"จีนยิงทำลายดาวเทียม ทั่วโลกหวั่นมีปัญหาเศษวัสดุดาวเทียม"
เนเจอร์/ยูซีเอส การยิงทำลายดาวเทียมหมดอายุกลางอวกาศของจีนสร้างความตึงเครียดต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศในโลก และยังสร้างอันตรายต่อสภาพแวดล้อมนอกโลก เพราะการจะยิงอะไรบนอวกาศนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ผลแห่งการทำลายไม่อาจประเมินได้ว่าเศษเสี้ยวจะกระเด็นกระจายไปกระทบดาวเทียมหรือยานอวกาศในวงโคจรหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตที่เศษวัตถุเหล่านี้ยังคงลอยคว้างอยู่
หวาดวิตกกันไปทั่วโลกหลังจากกระแสข่าวจีนได้ทดสอบยิงขีปนาวุธทำลายดาวเทียมพยากรณ์อากาศ เฟิงหยุน 1 ซี (Feng Yun 1C) เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานหลังจากขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่ปี 2542 นั่นทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่สามของโลก ถัดจากสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียต ที่สามารถยิงอาวุธในอวกาศได้
เดวิด ไรท์ (David Wright) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธอวกาศ ในฐานะผู้อำนวยการร่วมโครงการความมั่นคงแห่งโลก ของสหภาพนักวิทยาศาสตร์ที่มีจิตสำนึกทางสังคม (Union of Concerned Scientists : UCS) ให้สัมภาษณ์ผ่านวารสารเนเจอร์และเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ยูซีเอส ถึงรายละเอียดต่างๆ ในการทดลองใช้ "เอแซต" ระบบต่อต้านดาวเทียม (anti-satellite : ASAT) โดยใช้เทคนิคง่ายๆ ใน 2 รูปแบบ