น้ำป่าพัดเสาไฟฟ้าล้มชาวแพร่ของหนีในความมืด "ปลัดสธ."สั่งสสจ.รพ.รับมือพายุ“นกเตน” โคราชเตรียมรับมือนำกระสอบทรายมาทำแนวกั้นน้ำ ศูนย์อุตุฯเหนือระบุโซนร้อนนกเตนอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ "นกเตน"เข้าเวียดนามแพร่น้ำป่าถล่ม
กรมอุตุฯ" ออกประกาศเตือนภัย พายุ"นกเตน" เผยล่าสุดขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามแล้ว ระบุพิษนกเตนทำให้ไทยมีฝนตกเป็นวงกว้าง ปชช.ที่อาศรัยพื้นลาดเชิงเขา และทางน้ำไหลผ่านระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำปลาไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ชาวแพร่ขนทรัพย์สินหนีน้ำกลางดึกหลังจากน้ำป่าทะลักท่วมพัดเสาไฟฟ้าแรงสูงล้ม
(31ก.ค.) กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัย พายุ"นกเตน” ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (31 ก.ค.54) พายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK-TEN) ได้ขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว และมีศูนย์กลางบริเวณประเทศลาวตอนบนหรือที่ละติจูด 19.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนตัวในแนวประเทศลาวและทางตอนบนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมแรง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ราบลุ่ม ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนี้
วันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ในบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ระนอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 1 สิงหาคม 2554 ในบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
วันที่ 2-3 สิงหาคม 2554 ในบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร กำแพงเพชร และตาก
ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2554 ไว้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตามที่กรมอุตุวิทยาได้แจ้งว่าพายุนกเต็น จะพัดเข้าสู่ จ.แพร่ ในช่วงวันที่ 31 ก.ค.-3 ส.ค.2554 ปรากฏว่า ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 31 ก.ค.ได้มีฝนตกลงมาอย่างหนักทั้งคืนจนถึงเช้านี้ในพื้นที่ จ.แพร่ มีปริมาณน้ำในลำห้วยในหลายพื้นที่มีระดับสูงขึ้น และนายชวน ศิริรนันท์พร ผวจ.แพร่ ได้สั่งการให้นายอำเภอทุกอำเภอ ได้เฝ้าระวังติดตามระดับน้ำและสถานการณ์ที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และให้ทางอำเภอทุกแห่งรายงานและให้ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรทันทีในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม
เมื่อเวลา 04.30 น.วันนี้ จากที่มีฝนตกหนักทั้งคืนน้ำป่าได้เอ่อล้น ลำห้วยขุนแม่คำมี ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในเขตเทศบาลตำบลร้องกวาง สูง 50 เซนติเมตร และมีทีท่าว่าจะสูงเพิ่มขื้น ทางเทศบาลตำบลร้องกวาง นำโดยนายกเทศมนตรีตำบลร้องกวาง ได้นำเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย และกองช่างได้ให้ความช่วยเหลือและแจกจ่ายอาหารให้กับราษฎรในเขตเทศบาล และแจ้งให้ย้ายทรัพย์สินไปไว้ในที่สูง ติดตามระดับน้ำอย่างต่อเนื่อง
ส่วนนายทรงฤทธิ์ แก้วสุทธิ นายอำเภอร้องกวาง ได้ออกตรวจดูในเขตอำเภอร้องกวางตั้งแต่เช้ามืด เนื่องจากปริมาณน้ำฝนได้ทะลักจากลำห้วยเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในหลายๆพื้นที่ โดยที่ ตำบลไผ่โทน อ.ร้องกวาง จ.แพร่ น้ำป่าทะลักจากลำห้วยขุนแม่คำมี เข้าท่วม บ้านเรือน ในช่วงกลางดึก และพัดเสาไฟฟ้าแรงสูงล้ม ทำให้ชาวบ้านต้องขนทรัพย์สินท่ามกลางความมืด
ทั้งนี้ นายสมควร ซุนตระกูล นายก อบต.ไผ่โทน รายงานให้ทางอำเภอร้องกวางทราบว่า น้ำป่าทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ หมู่1 หมู่ 2 หมู่ 3 และ หมู่ 9 เมื่อเวลา 04.00 น. สูง 1.50 เมตร จากการตรวจสอบเบื้องต้น บ้านเรือนราษฎร และ ไร่ข้าวโพดๆได้รับความเสียหาย และมีเสาไฟฟ้าแรงสูง ถูกกระแสน้ำป่าพัดล้ม 1 ต้น ทำให้ ชาวบ้านจำนวน 300 กว่าคน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะนี้ได้แจ้งให้ทาง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดแพร่ ให้เข้ามาแก้ไขแล้ว และได้นำเจ้าหน้าที่ของ อบต.ไผ่โทน นำอาหารไปแจกจ่ายให้กับ ราษฎร เนื่องจากฝนยังไม่หยุดตกและมีมีท่าว่าจะตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทางอบต.ได้เฝ้าระวัง และรายงานให้ทางอำเภอร้องกวาง และพร้อมจะอพยพราษฎรไปอยู่ในที่ปลอดภัยทันทีหากระดับน้ำสูงขึ้นไปอีก
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุ “นกเตน” ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลทุกระดับที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันตามคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย พิจิตร น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ตาก ระยอง จันทบุรี และตราด เตรียมแผนรองรับ 4 แผนหลัก
