจะใกล้เคียงกับระบบตลาดหนังสือลาว ที่นักเขียนเป็น ´วันแมนโชว์´ ในกระบวนการคิดและผลิตผลงานตั้งแต่ต้นจนจบ
สนามแจ้งเกิดของนักเขียนลาว
ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ก่อนที่จะมีโอกาสรวมเล่มและขายได้นั้น จึงอยู่ที่การสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักและสั่งสมประสบการณ์จากพื้นที่ของนิตยสารและวารสารต่างๆ อาทิ วารสารวันนะสิน, หนังสือพิมพ์สึกสาใหม่, หนุ่มลาว, เวียงจันทน์ใหม่, ประชาชนวันอาทิตย์ เป็นต้น แต่หากนักเขียนยังไม่มีชื่อเสียงมากก็อาจพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นกับนักเขียนคนอื่นๆ ก่อนจะพิมพ์หนังสือเฉพาะกิจเป็นของตัวเอง
เป็นที่น่าสังเกตว่ารางวัลซีไรต์ที่นักเขียนลาวที่ผ่านมา 8 คนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการของรัฐบาลลาวทั้งสิ้น จุดนี้บุนเสินอธิบายว่า
"ลาวยังไม่มีใครยึดนักเขียนเป็นอาชีพด้านเดียวสักคน มีทั้งอาชีพพยาบาล ทหาร ตำรวจ ครู เพราะข้าราชการส่วนมากมักเป็นปัญญาชน มีความรู้ที่หลากหลาย มีประสบการณ์ หลายคนที่เขียนไปทำงานไปก็กลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงก็มี"
หนึ่งในนักเขียนเรื่องสั้นที่น่าจับตาสำหรับบุนเสิน ก็คือนักเขียนชายที่ชื่อ บุนทนง ชมไชผล ส่วนนักเขียนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็เห็นแววหลายคน แต่บุนเสินบอกว่า ´แวว´ หรือ ´พรสวรรค์´ นั้นไม่สำคัญเท่าการฝึกฝนและลงมือเขียนอย่างต่อเนื่อง เขาเห็นตัวอย่างนักเขียนร่วมรุ่นที่เริ่มต้นเขียนหนังสือมาพร้อมกัน แต่ก็วางปากกาเลิกเขียนกลางคันมาหลายคน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย
สิ่งที่น่าสนใจคือ
สนนราคาของ ´ปึ้ม´ หรือหนังสือในลาวนั้นนับว่าถูกมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพอย่างอื่น เช่น ก๋วยเตี๋ยวที่กรุงเวียงจันทน์ปัจจุบันชาม (ใหญ่) ละ 10 พันกีบ ขณะที่หนังสือของลาวมีราคาเฉลี่ยเล่มละ 8-9 พันกีบเท่านั้น
หนังสือราคาถูกจึงน่าจะช่วยส่งเสริมให้คนลาวมีโอกาสเข้าถึงการอ่านมากขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลลาวเองก็ได้ร่วมกับทางประเทศญี่ปุ่นส่งเสริมให้คนลาวอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น โดยการจัดรถห้องสมุดเคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ชุมชนต่างๆ
หนังสือที่จัดว่าเป็นหนังสือขายดีและวัยรุ่นลาวนิยมอ่านกันมากนั้น ท้าวบุญเสินบอกว่าคือหนังสือที่เน้นรูปภาพ อย่างการ์ตูนและนิทาน รวมทั้งหนังสือวิชาการเชิงเกษตรที่คนอ่านสามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ อาทิ การเลี้ยงสัตว์ หรือคู่มืออาชีพเลขานุการ ขณะที่งานวรรณกรรมจริงจังนั้นขายได้ค่อนข้างน้อย
