เขมรทัวร์โหด...ระเบิดฝูงเป็ด-ยิงวัวด้วยจรวด

"ทัวร์สังหาร"


ผู้จัดนำเที่ยวเอกชนจำนวนหนึ่งได้พยายามใช้อดีตของกัมพูชา ในฐานะเป็นประเทศที่เคยอยู่กับสงครามมานานหลายทศวรรษ ให้เป็นประโยชน์ในการทำเงินทำทองสร้างรายได้ โดยเสนอ ทัวร์สังหาร หลายรูปแบบให้เลือก

เป้าหมายของทัวร์สังหาร มีเป้าหมายเป็นพวกนักท่องเที่ยวประเภทแบ็กแพ็กเกอร์ ที่มีรสนิยมโหด หรือต้องการความสะใจอะไรสักอย่าง แต่หลายคนก็เป็นนักท่องเที่ยวปกติทั่วไปที่อยากจะมีประสบการณ์แบบครั้งหนึ่งในชีวิต

ด้วยค่าใช้จ่าย 555 ดอลลาร์สหรัฐฯ นักท่องเที่ยวผู้เสาะแสวงหาก็สามารถจะยิงวัวเป็นๆ ทั้งตัวให้ตับไตไส้พุงกระจุยกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ด้วยจรวดอาร์พีจี (rocket-propelled grenade) ที่ใช้ยิงทำลายรถถัง หรือยานพาหนะของฝ่ายข้าศึกในสมัยสงคราม

"ปืน หรือ ระเบิดมีให้เลือก"


หากยิงวัวมันโหดไป ก็อาจจะเลือกฆ่าเป็ดทั้งฝูงได้ด้วยระเบิดมือก็ได้

แน่นอน เรื่องนี้ผิดกฎหมายในกัมพูชา ที่อนุญาตให้เฉพาะกระทรวงกลาโหม กับกระทรวงภายในเท่านั้นสามารถจัดสนามยิงปืน หรือสนามซ้อมการใช้อาวุธประเภทต่างๆ

แต่ผู้จัด ทัวร์สังหาร ฝ่าฝืนด้วยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยอ้างว่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศนี้มีทางเลือกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทัวร์สังหาร ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่านักท่องเที่ยวที่นิยมเกมโหดๆ เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

"เสียแค่ราคาค่าตัว วัว หรือ เป็ด"


ค่าใช้จ่ายจริงๆ คือ ค่าวัว นักท่องเที่ยวจะต้องซื้อวัวตัวนั้นเสียก่อน เราจึงจะอนุญาตให้เอาอาร์พีจียิงได้ นายลาน โกศัล (Lan Kosal) ผู้จัดนำเที่ยวประเภทสังหารทัวร์คนหนึ่ง บอกกับนักเขียนขององค์การ World Politics Watch ซึ่งนำเรื่องนี้มาเปิดเผย

เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี มีราคาค่างวดไม่เท่าไหร่ แต่ค่าวัวนั้นแพงมาก จึงทำให้ข้อเสนอไม่ค่อยได้รับความสนใจ ส่วนเกมปาระเบิดมือ เพื่อฆ่าเป็ดทั้งฝูงพอไปได้ เพราะค่าเป็ดไม่แพงมาก นายโกศัล กล่าว

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจากโลกตะวันตกจำนวนมากเพียงแค่อยากจะยิงปืนกลออโตเมติกจริงๆ สักครั้ง เพราะโอกาสเช่นนี้หาได้ยากในประเทศบ้านเกิด

"มีสารพัดปืนให้เลือก"


พวกเขามักจะเลือกปืน AK-47 หรือ อาก้า ที่โด่งดังจากรัสเซีย หรือไม่ก็ปืนเล็กกลอัตโนมัติ เอ็ม-16 (M-16) ของกองทัพสหรัฐฯ ปืน 1 กระบอกพร้อมแมกกาซีน บรรจุ 30 นัด กับเป้ากระดาษทำเป็นรูปลำตัวคนขึ้นไปถึงศีรษะ ชุดสังหารนี้ค่าบริการเพียง 30 ดอลลาร์

ที่สนามยิงเป้า กัมบล (Kambol) ของโกศัล ยังมีปืนกลมือให้เลือกอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นทอมป์สัน (Thompson) ที่ครั้งหนึ่งเป็นที่นิยมกันมากของพวกแก๊งอาชญากรรม ในยุคที่ อัล คาโปน (Al Capone) ครองนครชิคาโก ปืนกลอูซี่ (Uzi) กระบอกเล็กๆ แต่อนุภาพร้ายแรงที่ผลิตในอิสราเอล

"มีให้เลือกหลายขนาด"


มีให้เลือกแม้กระทั่งปืนกลญี่ปุ่น ที่อยู่มาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ทหารจากแดนอาทิตย์อุทัย เข้ายึดครองประเทศนี้