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า แผนดังกล่าวประกอบด้วย 1.แผนเตรียมความพร้อมเพื่อการป้องกันน้ำท่วมอาคาร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ เช่น การเตรียมกั้นกระสอบทราย การขนย้ายเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์อื่นๆ ไปไว้ในจุดที่ปลอดภัย 2.แผนสำรองทรัพยากรต่างๆ ที่มีความจำเป็นหากเกิดภาวะน้ำท่วม เช่นออกซิเจนเพื่อใช้ในผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือใช้ในห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด 3. แผนเตรียมความพร้อมการอพยพผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน หากมีน้ำท่วมอาคารบริการ และ 4.แผนเตรียมความพร้อมการให้บริการนอกสถานที่ตามความจำเป็น เช่นการให้บริการภาคสนาม การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ให้พร้อมตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ได้ให้ เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์และการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และให้หน่วยแพทย์ฉุกเฉินเตรียมความพร้อม หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ได้ที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
ชาวบ้านหนองตะลุมปุ๊กหมู่ที่ 10 ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นับ 10 หลังคาเรือน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอ่างเก็บน้ำของหมู่บ้าน ต่างต้องพากันไปขนกระสอบทรายที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลาจัดเตรียมไว้ให้มาทำเป็นแนวกั้นน้ำที่กำลังเอ่อล้นตลิ่งจากอ่างเก็บน้ำท่วมถนนที่กั้นกลางระหว่างชุมชนกับอ่างเก็บน้ำสูงกว่า 30 ซม. เนื่องจากสภาพอากาศในวันนี้มืดครึ้มจากอิทธิพลของพายุนกเตน ที่กำลังพัดผ่านประเทศไทย และพร้อมที่จะเกิดฝนตกหนักได้ทุกเมื่อ ซึ่งชาวบ้านต่างเกรงว่าหากเกิดฝนตกซ้ำลงมาอีกน้ำจากอ่างเก็บน้ำกลางหมู่บ้านจะเอ่อทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของตนเองภายในระยะเวลาอันรวดเร็วจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวเอาไว้ก่อน
ทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา โดยนายจำเริญ เปล้ากระโทก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมกระสอบทรายจำนวน 10,000 ใบ ไว้ให้ชาวบ้านได้ทยอยนำมาใช้เป็นแนวกั้นน้ำของแต่ละครอบครัวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน พร้อมกับสั่งการให้ทางเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากพบว่าเกิดฝนตกหนักในพื้นที่เหนือหมู่บ้าน อาทิ ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย , พื้นที่ ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง และ พื้นที่ อ.ปักธงชัย ให้รีบแจ้งเตือนประชาชนให้อพยพข้าวของขึ้นที่สูงโดยทันที นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จำนวน 2 เครื่องมาติดตั้งไว้ที่บ้านหนองตะลุมปุ๊กหมู่ที่ 2 และ หมู่ที่ 10 เพื่อเร่งสูบน้ำที่กำลังเอ่อท่วมถนนออกจากพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว
ขณะที่ทางเทศบาลนครนครราชสีมา เองได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของทางเทศบาลทุกส่วนจัดเตรียมความพร้อมการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง และสั่งการให้หัวหน้างานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำเทศบาล จัดกำลังเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังและคอยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ในพื้นที่ที่อาจจะเกิดน้ำท่วมใน 3 จุดคือ บริเวณชุมชนตลาดประปา , หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาถนนราชดำเนิน และถนนมิตรภาพบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา ตลอด 24 ชั่วโมง และให้จัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือการขุดลอกสิ่งปฏิกูลไปประจำยังจุดต่างๆทุกจุด พร้อมประสานขอรับทราบข้อมูลการเคลื่อนไหวของปริมาณน้ำที่จะมุ่งหน้าสู่เขตเทศบาลนครนครราชสีมากับหน่วยงานชลประทานภายในจังหวัดนครราชสีมาทุกหน่วย พร้อมกับประกาศแจ้งเตือนภัยระดับ 2 จากทั้งหมด 4 ระดับ หมายถึง มีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วมให้ประชาชนเฝ้าระวังแล้ว
ระดับการแจ้งเตือนเหตุอุทกภายของจังหวัดนครราชสีมา มีอยู่ 4 ระดับ ประกอบด้วย ระดับ 1 คือ ไม่มีน้ำท่วมในทุกพื้นที่ ระดับ 2 คือ เฝ้าระวังอยู่ระหว่างสังเกตการณ์มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดน้ำท่วม ระดับ 3 คือ เกิดน้ำท่วมแล้ว และระดับ 4 คือ น้ำท่วมอย่างรุนแรง อย่างในโคราชเมื่อปีที่แล้วที่เกิดน้ำท่วมรุนแรงถือว่าอยู่ในระดับ 4
