อองซานซูจี ชี้พม่ายังไม่เข้าใกล้ประชาธิปไตย นักโทษการเมืองยังไม่ถูกปล่อยตัว
ผู้นำประชาธิปไตยของพม่า นาง Aung San Suu Kyi กล่าวถึงการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า รัฐบาลชุดใหม่ ชาวพม่าผู้ลี้ภัยทางการเมือง มาตรการลงโทษของประเทศตะวันตกและความช่วยเหลือที่ให้แก่พม่า ระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ต่อผู้สื่อข่าว Voice of America ภาคภาษาพม่า Knin Soe Win ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวของ Voice of America ภาคภาษาพม่าคนแรกในรอบ 16 ปีที่ได้วีซ่าผู้สื่อข่าวจากรัฐบาลพม่า
การให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ต่อผู้สื่อข่าว Voice of America ภาคภาษาพม่า นาง Aung San Suu Kyi เน้นย้ำว่า แม้พม่าได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้วและมีรัฐบาลชุดใหม่นำโดยพลเรือนซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นเสมือนตัวแทนของกองทัพ แต่เธอเชื่อว่าพม่ายังไม่เข้าใกล้สู่การมีระบอบประชาธิปไตยดังที่ผู้นำกองทัพพม่ากล่าวอ้าง โดยประเด็นหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือพม่ายังไม่ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดออกมา
ผู้นำประชาธิปไตยของพม่ากล่าวว่าการมุ่งหน้าสู่แนวทางประชาธิปไตยนั้นต้องประกอบรวมปัจจัยหลายอย่างเข้าด้วยกัน การปล่อยตัวนักโทษการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในพม่าเช่นกัน นาง Aung San Suu Kyi ระบุว่าประเด็นเรื่องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองนี้ไม่ควรถูกจับแยกออกจากเรื่องอื่นๆ และไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการเจรจา เพราะเธอเชื่อว่าการเจรจาพูดคุยระหว่างกลุ่มต่างๆเพื่อสะสางความแตกต่างขัดแย้งจะช่วยให้กระบวนการปล่อยตัวนักโทษการเมืองดำเนินไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
บรรดาองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่าปัจจุบันมีนักโทษการเมืองในพม่ามากกว่า 2 พันคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สัญญาณในด้านบวกหลังการเลือกตั้งดังกล่าวพอมีอยู่บ้าง เช่นการปล่อยตัวนาง Aung San Suu Kyi ออกจากการกักบริเวณภายในบ้านพัก ตลอดจนการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มสื่อมวลชนและการขอวีซ่าเข้าประเทศพม่า
เมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีพม่าอดีตนายพล Thein Sein พบปะกับนาง Aung San Suu Kyi และเจรจาอย่างเป็นกันเอง นอกจากนี้ประธานาธิบดี Thein Sein ยังได้ประกาศเชิญชวนให้ชาวพม่าที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศเดินทางกลับเข้าพม่าเพื่อช่วยฟื้นฟูประเทศ แม้ว่าจะมีผู้สื่อข่าวพม่าอย่างน้อยหนึ่งคนที่ยอมรับคำเชิญนั้นถูกควบคุมตัวและสอบปากคำเมื่อเดินทางถึงพม่า
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นาง Aung San Suu Kyi กล่าวต่อ Voice of America ภาคภาษาพม่าว่าการจะกลับประเทศหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของชาวพม่าผู้ลี้ภัยแต่ละคน แต่ผู้นำประชาธิปไตยของพม่าชี้ว่าสำหรับใครที่ตัดสินใจหรือสนใจกลับมาเข้าร่วมในกระบวนการทางการเมืองในพม่า ต้องพึงระลึกไว้ว่าเสรีภาพทางการเมืองภายในพม่าเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นแตกต่างกันอย่างยิ่ง
ไม่นานนี้ผู้แทนพิเศษของสหรัฐประจำพม่า นาย Derek Mitchell พบปะกับนาง Aung San Suu Kyi และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลพม่าเพื่อหารือเรื่องเงื่อนไขหรือข้อแม้ต่างๆในการยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีต่อพม่า ซึ่งนาง Aung San Suu Kyi ชี้ถึงเรื่องนี้ว่ามาตรการลงโทษดังกล่าวควรถูกยกเลิกเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในพม่า นอกจากนี้เธอยังกระตุ้นให้ประเทศตะวันตกมอบความช่วยเหลือให้แก่ชาวพม่าโดยมุ่งเน้นในด้านสาธารณสุขและการศึกษาซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอย่างมากในพม่าเวลานี้
(โดย Daniel Schearf/ทรงพจน์ สุภาผล | กรุงเทพมหานคร/กรุงวอชิงตัน / voa )