นอกจากนั้น ก็ยังมีปืนพกให้เลือกได้อีกหลายขนาด ทั้งหมดระบุเอาไว้ใน เมนู ที่ลามิเนท หรือ จัดหุ้มพลาสติกไว้อย่างดี ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกใช้

โกศัล กล่าวว่า อาวุธเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งเศษเหลือใช้จากสงครามที่เล็กน้อย หากเทียบกับอาวุธจำนวนมหาศาลที่มีใช้ในประเทศนี้ตั้งแต่ช่วงสงครามต้านญี่ปุ่น และ สงครามอินโดจีนที่กัมพูชาอนุญาตให้ทหารเวียดนามเหนือเข้าตั้งฐานลับๆ สู้รบกับกองทัพสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้ ในช่วงทศวรรษ 1960

"ทิ้งอาวุธไว้มากมายตอนถอนกำลังกลับประเทศ"


สหรัฐฯ ยังได้ให้อาวุธเป็นจำนวนมากสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ลอน นอล ที่องค์การสืบราชการลับหนุนให้ทำรัฐประหารยึดรัฐบาลของ เจ้าสีหนุ ในปี 2515 เพื่อต่อต้านพวกคอมมิวนิสต์เขมรแดง

ปี 2518 สหรัฐฯ ถอนตัวจากอินโดจีนทิ้งอาวุธไว้มากมาย จากนั้นในปี 2522 เวียดนามก็ยกทัพเข้าขับไล่รัฐบาลเขมรแดง และต่อสู้กันนาน 15 ปี พวกโซเวียตทุ่มอาวุธเข้าไปช่วยรัฐบาลที่เวียดนามตั้งขึ้น ส่วนจีนก็ทุ่มเข้าไปช่วยเขมรแดงรบกับเวียดนาม



"เก็บกวาดอาวุธหมดแล้ว แต่ก็ยังมีการค้นพบอีกบ่อยๆ"


พอ 30 ปีให้หลังรัฐบาลในยุคใหม่ต้องเก็บกวาดอาวุธสงครามเหล่านี้ แต่จำนวนมากก็ถูกฝังไว้ในเขตป่าเขา มีการค้นพบอาวุธเหล่านี้อยู่เป็นระยะๆ จำนวนไม่น้อยยังอยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยม

นายทอม แจนสัน หนุ่มแบ็กแพ็กเกอร์จากอังกฤษ ที่เข้าร่วมในคณะ ทัวร์สังหาร ของนายโกศัล กล่าวว่า เรื่องอย่างนี้จะไม่มีโอกาสได้เห็นเป็นอันขาดในประเทศของเขา เขาพูดไปส่ายหน้าไปอย่างไม่เชื่อสายตาตัวเอง

เมื่อไม่นานมานี้ สารคดีชุด Lonely Planet ได้พาผู้ชมเข้าไปดูการเก็บกวาดและทำลายอาวุธสงครามในกัมพูชา เจ้าหน้าที่ ของรัฐยืนยันว่า ไม่มีสนามยิงปืนแบบ ทัวร์สังหาร นี้อีกแล้ว

นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ทางการกัมพูชารณรงค์กวาดล้างอาวุธสงครามได้หลายแสนชิ้น ในนั้นกว่า 180,000 ชิ้นได้ถูกทำลายไปแล้ว รวมทั้งขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานจำนวนหนึ่งด้วย โดยได้รับทุนช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ กับองค์การระหว่างประเทศอีกจำนวนหนึ่ง

"สนามยิงปืน ทัวร์สังหาร ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป"


สหรัฐฯ วิตกว่า อาวุธร้ายแรงพวกนี้จะตกไปถึงมือพวกก่อการร้ายข้ามชาติ

นิตยสารข่าวภาษาอังกฤษรายปักษ์พนมเปญโพสต์ (Phnom Penh Post) รายงานเมื่อไม่นานมานี้อ้างสถิติของทางการที่ระบุว่า ในช่วงเวลา 10 ปีของการรณรงค์ ปรากฏว่า การใช้อาวุธก่อความรุนแรงรูปแบบต่างๆ จากที่เคยสูงถึง 80% ในปี 2537 ได้ลดลงเหลือเพียงประมาณ 40% ในปี 2547

อย่างไรก็ตาม แม้ทางการจะประสบความสำเร็จในการเก็บกวาด แต่ สนามยิงปืน กับ ทัวร์สังหาร แบบของนายโกศัล ก็ยังดำเนินไปควบคู่กัน

มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายในประเทศนี้ นายปรัก เทพวิเศษ (Prak Thepvichet) เจ้าหน้าที่สำนักงาน Working Group for Weapons Reduction หน่วยงานเอ็นจีโอ ที่สนับสนุนการทำลายอาวุธในกัมพูชา กล่าว

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวสารที่มีคุณภาพ จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์