เอ็นจีโอแฉแหลกรีสอร์ตวังน้ำเขียว-ปากช่อง
ส่งส่วยเดือนละล้าน พร้อมขู่ถวายฎีกาหากป่าไม้ยังใช้ไม้แข็ง ด้าน “ปรีชา-โชติ” ยันเดินหน้าฟันรุกป่าวังน้ำเขียว ลั่นใครก็มาบีบให้หยุดไม่ได้
วันนี้ (2 ก.ย.) นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ กรณีที่มีนักการเมืองใน จ.นครราชสีมา ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน รวมทั้งนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เข้ายื่นหนังสือขอความชัดเจน และขอให้ชะลอการดำเนินคดี กรณีการบุกรุกที่ดิน ในเขตป่าสงวนป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว ว่า ตนทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้ให้นโยบายชัดเจนไปกับผู้บริหารของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้ว ว่า ทุกอย่างจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากใครที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน หรือบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ให้แจ้งความดำเนินคดีได้ทันที ไม่ต้องยกเว้นใคร ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น หรือนักการเมืองระดับชาติ ส่วนคดีจะสิ้นสุดอย่างไรขึ้นอยู่กับศาล
“เรื่องให้ชะลอการดำเนินคดีนั้น คงชะลอไม่ได้ เพราะเมื่อเขาทำผิดกฎหมาย และเราก็รู้ หากเราชะลอถือว่าเราละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น จึงชะลอ หรือยุติการดำเนินการเรื่องนี้ไม่ได้ ไม่ต้องกลัวว่าเรื่องนี้จะล้มกระดาน หรือยุติการดำเนินการ เพราะยุติไม่ได้ต้องเดินต่อตามขั้นตอน” นายปรีชา กล่าว
เมื่อถามว่า คิดอย่างไรกับการที่ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ แกนนำ นปช. และอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย
และ นายประนอม โพธิ์คำ ส.ส. นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย นำคนมากดดัน และพยายามโยงเรื่องการเมือง นายปรีชา กล่าวว่า อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะตนบอกมาตลอดว่า ถูกก็ว่าถูก และไม่อยากให้โยงเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งขอประกาศอีกครั้งว่า ใครก็มาบีบบังคับตนไม่ได้ ในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวงนี้ ต้องแก้ปัญหาให้จบ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ทางอธิบดีกรมป่าไม้ และอธิบดีกรมอุทยานฯ ก็จะรายงานความคืบหน้าให้ทราบทุกสัปดาห์อยู่แล้ว อีกทั้ง ในสัปดาห์หน้าจะมีการตั้งคณะทำงานติดตามการทำงานชุดกลาง ที่จะมีทั้งหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยาน รวมทั้งกองบังคับการการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ร่วมเป็นกรรมการด้วย
ด้าน นายโชติ ตราชู ปลัด ทส. กล่าวว่า เวลานี้รัฐบาล และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เอง มีความชัดเจนอย่างมาก
เรื่องการดำเนินการจัดการกับผู้ที่บุกรุกป่าสงวนในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว โดยจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่มียกเว้นให้ใครอย่างเด็ดขาด ตนไม่เข้าใจว่าการที่มีทั้งนักการเมือง และเอ็นจีโอมากันที่กระทรวง เมื่อวันที่ 1 ก.ย.นั้น เขามาเพื่อจุดประสงค์อะไรกันแน่ เพราะถ้ามาเพื่อขอให้เราชะลอการดำเนินคดีตามที่เป็นข่าว บอกได้เลยว่าทำไม่ได้ ไม่รู้จะเอาเหตุอะไรมาอ้างเพื่อชะลอ เพราะเราแจ้งความไปแล้วในกรณีรุกป่าสงวนของกรมป่าไม้ และในส่วนของการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน หลายคดีศาลตัดสินแล้วด้วยว่าผิด ซึ่งแบบนี้ใครก็ชะลอไม่ได้ ต้องเดินหน้าทำงานต่อ เพราะถ้าชะลอ หรือไม่ทำ เราก็จะโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เสียเอง
