เอแบคโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง 10 รายชื่อสุดยอดซีอีโอ (CEO) ภาครัฐและภาคเอกชนแห่งปี 2554 CEO ภาคเอกชน "ปัญญา" ได้ผู้คิดสร้างสรรค์ธุรกิจเกมโชว์ CEOภาคราชการ "ประยุทธ์" ได้สุดยอดความเป็นผู้นำ กล้าคิดกล้าตัดสินใจ ฟื้นฟูศรัทธาปชช.ต่อกองทัพ
วันที่ 3 ม.ค.55 ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง 10 รายชื่อสุดยอด ซีอีโอ CEOภาครัฐและภาคเอกชนแห่งปี 2554 ในความทรงจำและขวัญใจกลุ่มธุรกิจ เอสเอ็มอี SME กรณีศึกษาตัวแทนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีใน 17 จังหวัดของประเทศ โดยสุ่มตัวอย่างตัวแทนจากฐานข้อมูลบริษัทกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี SME ทั่วประเทศได้แก่ กรุงเทพมหานคร แพร่ ลำปาง นครสวรรค์ เพชรบุรี ปทุมธานี อยุธยา สุพรรณบุรี หนองคาย สกลนคร สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ตรัง สงขลา และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 1,362 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2554 - 2 มกราคม 2555 พบว่า
สุดยอด ซีอีโอ CEO ของภาคเอกชนแห่งปี 2554 ในความทรงจำและขวัญใจของตัวแทนกลุ่มธุรกิจ SME ใน 5 อันดับแรกหรือ ท็อปไฟว์ อันดับแรก
ได้แก่ นายปัญญา นิรันดร์กุล ร้อยละ 90.3 โดยให้เหตุผลว่า เป็นสุดยอดผู้คิดสร้างสรรค์ธุรกิจบันเทิงเกมโชว์ ผู้จิตนาการและออกแบบธุรกิจเกมโชว์ด้วยภูมิปัญญาของตนเอง เป็นต้น อันดับที่สอง ได้แก่ นายตัน ภาสกรนที ร้อยละ 77.4 เพราะเป็น สุดยอดนักสู้ทางธุรกิจ ด้วยสโลแกน ตันไม่ตัน เป็นต้นแบบให้กำลังใจกลุ่มนักธุรกิจ SME ในการประกอบธุรกิจฟันฝ่าอุปสรรค์ต่างๆ ไปให้ได้ เป็นต้น อันดับสาม ได้แก่ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ร้อยละ 75.8 เพราะ เป็นสุดยอดผู้นำพิธีกรเล่าข่าวผู้ปฏิรูปวงการเล่าข่าวสู่การเป็นที่พึ่งของประชาชน ยอมลำบาก เสี่ยงภัย ติดดิน เข้าถึงและไม่ทอดทิ้งประชาชน เป็นต้น อันดับที่สี่ ได้แก่ นายประวิทย์ มาลีนนท์ ร้อยละ 68.4 อันดับที่ห้า ได้แก่ นายโชค บูลกุล (ฟาร์มโชคชัย) ร้อยละ 61.9 ตามลำดับ
ในขณะที่ สุดยอด ซีอีโอ CEO ของภาคราชการและเจ้าหน้าที่รัฐแห่งปี 2554 ในความทรงจำและขวัญใจของตัวแทนกลุ่มธุรกิจ SME ใน 5 อันดับแรกหรือ ท็อปไฟว์
อันดับแรก ได้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (ผู้บัญชาการทหารบก) ร้อยละ 59.1 เพราะเป็น สุดยอดของความเป็นผู้นำ กล้าคิดกล้าตัดสินใจ สมาร์ท สมกับเป็นชายชาติทหาร ฟื้นฟูศรัทธาของประชาชนต่อกองทัพ ทำให้กองทัพเป็นกองทัพของประชาชน รวดเร็วฉับไวไม่ทอดทิ้งประชาชน เป็นต้น อันดับที่สอง ได้แก่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 53.4 เพราะ เป็นสุดยอดของตำรวจมือปราบยาเสพติด เป็นผู้มุ่งมั่นบนความถูกต้อง เป็นเสาหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นความหวังนำความสงบสุข แก้ปัญหาอาชญากรรมอย่างจริงจังต่อเนื่อง เป็นต้น อันดับที่สาม ได้แก่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เลขาธิการ ป.ป.ส. ร้อยละ 53.0 เพราะ เป็นสุดยอดของผู้นำหัวใจแกร่ง กล้าหาญ เสี่ยงชีวิต เป็นตำรวจในอุดมคติตัวจริง ไม่สร้างภาพ เป็นความหวังลดปัญหายาเสพติดในสังคมไทย เป็นต้น ในขณะที่อันดับสี่ ได้แก่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 49.1 เพราะเป็นสุดยอดของความเป็นผู้นำองค์กรด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีความรู้ความสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ เป็นต้น และนายกล้าณรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ร้อยละ 44.5 ตามลำดับ
ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่า กลุ่ม ซีอีโอ CEO
ในภาคเอกชนของประเทศไทยเป็นคณะบุคคลตัวอย่างที่เข้มแข็งและเป็นแบบอย่างแสดงให้นานาประเทศที่พัฒนาแล้วเห็นได้ว่า ภาคเอกชนของประเทศไทยเป็นภาคส่วนรากฐานทางเศรษฐกิจที่มักประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเองท่ามกลางความเสี่ยงสูงของความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงของคนในชาติ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ความไม่มั่นคงของเสถียรภาพทางการเมือง ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลที่มักจะมีอายุการทำงานไม่ยาวนานนัก แต่ภาคเอกชนของประเทศไทยยังสามารถประคองตนในการประกอบธุรกิจให้มั่นคงมี “จุดแข็งมีจุดขาย” สร้างความประทับใจให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ โดยส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและต้องหาทางเอาตัวรอดตามอัตภาพและยถากรรมของธุรกิจตนเอง
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผลสำรวจครั้งนี้เกือบจะไม่ปรากฎให้เห็นรายชื่อคณะผู้บริหารเจ้าหน้าที่รัฐของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจและธุรกิจเอสเอ็มอีเลย โดยผลสำรวจกลับพบว่า ซีอีโอ ในภาครัฐที่อยู่ในความทรงจำและขวัญใจของพวกเขาคือ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการ ป.ป.ส. มีแต่เพียง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านเดียวเท่านั้นที่ติดอันดับหนึ่งในห้าหน่วยงานของรัฐที่เป็นสุดยอด CEO ของตัวแทนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี จึงเป็นข้อมูลความรู้สึกที่รัฐบาลอาจนำไปพิจารณาสนับสนุนเพิ่มเติมการทำงานของหน่วยงานภาครัฐด้านเศรษฐกิจและพาณิชย์ โดยเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทำงานในเชิงรุก ช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ไม่เลือกปฏิบัติ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาธุรกิจ SME” สร้างความประทับใจให้กับกลุ่มประกอบการย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยแนะให้ทำการเอ็กซ์เรย์ความต้องการ สร้างความเชื่อมั่นวางใจหรือ TRUST ของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี SME ครอบคลุมทั่วประเทศให้สามารถประสบความสำเร็จเอาตัวรอดได้ในการประกอบธุรกิจอย่างมีความสุขแท้จริงและยั่งยืน
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 60.8 เป็นชาย ร้อยละ 39.2 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 2.6 อายุไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 17.3 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 23.2 อายุระหว่าง 30-39 ปีและร้อยละ 26.1 อายุระหว่าง 40-49 ปี ตัวอย่างร้อยละ 30.8 อายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 53.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 46.3 สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป