เขื่อนลำปาวปล่อยน้ำท่วม 4 อำเภอ

ภาพข่าวจาก เดลินิวส์


เขื่อนลำปาวเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำ ส่งผลให้พื้นที่นาข้าวใน 4 อำเภอของกาฬสินธุ์ถูกน้ำท่วมแล้ว 4 หมื่นไร่ 

            
วันนี้ ( 29 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ พบว่าเขื่อนลำปาว ซึ่งเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ ยังคงทำการเร่งระบายน้ำลงในแม่น้ำปาวเฉลี่ยวันละ 6 ล้าน ลบ.ม.เพื่อรองรับน้ำจากเทือกเขาภูพานด้าน จ.สกลนคร และ จ.อุดรธานี ส่งผลให้ปริมาณน้ำวันนี้มีปริมาณอยู่ที่ 1,278 ลบ.ม.
            
ด้านนายวิโรจน์  จิวะรังสรรค์ ผวจ.กาฬสินธุ์ ในวันนี้ได้ออกติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว บริเวณสะพานเทพสุดา ในเขต อ.สหัสขันธ์ พบว่ายังคงมีน้ำไหลหลากจาก จ.อุดรธานี และ จ.สกลนคร แต่เนื่องจากยังคงมีฝนตก จะทำให้พื้นที่ราบลุ่มเกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่า พื้นที่นาข้าวเกษตรกรใน 4 อำเภอประกอบ ด้วย อ.ยางตลาด อ.ฆ้องชัย อ.กมลาไสย  และ อ.ร่องคำ ถูกน้ำท่วมนาข้าวแล้วถึง 4 หมื่นไร่ แต่เนื่องจากยังมีการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว ประชาชนจึงควรใช้ความระมัดระวังในการหาปลาในระยะนี้

--@--เตือน 19 จังหวัดระวังน้ำป่า


ศอส.เผยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย 13 จังหวัด เตือน 19 จังหวัดลาดเชิงเขาระวังภัยน้ำป่าจากฝนตกชุก


เมื่อวันที่ 29 ส.ค. นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหาร สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.)  ว่า ขณะนี้มีจังหวัด ที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัยใน 13 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ นครนายก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี พังงา ภูเก็ต ระนอง  และสุราษฎร์ธานี รวม 57 อำเภอ 366 ตำบล 2,116 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 196,869 ครัวเรือน 592,070 คน 

จากเหตุการณ์อุทกภัยทั้งหมด มีผู้เสียชีวิต 49ราย สูญหาย 1 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 3,347,204  ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย 45,931 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 2.06 ล้านตัว  น้ำท่วมเส้นทางคมนาคม เสียหาย ทางหลวงไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 10  สาย  ใน 7 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย 2 สาย พิจิตร 2 สาย น่าน 2 สาย เชียงใหม่ 1 สาย พิษณุโลก 1 สาย พังงา 1 สาย ภูเก็ต 1 สาย ทางหลวงชนบทไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 13 สาย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 3 สาย นครสวรรค์ 2 สาย พิจิตร 4 สาย พิษณุโลก 1 สาย นครพนม 2 สาย  ระยอง  1 สาย 

 
นายชนม์ชื่น กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำต่าง ๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง อ.เมือง จ.ลำพูน  ลุ่มน้ำยม อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ขณะที่ภาวะน้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่ยังอยู่ในระดับทรงตัว ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก อ.โพทะเล จ.พิจิตร ลุ่มน้ำน่าน อ.เมือง อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ลุ่มน้ำป่าสัก ที่ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่คลองบางหลวง คลองบางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ลุ่มน้ำชี ที่ อ.เมือง อ.มหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ส่วนพื้นที่ที่ภาวะน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง ที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ รวมถึงลุ่มน้ำโขง ขณะที่ลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งที่แม่น้ำสงคราม แม่น้ำก่ำ ห้วยโมง และห้วยหลวง
 
นายชนม์ชื่น กล่าวต่อว่า สำหรับการคาดหมายลักษณะอากาศ ในภาพรวมทั่วประเทศ จะมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ตามที่ลาดเชิงเขาและใกล้ทางน้ำไหลผ่านของ 19 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง  พังงา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล  เตรียมพร้อมรับมืออันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.บ่อไร่ จ.ตราด อ.เมือง อ.ท่าใหม่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี  ทั้งนี้ ศอส. ได้สั่งกำชับให้ทั้ง 19  จังหวัดในพื้นที่   เสี่ยงภัยดังกล่าวเข้มงวดในการปฏิบัติการเฝ้าระวัง  โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ และเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัย

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์