นศ.ม.รังสิต เจ๋ง..โชว์ไอเดีย บ้านกันเสียง

สุดยอดไอเดีย "บ้านกันเสียง" เพื่อชุมชนรอบสนามบินสุวรรณภูมิ


ทีมนักศึกษาสถาปัตย์ฯ ม.รังสิต โชว์กึ๋นคว้ารางวัลชนะเลิศออกแบบบ้านพักอาศัยเพื่อป้องกันเสียงรอบสนามบินสุวรรณภูมิ โดยทีมชนะเลิศระบุออกแบบอาคารที่เรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอย และลดเสียงเข้าสู่อาคาร และใช้วัสดุผิวหยาบในการก่อสร้างเพื่อช่วยกระจายเสียงที่มาตกกระทบให้แยกจากกัน



เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปถึงความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับ


หลังจากรัฐบาลชุด "ทักษิณ ชินวัตร" เร่งให้มีการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิโดยที่ยังไม่มีความพร้อม

ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีมากไม่ว่าจะเป็นหลังคารั่ว กระเป๋าเดินทางของผู้โดยสารล่าช้า สูญหาย ปริมาณห้องน้ำไม่พอเพียงกับปริมาณผู้ใช้สนามบิน ฯลฯ แต่ที่ดูจะได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดคือ ชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมินั่นเอง

ชุมชนที่ว่าได้รับความเดือดร้อน เพราะ เสียงจากเครื่องบินขึ้น ลงเป็นอย่างมาก บางหลังหลังคาหลุดเนื่องจากความสั่นสะเทือนของเสียง อีกทั้งไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไปเนื่องจากความดังของเสียงมีมากเกินกว่าที่จะรับได้

อย่างไรก็ตามบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้จัดโครงการประกวดแบบบ้านพักอาศัย เพื่อใช้ก่อสร้างในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเสียงเครื่องบินบริเวณชุมชนโดยรอบสนามบิน

ผลการประกวดปรากฎว่า "จารึก ทวีอำนวยศรี" "อินทัช เวชสาร" นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ "พิชญ ประเสริฐวงษ์" นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง กับผลงานที่ชื่อ "Connection to the Sky"

ทั้ง 3 คนมีแนวคิดอย่างไร


"จารึก ทวีอำนวยศรี" กล่าวว่า โครงการประกวดแบบบ้านสุวรรณภูมิ เป็นการออกแบบบ้านเดี่ยวบนพื้นที่ขนาดประมาณ 150 ตารางเมตร สำหรับผู้พักอาศัย 3 - 4 คน ซึ่งแบบบ้านดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ และเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ภายใต้กรอบของกฎหมายผังเมืองรวม และกฎควบคุมอาคาร ภายใต้งบประมาณการก่อสร้าง 1.5 ล้านบาท

"แนวคิดในการออกแบบจึงคิดถึงสนามบินสุวรรณภูมิ การเชื่อมต่อระหว่างพื้นดินกับท้องฟ้าโดยมองผ่านกระจก

จึงได้ผลงาน "Connection to the Sky" เป็นงานที่เน้นเส้นสายของงานสถาปัตยกรรมที่เชื่อมสู่ท้องฟ้า เช่น การออกแบบอาคารที่เรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอย และลดเสียงเข้าสู่อาคารด้วยการออกแบบแผงบังแดด ฯลฯ

โดยศึกษาค้นคว้าทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายเทความร้อน และการแทรกซึมผ่านของเสียง ซึ่งเราจะนำสิ่งที่ค้นคว้ามาแชร์ให้กันฟังก่อนดีไซน์แบบบ้าน

ดังนั้น แบบบ้านที่ได้จะมีการลดองค์ประกอบบางส่วนของเปลือกอาคาร ผนัง และหลังคา จึงได้รูปทรงอาคารแบบ Compact Form ในการสร้างประสิทธิภาพของตัวอาคาร เป็นต้น ส่วนบางเรื่องที่เราไม่เข้าใจก็จะปรึกษาอาจารย์"

ส่วนวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างนั้น "พิชญ ประเสริฐวงษ์" กล่าวว่าพวกเขาเลือกใช้วัสดุที่มีลักษณะหยาบ เพราะสามารถช่วยกระจายเสียงที่มาตกกระทบให้แยกจากกัน

เช่น การใช้ Metal Sheet มาทำหลังคา การนำฉนวน PU Foam มาฉีดพ่นกันความร้อน และมีคุณสมบัติในการช่วยลดเสียง ก่อผนัง 2 ชั้น โดยใช้เทคนิคพิเศษ คือ ใส่โฟมความหนาแน่นสูง ระหว่างช่องอิฐบล็อก การติดอินซูเลส (กระจก 2 ชั้น) เป็นต้น

วัสดุที่เลือกใช้ถึงแม้ราคาจะค่อนข้างแพง


แต่ราคาโดยรวมก็ไม่ต่างจะบ้านจัดสรรทั่วไปมากนัก และมีความคุ้มค่ามากกว่า ดังนั้น บ้านจึงได้แบบที่พัฒนาให้แตกต่างจากบ้านทั่วไป พิชญ ประเสริฐวงษ์ กล่าวเสริม

ส่วน "อินทัช เวชสาร" กล่าวว่าพวกเขาทำงานที่ศูนย์บริการวิชาการของคณะฯ และเคยมีส่วนร่วมในการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน พวกเขาจึงนำประสบการณ์ดังกล่าวมาเป็น case study

และระหว่างทำงานมีบางครั้งความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่พวกเขาเปิดโอกาสให้แต่ละคนแสดงความคิดเห็นก่อนที่จะเลือกสิ่งที่คิดว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งผลที่ได้ก็ออกมาน่าพึงพอใจ

"สิ่งที่ได้รับจากการส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้รับ นอกเหนือจากการเรียนให้ห้องเรียนอย่างมาก และสามารถนำประสบการณ์นี้ไปพัฒนาทั้งในวิชาเรียน และวิชาชีพต่อไปในอนาคตครับ" อินทัชกล่าวทิ้งท้าย...


ขอขอบคุณ :

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
โดย ผู้จัดการออนไลน์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์