เปิดข้อมูลนักเรียนชายและหญิง ตั้งแต่ประถมปีที่ 4 ถึงมัธยมปีที่ 3 ถูกรังแกทั้งทางวาจาและร่างกาย เฉลี่ยเดือนละ 2-3 ครั้ง โดยองคมนตรีและราษฎรอาวุโส ร่วมเวทีเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันยุติความรุนแรงในโรงเรียน
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
จัดเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง ความรุนแรงในโรงเรียน เพื่อร่วมกันเสนอแนวทางลดความรุนแรงในเด็กอย่างยั่งยืนในอนาคต โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิฯ กล่าวว่า ฒแนวโน้มความรุนแรงในโรงเรียนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งการยิงนักเรียนในโรงเรียน จากนักเรียน และคนภายนอก หรือครูทำร้ายนักเรียน นักเรียนทำร้ายกันเอง ทั้งที่โรงเรียนควรเป็นสถานที่ปลอดภัยรองลงมาจากบ้าน
ศ.นพ.ประเวศ เสนอว่า
ทั้งสังคมต้องร่วมกันเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง , ปรับระบบการศึกษาในโรงเรียน นำชีวิตจริงของครูและนักเรียนเป็นตัวตั้งแทนการนำวิชาเป็นตัวตั้ง เพื่อไม่ให้ทั้งครูและนักเรียนเกิดความเครียดในการสอนและการเรียน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ควรจะตื่นตัวตั้งสถาบันสันติวิธีเพื่อวิจัยความรุนแรงประเภทต่าง ๆ และแนวทางแก้ไข
นักเรียน ป.4-ม.3ถูกรังแกทั้งวาจาและร่างกายเดือนละ 2-3 หน
จากนั้น ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถา
ความรุนแรงในโรงเรียนที่สังคมต้องมีส่วนร่วม โดยระบุว่า ความรุนแรงในโรงเรียน มีทั้งการทำร้ายจิตใจ การทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะการทำร้ายทางเพศที่เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งพบว่ามีครูผู้ชายทำร้ายนักเรียนหญิงบ่อย ๆ ฉะนั้น หากจับได้จะต้องลงโทษทางอาญาอย่างเด็ดขาด ไม่ควรที่จะให้เป็นครูต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่าง พร้อมเสนอให้ทุกโรงเรียนมีวัดประจำโรงเรียน เพื่อร่วมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้กับครูและนักเรียน
ทั้งนี้ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
ทำการศึกษาความรุนแรงในโรงเรียน โดยสำรวจสถานการณ์ของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนทั่วประเทศ เบื้องต้นพบข้อมูลเด็กนักเรียนชายหญิงตั้งแต่ระดับชั้นป.4 ถึง ม.3 ถูกรังแกเดือนละ 2-3 ครั้ง หรือมากกว่าถึงร้อยละ 68 โดยรูปแบบของการรังแกมีตั้งแต่การทำร้ายจิตใจด้วยวาจา การแย่งเงินและของใช้ การขู่บังคับ จนถึงการทำร้ายร่างกาย
ขณะที่ นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา
กล่าวถึงการใช้ธรรมะเยียวยาลดความรุนแรงของปัญหาเยาวชนและสังคมในปัจจุบันว่า กรมฯ คงใช้มิติทางศาสนาพุทธ ใช้ธรรมะเป็นวัคซีนป้องกันช่วยลดความรุนแรงปัญหาของเยาวชน ซึ่งขณะอยู่ระหว่างจัดทำหนังสือคู่มือพระสอนศีลธรรม แจกจ่ายไปยังตามสถานศึกษา อีกทั้งเชิญพระคุณเจ้าเข้าไปให้ความรู้ธรรมะ เป็นที่ปรึกษาเยาวชนเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นอีกด้วย
ส่วนในภาคสังคม
ก็จะแจกจ่ายคู่มือพระสอนศีลธรรมไปตามองค์กรภาคสังคมต่าง ๆ เช่นกัน เพื่อกระตุ้นเตือนใจทุกคนตระหนักถึงการกระทำในสิ่งที่ไม่ดี ว่ามีผลต่อกรรมการกระทำอย่างไรในวันข้างหน้า อีกทั้งท่ามกลางปัญหาสังคมโลกาภิวัตน์ นักวิชาการตะวันตกด้านศึกษาศาสนาได้มีการวิเคราะห์ระดับโลกว่า ศาสนาพุทธจะเป็นศาสนาที่ทำให้โลกสงบ ลดความรุนแรง และปราศจากสงครามได้
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาให้เกิดความสันติสุขในสังคมระยะยาว และการคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่เกิดจากการกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คงต้องมีการนำเสนอกฎหมายคุ้มครองพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติด้วย ซึ่งปัจจุบันมีเพียงกฎหมายบริหารพระพุทธศาสนาเท่านั้น.
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: ผู้จัดการออนไลน์