สถานการณ์ ´อิรัก´ ช่วงย่างสู่ปีหมูไฟ

สถานการณ์ ´อิรัก´ ช่วงย่างสู่ปีหมูไฟ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 31 ธันวาคม 2549 11:08 น.
เอเอฟพี - อิรักที่บอบช้ำอย่างหนักจากศึกสู้รบระหว่างคนในประเทศเดียวกัน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้ก้าวสู่ศักราชใหม่แล้ว แต่ความหวังของผู้คนที่จะได้เห็นความสงบ สันติภาพ กลับคืนสู่ประเทศแห่งนี้โดยเร็ว อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างห่างไกลจากความเป็นจริง

ปีเตอร์ กัลเบรธ ผู้เขีนหนังสือเรื่อง"The End of Iraq" ได้กล่าวว่า เหตุมือปืนชาวมุสลิมสุหนี่บุกวางระเบิดถล่มมัสยิดโดมทองคำ ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของพวกชิอะห์ในเมืองซามารอ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว ไม่ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเลยแม้แต่คนเดียว แต่อาจถือเป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดในอิรัก เพราะเหตุการณ์นี้เป็นจุดที่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในอิรักเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

นับตั้งแต่สหรัฐฯนำกองทัพบุกอิรักและโค่นรัฐบาลสุหนี่ของซัดดัม ฮุสเซน เมื่อเดือนมีนาคม ปี2003 เป็นต้นมา กลุ่มมือปืนชาวชิอะห์ก็ตามล่าสมาชิกพรรคบาธผู้สวามิภักดิ์ต่อซัดดัม ขณะที่กลุ่มติดอาวุธสุหนี่ นำโดยเครือข่ายก่อการร้ายอัลกอิดะห์ในอิรักก็ตอบโต้พวกชิอะห์เช่นกัน

ทว่า หลังจากเกิดเหตุระเบิดที่มัสยิดศักดิ์สิทธิ์ในเมืองซามารอนั้น กลุ่มหัวรุนแรงชิอะห์เริ่มหันมากระหน่ำโจมตีพลเรือนชาวสุหนี่ เปลี่ยนสภาพกรุงแบกแดดให้กลายเป็นหนึ่งในเมืองอันตรายที่สุดในโลก

ขณะที่กลุ่มอัลกออิดะห์ก็วางระเบิดสังหารหมู่ในย่านที่พักของชาวชิอะห์มากมาย ซึ่งการโจมตีครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เมื่อมือระเบิดก่อเหตุคาร์บอมบ์หลายระลอกโจมตีย่านชุมชนชาวชิอะห์ในกรุงแบกแดด คร่าชีวิตประชาชนไปมากถึง 202 คน

บางคนกล่าวว่ากองทัพสหรัฐฯในอิรักเป็นที่พึ่งสุดท้ายในการรักษาความปลอดภัยในอิรัก

แต่ปรากฏว่าทหารอเมริกันถูกสังหารไปเกือบ 3,000 นายแล้ว นับตั้งแต่ปี2003 ส่งผลให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุช เจอแรงกดดันอย่างหนักและคะแนนความนิยมในตัวบุชตกต่ำถึงขีดสุด จนในที่สุดบุชและพรรครีพับลิกันต้องพ่ายแพ้ต่อเดโมแครตในการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนต้นเดือนพฤศจิกายน และทำให้เดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี

ด้านกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ(เพนทากอน)ก็เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอิรักเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะเดียวกัน ชาวอิรักกว่า 50,000 คน ตกเป็นเหยื่อสังเวยชีวิตให้กับเหตุรุนแรงในอิรัก

โดยรายงานของสหประชาชาติระบุว่า เฉพาะเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว มีพลเรือนอิรักเสียชีวิตมากถึง 3,709 คน ด้านกระทรวงกิจการผู้อพยพแถลงว่า นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีชาวอิรักลี้ภัยออกจากที่พักอาศัยกว่า 430,000 คนแล้ว