ยกเว้นหนังสือที่รับรางวัลใหญ่ๆ อย่างรางวัลสินไซหรือซีไรต์ก็จะได้รับความสนใจจากนักอ่านมากหน่อย ส่วนหนังสือดารานักร้องมาออกพ็อกเกตบุ๊กตามกระแสอย่างในเมืองไทยนั้น ท้าวบุนเสินบอกว่าที่ลาวยังไม่มี ถึงแม้จะขายไม่ค่อยดีแต่คนลาวก็ชอบอ่านวรรณกรรมของลาวมากกว่าวรรณกรรมแปล เพราะเข้าใจได้ง่ายกว่า ส่วนหนังสือต่างประเทศมักจะอ่านเพื่อฝึกภาษาเท่านั้น
นอกจากวรรณกรรมลาวส่วนมาก
"ก็จะอ่านหนังสือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือหนังสือที่แปลจากภาษาเวียดนาม ภาษารัสเซีย และฝรั่งเศส เพราะรุ่นข้าพเจ้าเป็นคนลาวรุ่นสุดท้ายที่อ่านเขียนภาษาฝรั่งเศสได้ แต่เด็กน้อยลาวสามารถอ่านหนังสือไทยได้แม้จะไม่ได้เรียน ทางเราก็กำลังพยายามสอดแทรกอยู่ สิ่งที่สำคัญก็คือปลุกระดมให้นักอ่านรู้จักการอ่านที่หลากหลาย" ท้าวบุนเสินกล่าว
ถามถึงประเด็นรางวัล ´ซีไรต์´ ที่มักจะเป็นที่ถกเถียงกันทุกปี นักเขียนซีไรต์ลาว (ชาย) คนล่าสุดถึงกับยิ้ม ก่อนเล่าว่าที่ลาวเองก็เคยมีกรณีถกเถียงกันถึงความเหมาะสมของผลงานที่ได้รับรางวัลเช่นกัน ซึ่งกระบวนการคัดเลือกก็ไม่ต่างจากซีไรต์ของประเทศไทย คือจะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกหลายชุด แต่สุดท้ายแล้วบุนเสินเชื่อมั่นว่า ´คนอ่าน´ จะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในที่สุดว่าหนังสือเล่มนั้นสมกับรางวัลที่ได้รับหรือไม่
และหากมีผลงานที่ดีเด่นใกล้เคียงชนิดสูสีกันยากจะชี้ขาดจริงๆ ทางคณะกรรมการจะใช้วิธีตัดสินจาก ´คุณสมบัตินักเขียน´ ทั้งจากประสบการณ์ ผลงาน ความประพฤติส่วนตัวว่าเป็นคนดีพร้อมคู่ควรกับรางวัลนี้หรือไม่ อาจจะฟังดูแปลกสำหรับวงวรรณกรรมไทย แต่ท้าวบุนเสินยืนยันว่าสำหรับประเทศลาว ความ ´เก่ง´ กับ ความ ´ดี´ ต้องมาคู่กัน
"การเลือกเขียนเรื่องสั้นของข้าพเจ้าจะพยายามเลือกเรื่องที่สร้างสรรค์สังคม ไม่ใช่มีแต่เรื่องรักอกหักอย่างเดียว แต่พยายามสอดแทรกประเพณี สังคมลงไปด้วย"
ส่งท้าย
เพราะชีวิตไม่ใช่นิยาย เราจึงไม่สามารถกำหนดตอนจบได้อย่างใจ แต่พระเจ้าก็ยังประทานพรให้มนุษย์มีสิทธิเลือกโดยไม่ปล่อยตัวตามกระแสธารแห่งโชคชะตาเป็นผู้กำหนดเพียงฝ่ายเดียว
บุนเสิน แสงมะนี เป็นนักเขียนที่มีวิญญาณของนักประพันธ์เต็มเปี่ยม เขาเคยพูดเสมอว่า
"ความสุขที่แท้จริงของข้าพเจ้าก็คือ เห็นงานที่ตัวเองเขียนขึ้นมาได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่ม"
