เมื่อวันที่ 14 ก.ย. นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า
เนื่องจากมีการตรวจสอบพบแหล่งเพาะพันธุ์หมัดแมว ผู้บริหารกทม. จึงได้สั่งฉีดพ่นยากำจัดหมด แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากต้นเหตุมาจากแมวที่อาศัยอยู่ในศาลาว่าการกทม. และเหตุที่มีแมวเป็นจำนวนมาก เพราะว่ามีหนู ซึ่งหนูเหล่านี้มาตามอาหารที่ข้าราชการกทม.รับประทานไว้หรือวางไว้ และเมื่อทำการดักหนูและแมวตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.-13 ก.ย.สามารถจับแมวได้แล้ว 29 ตัว หนู 109 ตัว อย่างไรก็ตามขณะนี้ตรวจสอบพบว่ามีคนแอบปล่อยหนูและแมว และอาจจะทำกรงดักแมวชำรุดเสียหาย
นายธีระชน กล่าวว่า การดำเนินการในครั้งนี้ ไม่ใช่การนำสัตว์ไปทารุณ
อยากให้ข้าราชการที่สงสารแมวรักแมวเข้าใจด้วยว่าเป็นการแก้ไขปัญหาสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน เพราะทุกวันนี้มีแมวอาศัยอยู่ใต้ฝ้าเพดานชั้น 5 ของศาลาว่าการฯ กว่า 100 ตัว มีหมัดแมวจำนวนมหาศาล สร้างความเดือดร้อนให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสำนักงบประมาณ หากไม่จัดการที่ต้นเหตุก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะเข้าทำการฉีดพ่นและทำความสะอาดจะไล่ดำเนินการตั้งแต่ชั้น 5 ลงมาจนถึงชั้น 1 ในวันเสาร์-อาทิตย์ นี้
สำหรับเอกสารที่พวกหมัดแอบเข้าไปอาศัยอยู่ก็ต้องหาวิธีการกำจัดแต่ต้องไม่ทำให้เอกสารชำรุดเสียหาย
และที่จับแมวไปนั้นเรานำไปที่ศูนย์ควบคุมสัตว์กรุงเทพมหานคร (ประเวศ) เพื่อบำบัด หมัด เห็บ ไร อาบน้ำ ถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีนให้ปลอดโรค หากใครสงสารหรือสนใจสามารถรับแมวไปเลี้ยงต่อได้ โดย กทม.ตั้งโครงการรับแมวไปเลี้ยงที่บ้าน คนกทม.ที่รักแมวสงสารแมว ให้อาหารแมว หรือปล่อยแมวที่จับได้ โปรดนำแมวที่บำบัดแล้วกลับไปเลี้ยงที่บ้านด้วย ติดต่อขอรับอุปการะแมวได้ที่ ศูนย์ประเวศ โทร.0-2328-7460, 0-2329-0472-3 ทั้งนี้ ได้จัดทำสติ๊กเกอร์โครงการรับแมวไปเลี้ยงที่บ้านนำไปติดประชาสัมพันธ์ตามหน่วยงานต่างๆทั่วศาลาว่าการกทมฯ แล้ว สำหรับหนูที่จับได้นั้นกทม.โดยสำนักอนามัยจะดำเนินการตามวิธีระบาดวิทยา
“หากข้าราชการลูกจ้างของกทม.สงสารแมวที่ถูกจับ ก็สามารถขอนำกลับไปเลี้ยงดูที่บ้านได้ ไม่ควรมาแอบให้อาหารทำให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หมัด เห็บอย่างตอนนี้ กลายเป็นภาระและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ร่วมงาน เหตุที่ผมทำเช่นนี้ก็ไม่ใช่ว่าเกลียดแมวแต่อย่างใดแต่ต้องการให้ผู้ร่วมงานทุกคนมีสุขอนามัยที่ดีเท่านั้น เพราะถ้าหากเราจะทำความสะอาดเมือง ฉีดเห็บหมัดให้ทั่วกรุงแต่บ้านของตัวเองกลับเป็นแหล่งเพาะพันธุ์คงไม่ดีแน่นอน จึงต้องเริ่มที่บ้านตัวเองเสียก่อน” นายธีระชนกล่าว