“ขอเรียนอีกครั้งว่าในส่วนของประชาชนที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ เข้าข่ายข้อยกเว้นตามมติ ครม.วันที่ 30 มิ.ย.2541 นั้น ก็สามารถอยู่อาศัยได้ตามปกติ เข้าใจว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เข้าข่ายดังกล่าว ที่เราต้องการดำเนินการเอาที่ดินคืน คือ พวกรายใหญ่ที่บุกเข้าไปสร้างบ้านพัก สร้างรีสอร์ต พวกนี้ทำผิดกฎหมายชัดเจน ต้องยอมรับ ผมไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าพวกที่มาเรียกร้องเขาเรียกร้องให้ใครกันแน่ ถ้าจะบอกว่าเรียกร้องให้ชาวบ้านคนยากจนนั้น ไม่ต้องเรียกร้อง เพราะเราไม่ทำอะไรอยู่แล้ว ถ้าอยู่แบบถูกเราก็ไม่ทำอะไร ที่ต้องทำเวลานี้ คือ 22 ราย ซึ่งเท่าที่ดูไม่มีรายไหนที่ยากจนเลย” นายโชติ กล่าว
ส่วน นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คิดว่าฝ่ายการเมือง ไม่ว่าทั้งจากรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน ไม่ควรไปกดดันการปฎิบัติงานของข้าราชการ ข้อเรียกร้องบางข้อก็จะทำให้ข้าราชการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 157 ได้ ทั้งนี้ ถ้าเป็นกรณีข้าราชการรังแกชาวบ้านนักการเมืองเข้าไปช่วยได้ แต่ถ้าข้าราชการทำงานอย่างตรงไปตรงมาไม่ควรกดดัน เรื่องนี้ข้อเสนอของตนคือ ผู้กระทำผิดไม่ว่าจนหรือรวย ถ้าทำผิดโดยเจตนาต้องเอาผิดให้ได้ แต่ถ้าขาดเจตนา เช่น ถูกหลอกให้ซื้อเอกสารสิทธิ์ปลอม ก็ต้องให้ความเป็นธรรม นอกจากนั้น หากมีข้าราชการร่วมในการทำผิด ก็ต้องได้รับโทษด้วย
นายกฤษณ์ สุขมังสา ประธานเครือข่ายรักษ์เขาใหญ่ กล่าวว่า จากการที่ได้เข้ายื่นหนังสือ และประชุมร่วมกับอธิบดีกรมป่าไม้ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา รู้สึกผิดหวัง เพราะท่าทีของทางกรมป่าไม้ไม่ได้แสดงความเข้าใจ หรือเห็นใจประชาชนที่เป็นเหยื่อของการใช้อำนาจในทางที่ผิด ซึ่งหลังจากนี้ ถ้าทางกระทรวงยังใช้ไม้แข็ง โดยเอากฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชนอย่างเดียว ก็จะร่วมตัวกันถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพราะพื้นที่วังน้ำเขียวเป็นพื้นที่ชุมชนเก่าแก่ และอยู่มาตั้งแต่ก่อนประกาศพื้นที่ป่าสงวน และ ส.ป.ก. ซึ่งในตอนนั้นทางภาครัฐใช้อำนาจในการแบ่งเขต โดยขีดเส้นอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ได้ไปลงพื้นที่จริง ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน และจำกัดสิทธิ์พื้นฐานในการทำมาหากิน นอกจากนั้น ภายในเดือน ก.ย.นี้ ทางกลุ่มจะเข้ายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งทบทวนการกระทำของ ทส.ในกรณีวังน้ำเขียวด้วย ก่อนจะถวายฎีกาตามลำดับ
“นอกจากนั้น ผมทราบว่าในพื้นที่วังน้ำเขียว และปากช่อง มีการเรียกเก็บส่วยจากรีสอร์ทหลายแห่งในพื้นที่ แต่ละเดือนรายได้กว่า 1 ล้านบาท หน้าฉากก็พยายามบังคับใช้กฎหมาย แต่หลังฉากก็กินกันทั้งนั้น ส่วนกรณีที่นายปรีชาระบุว่า จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่นั้น ผมขอบอกว่าอย่าฟิตจนเกินไป เพราะใน จ.เลย ของนายปรีชา มีการบุกรุกกันมากกว่านี้ ทั้งบุกรุกป่าสงวน ป่าอุทยานฯ และการทำเหมืองแร่ ทำไมจึงไม่รีบเข้าไปแก้ไข ไม่อยากเห็น 2 มาตรฐานในการปฎิบัติงาน โดยทำแค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง” ประธานเครือข่ายรักษ์เขาใหญ่ กล่าว.