และวันนี้ ความสุขครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของบุนเสิน คือการได้เห็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ´ใบไม้ใบสุดท้าย´ ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอย่างประณีต โดย รศ.ดร.สุนทร โคตรบรรเทา ให้นักอ่านชาวไทยได้มีโอกาสสัมผัสความคิดและวิถีชีวิตของเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างประเทศลาว ดังเช่นที่บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนซีไรต์ไทยเคยประทับใจหนังสือเล่มนี้มาแล้ว
"หัวใจของ ´ใบไม้ใบสุดท้าย´ นั้นอยู่ที่การสะท้อนภาพให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของ สปป.ลาวในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา คำพูดและคำเขียนของคุณบุนเสินเหมือนกัน คือเต็มไปด้วยความนอบน้อมถ่อมตนและไพเราะ มีความเป็นกวีอยู่ในคำพูด"
ขณะที่โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการนิตยสาร GM กล่าวว่า หากเปรียบกับดนตรีแล้ว งานเขียนเล่มนี้ของบุนเสินไม่ใช่เพลงลูกทุ่ง หากแต่เป็นเวิลด์มิวสิก ที่สะท้อนความเหงา อารมณ์คิดถึงและความผูกพันกับบ้านเกิด
ผ่านการเล่าเรื่องที่มีเสน่ห์มาก ซึ่งต้องชมผู้แปลที่ทำให้คนอ่านเกิดความรู้สึกสนิทสนมชิดใกล้กับตัวละคร หนังสือเล่มนี้อ่านได้หลายแบบ ชั้นแรกรู้สึกว่าเป็นหนังสือที่สวยงามละมุนละไม ผู้เขียนเป็นทั้งนักเขียนและกวี จึงสามารถแทรกประเด็นเรื่องการศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนได้อย่างลงตัว
ความหวังอันยิ่งใหญ่
อีกประการหนึ่งของบุนเสิน คือการที่เขาได้ร่วมปลุกปั้นสร้างนักเขียนรุ่นใหม่ขึ้นมาประดับวงวรรณกรรมของลาว ด้วยการทำค่ายฝึกอบรมการเขียน ´สโมสรนักเขียนหนุ่ม´ ซึ่งมีคนหนุ่มสาวจากหลากหลายสาขาอาชีพให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมการเขียน แม้กระทั่งพระภิกษุสงฆ์ก็ยังมี
นักเขียนซีไรต์ลาวยังฝากให้ข้อคิดแก่นักเขียนรุ่นใหม่ที่อาจจะท้อถอยอยู่ว่า "การจะท้อถอยหรือก้าวไปข้างหน้าเป็นเส้นทางของแต่ละคนต้องเลือกเอาเอง เราจะหวังเขียนเรื่องเดียวแล้วดังเลยมันเป็นไปไม่ได้ แม้แต่มีดทื่อเรายังลับ สิ่งที่เราอยากให้แหลมเรายังเหลา มีดพร้าจะหวังให้คมตลอดโดยไม่ฝนไม่ได้ มีพรสวรรค์แต่ไม่มีการฝึกฝนและไม่มีการกระทำ มันเป็นไปไม่ได้"
วันนี้และอนาคตของบุนเสิน แสงมะนี จึงเป็นนิยายที่ยังไม่ถึงตอนจบ เพราะตัวเอกของเรื่องยังคงมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ดูแลการศึกษาของเด็กๆ ในชาติ และทำงานเขียนอย่างที่ใจรักควบคู่ไปด้วย
"ชีวิตนี้ถ้ายังมีลมหายใจ นอกจากงานส่วนตัว ครอบครัว คนรอบข้างและสังคมแล้ว ขออุทิศแรงกายและสติปัญญาให้แก่การขีดเขียนเท่านั้น" นักเขียนซีไรต์ลาวจบคำบอกเล่าถึงเป้าหมายสูงสุดในชีวิตด้วยรอยยิ้ม
************
ขอขอบคุณ
ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์