วันที่ 12 ก.ย. รศ.ดร.วิชิต คนึงสุขเกษม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ กล่าวถึงกระแสฮิตของวัยรุ่นในต่างประเทศ
โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่นิยมทำท่า "แบ๊ตแมนนิ่ง" ห้อยหัวลงพื้นเลียนแบบมนุษย์ค้างคาว เพราะเบื่อทำท่า "แพลงกิ้ง" หรือท่านอนตายซึ่งเคยฮิตเช่นเดียวกัน ว่า ท่าแบ๊ตแมนนิ่งดังกล่าวใกล้เคียงกับท่าออกกำลังกาย แต่ท่าออกกำลังกายจะไม่ทำลักษณะที่ทำให้เลือดตกหัวมากเท่านี้ คือ จะไม่มีท่าที่ศรีษะอยู่ด้านล่างในแนวตั้ง 90 องศา แต่จะเป็นการล็อคเท้ากับไม้กระดก มีอุปกรณ์กรสายรัดเพื่อความปลอดภัย การทำให้เลือดตกที่ศรีษะมากเกินไปจะทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะหัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยง และจะอันตรายยิ่งขึ้นหากมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจ หลอดเลือด และหากขาไม่แข็งแรงก็จะรับน้ำหนักไม่ไหวอ่อนแรกและตกลงมาได้รับอันตราย
“เลือดจะไหลเวียนตามแรงโน้มถ่วงของโลกด้วย การห้อยหัวลงคล้ายกรณีการยืนเป็นเวลานานก็ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้ การเอาหัวลงก็ทำให้เลือดตกมาอยู่ที่หัว ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ทำก็ไม่ดีทั้งนั้น อาจทำให้เกิดอันตรายได้” รศ.ดร.วิชิต กล่าว
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผอ.สถาบันรามจิตติ กล่าวว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการแสดงออกเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม
โดยเฉพาะการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน จึงมักคิดว่าการกระทำที่แปลกออกไปจะทำให้เกิดการยอมรับได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบสังคม โรงเรียนของไทย ทำให้เด็กเป็น "โรคศักดิ์ศรีบกพร่อง" เมื่อเด็กไม่มีที่ยืนในสังคมก็แสดงออกด้วยการเรียกร้องความสนใจ เป็นเรื่องที่รัฐบาล ชุมชน โรงเรียน ต้องลงทุนในเรื่องการสร้างกิจกรรม สร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออก ไม่ว่าจะเป็นลานกีฬาหรือลานกิจกรรม หากเด็กได้ออกแรง ได้ใช้พลังในทางสร้างสรรค์ ก็จะไม่สนใจในการแสดงออกในทางที่ไม่สร้างสรรค์
นายอมรวิชช์ กล่าวว่า การถ่ายรูปอวดกัน และเว็บไซต์อย่าง Facebook ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ได้แต่หวังว่า เด็กไทยจะรู้เท่าทันกระแสต่างๆ เหล่านี้ เพราะกระแสใหม่ๆ ก็จะมาเรื่อยๆ หากทำตามก็ไม่ได้เกิดความภูมิใจถาวร ไม่เหมือนการเล่นกีฬา