“กรมอุตุนิยมวิทยา” ประกาศเตือนภัยฉบับที่ 14 ให้ 35 จังหวัดระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนภาคกลาง-กทม.-ปริมณฑล ทำใจระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้น
วันที่ 12 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนภัย “ฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณประเทศไทย” ฉบับที่ 14 ลงวันที่ 12 ก.ย. 54
ระบุว่า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจังหวัดตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี อุทัยธานี สระบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา และสตูล ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
ส่วนพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำบริเวณภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ให้เตรียมป้องกันระวังอันตรายจากปริมาณน้ำท่วมที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะ 1-2 วันนี้
นายภานุ แย้มศรี ผอ.ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ในฐานะประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 16 จังหวัด รวม 69 อำเภอ 516 ตำบล 2,820 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 202,760 ครัวเรือน 465,792 คน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี สิงห์บุรี นครปฐม สุพรรณบุรี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี จันทบุรี และสระบุรี มีผู้เสียชีวิต 80 ราย พื้นที่การเกษตร 3.6 ล้านไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์ แบ่งเป็น บ่อปลา 67,618 ไร่ กุ้ง หอย ปู 2,284 ไร่ ปศุสัตว์ 2,794,246 ตัว
นายภานุ กล่าวต่อไปว่า ในระยะ 1 – 2 วันนี้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกชุกหนาแน่นและตกหนักถึงหนักมาก
โดยเฉพาะบริเวณ จ.ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและ จ.สตูล จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านของทั้ง 32 จังหวัด ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และ ดินโคลนถล่ม
ส่วนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำบริเวณภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงภาคตะวันออก
ให้เตรียมการป้องกันปริมาณน้ำท่วมที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ให้เฝ้าระวังภาวะน้ำล้นตลิ่งอย่างใกล้ชิด ติดตามสถานการณ์น้ำเป็นระยะ ทำการเสริมกระสอบทรายเป็นแนวป้องกัน พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูง
นอกจากนี้ ศอส. ขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้แก่
อำเภอสุขสำราญ อำเภอกะเปอร์ อำเภอเมืองระนอง จ.ระนอง อำเภอพะโต๊ะ อำเภอสวี อำเภอเมืองชุมพร จ.ชุมพร อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง จ.พังงา อำเภอเขาพนนม อำเภอหน้าเขา อำเภอเมืองกระบี่ จ.กระบี่ และอำเภอห้วยยอด อำเภอปะเหลียน จ.ดตรัง เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะ 1 – 2 วันนี้ หากสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ในทันที.