ป.ป.ช.ตอกนโยบายจำนำข้าวเอื้อทุจริต

เสนอแนวทางรัฐบาลพร้อมปัญหาโยกย้าย เน้นเพิ่มงานป้องกันสรุปผลงานรายปีเผยคดีเก่า 9,000 กว่าเรื่อง

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.)แถลงผลการทำงาน โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ( พ.ร.บ.ป.ป.ช.)ฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่  19 เม.ย.ป.ป.ช.ได้เน้นงานด้านป้องกันทุจริตมากขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้งานด้านตรวจสอบ เช่น กฎหมายมีมาตราที่ว่าด้วยการคุ้มครองพยาน ให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแส ถ้าสามารถเอาผิดจนถึงขั้นยึดทรัพย์ได้ ตั้ง ป.ป.ช.จังหวัดซึ่งจะต้องมีทั่วประเทศในวันที่ 19 เม.ย. 56 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ และจะเปิดสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่ออบรมการป้องกันการทุจริตในระดับต่างๆ อบรมพนักงานไต่สวนให้ทำสำนวนได้แม่นยำมากขึ้น เพราะศาลจะไต่สวนโดยใช้สำนวน ป.ป.ช.

นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.กล่าวว่า คดีของ ป.ป.ช.สรุปถึงวันที่ 18 ส.ค.54 รับคดีมาทั้งสิ้น 25,924 เรื่อง

ดำเนินการแล้วเหลือ 9,028 เรื่อง ชี้มูลแล้ว 439 เรื่อง ซึ่งจากการคำนวณเรื่องร้องเรียน พบจังหวัดที่ยื่นเรื่องมากที่สุดคือ กทม.2,660 เรื่อง รองลงมานครราชสีมาและเชียงใหม่ ทั้งนี้ ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ที่มีการคุ้มครองพยานนั้น มีผลดีต่อคดี เช่น คดีทุจริตสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ ซึ่งได้สอบปากคำแล้ว 184 ราย และแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องแล้ว 145 ราย แต่จาก พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ที่ให้มีการคุ้มครองพยาน ทำให้มีผู้กลับมาให้ถ้อยคำใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี

นายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่า   ป.ป.ช.นำผลวิจัยเรื่องโครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต ให้กับรัฐบาลชุดนี้พิจารณา
 
เพื่อให้เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวมีปัญหา ขาดทุนจำนวนมาก เนื่องจากรัฐกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคา ตลาด แต่ประมูลขายในราคาต่ำกว่าราคาส่งออกในตลาด และการที่รัฐจ่ายค่าจ้างสีแปรสภาพและค่าเช่าโกดังให้ผู้ประกอบการในอัตราสูง กว่าอัตราตลาด  การเสนอเรื่องนี้ของป.ป.ช.ไม่มีนัยทางการเมืองอะไรเพราะได้เคยนำเสนอไป ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว แต่เมื่อรัฐบาลชุดนี้ได้เปลี่ยนนโยบายจากการประกันราคามาเป็นรับจำนำ จึงเห็นควรเสนอเรื่องไปให้พิจารณาตามที่มีผลวิจัยได้สรุปเอาไว้ว่า จำนำเสียหายมากกว่าการรับประกันราคา ส่วนรัฐบาลจะดำเนินการตามข้อเสนอหรือไม่เป็นดุลยพินิจของรัฐบาล

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ป.ป.ช.ก็ได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลเช่นกัน โดยให้ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละกระทรวง ให้กลั่นกรองและพิจารณา  ไม่ใช่เพียงแค่อำนาจฝ่ายการเมืองลำพัง ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ( ก.พ.) ก็เห็นด้วย และรัฐบาลก็คงมอบหมายให้ ก.พ.ทำรายละเอียดเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ และนายกรัฐมนตรีก็คงรับทราบเพราะเป็นประธาน ก.พ.โดยตำแหน่ง.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์