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวันในอิรัก ไม่ว่าจะเป็นเหตุระเบิดพลีชีพ คาร์บอมบ์ ลักพาตัวไปสังหารอย่างโหดเหี้ยมก่อนนำศพมากองทิ้งรวมกัน ทำให้หลายฝ่ายเห็นพ้องกับประโยคที่ว่า อิรักกำลังเผชิญกับ´สงครามกลางเมือง´

ประธานาธิบดีบุชนั้น แม้จะโต้ว่าอิรักไม่ได้เจอกับ´สงครามกลางเมือง´ และเลี่ยงไปใช้คำว่า ´การปะทะระหว่างกลุ่มเชื้อชาติศาสนาที่แตกต่างกัน´

แต่บุชก็จำใจยอมรับอย่างชัดเจนเมื่อเดือนธันวาคมว่า สหรัฐฯไม่ได้กำลังประสบชัยชนะในอิรัก ทั้งๆที่ ในช่วงหาเสียงก่อนหน้าการเลือกตั้งกลางเทอม บุชย้ำเสมอว่าสหรัฐฯได้ชนะในอิรัก

นอกจากนี้ บุชยังแต่งตั้งให้โรเบิร์ต เกตส์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม แทนโดนัลด์ รัมสเฟลด์ ที่ลาออกไป โดยคาดหวังว่า เกตส์ซึ่งเป็นคนที่เปิดรับฟังความเห็นจากผู้คนรอบข้างมากกว่ารัมสเฟลด์ จะสามารถหาวิธีแก้ปัญหาในอิรักได้

อย่างไรก็ดี บุชยังคงไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของกลุ่มศึกษาอิรัก อันประกอบไปด้วยบุคคลสำคัญจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน

นำทีมโดย เจมส์ เบเกอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ กลุ่มศึกษาอิรักได้เสนอให้รัฐบาลบุชถอนทหารหน่วยสู้รบออกจากอิรักภายในต้นปี2008 และเปิดการเจรจาโดยตรงกับอิหร่านและซีเรียเพื่อหารือการผ่าทางตันวิกฤติอิรัก แต่บุชไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำทั้งสองข้อนี้ และกำลังพิจารณาส่งทหารไปอิรักเพิ่มอีก 15,000 - 30,000 คน

ทางด้านการพิจารณาคดีอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน และพวกพ้อง ข้อหาสังหารหมู่ชาวชิอะห์ที่หมู่บ้านดูญาอิล เมื่อปี1982 ก็สิ้นสุดลง โดยเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ศาลพิเศษอิรักได้ตัดสินให้ซัดดัมและจำเลยร่วมอีก 2 คน อันได้แก่ บาร์ซัน อิบรอฮิม อัลติกริตี น้องชายต่างบิดาของซัดดัม และ อะวาด ฮาเหม็ด อัลบันเดร์ อดีตประธานผู้พิพากษาศาลปฏิวัติ ถูกแขวนคอ หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ศาลขั้นอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้น ให้แขวนคอจำเลยทั้งสาม โดยจะต้องดำเนินการประหารชีวิตภายใน 30 วัน ตามรัฐธรรมนูญของอิรัก

ต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม ก็มีรายงานว่า อดีตผู้นำอิรักถูกแขวนคอประหารชีวิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลายฝ่ายหรือแม้แต่สหรัฐฯ มองว่า การแขวนคอซัดดัมยิ่งกระตุ้นให้กลุ่มติดอาวุธสุหนี่ก่อเหตุนองเลือดโจมตีชิอะห์รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

จึงอาจกล่าวได้ว่า ในศักราชใหม่นี้ รัฐบาลสหรัฐฯและอิรักคงต้องเจอกับศึกหนักในการป้องกันไม่ให้อิรัก´แตกออกเป็นเสี่ยงๆ´และก่อให้เกิดสงครามแห่งภูมิภาคตะวันออกกลางในที่สุด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์