ทางด้านนายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา กล่าวถึงมาตรการในการป้องกันภัยพิบัติดินโคลนถล่มในพื้นที่ 4 จังหวัด อีสาน ตอนล่าง ประกอบด้วย จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และ จ.นครราชสีมา ว่า ขณะนี้ ทางศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา ได้ออกประกาศเตือนไปยัง ปภ.จังหวัด ทั้ง 4 จังหวัด ให้มีการเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยที่ราบเชิงเขา โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลากใน 2 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา คือ จังหวัดนครราชสีมา รวม 6 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอด่านขุนทด อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว และ อำเภอเสิงสาง 1 ตำบล จังหวัดชัยภูมิ รวม 9 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอคอนสาร อำเภอจัตุรัส อำเภอเทพสถิต อำเภอบ้านเขว้า อำเภอภักดีชุมพล อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอหนองบัวแดง และ อำเภอหนองบัวระเหว ให้เฝ้าระวังดินโคลนถล่มในช่วงนี้ แนะควรติดตามสถานการณ์น้ำและพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ทางศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติดินโคลนถล่มพร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน หรือ มิสเตอร์เตือนภัย ในพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม.เพื่อเฝ้าระวังเหตุ ในส่วนจังหวัดที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษคือจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดนครราชสีมา อย่างไรก็ตามทาง ปภ.เขต 5 นครราชสีมา ได้มีการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นสามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือได้ทันที ตลอด 24 ชม
ขณะที่ทางสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ซึ่งดูแลรับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา , บุรีรัมย์ , สุรินทร์ และศรีสะเกษ รายงานสถานการณ์น้ำภายในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่มีอยู่ทั้งสิ้น 5 แห่งนั้นปริมาณน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.94 สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกจำนวนมาก
ล่าสุดประมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา อยู่ที่ 211.010 ล้าน ลบ.ม. จากความจุทั้งหมด 324.39 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65.05 อ่างเก็บน้ำลำมูลบน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ปริมาณน้ำอยู่ที่ 69.430 ล้าน ลบ.ม.ความจุทั้งหมด 141.00 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49.24 อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ปริมาณน้ำอยู่ที่ 170.800 ล้าน ลบ.ม. จากความจุทั้งหมด 275.00 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62.11 อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ปริมาณน้ำอยู่ที่ 63.060 ล้าน ลบ.ม. จากความจุทั้งหมด 109.63 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57.52 อ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ปริมาณน้ำอยู่ที่ 53.240 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 98.00 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54.33 และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ปริมาณน้ำอยู่ที่ 62.772 ล้าน ลบ.ม. ความจุ 121.40 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50.71
นายวรพจน์ คุณาวิวัฒนางกูร เวรพยากรณ์อากาศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวว่า ตอนนี้พายุโซนร้อนนกเตน ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว โดยศูนย์กลางอยู่ที่บางส่วนของภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่าง กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก แถบจังหวัดลำปาง ลำพูน และเคลื่อนออกที่แม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ จะทำให้บริเวณจังหวัดแพร่ น่าน และอุตรดิตถ์มีฝนตกชุก แต่ปริมาณไม่มากนัก จึงไม่น่ากังวลแต่อย่างใด
ส่วนเรื่องน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคเหนือนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้บ้างในพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ลุ่มรับน้ำ แต่สถานการณ์ไม่รุนแรง สำหรับจังหวัดเชียงใหม่นั้นจากการตรวจสอบเรดาห์พบว่ามีการกระจายตัวของกลุ่มเมฆฝนบริเวณตอนล่างของอ.เมือง แต่เป็นฝนกำลังอ่อน
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 04.00 น. พายุโซนร้อนนกเตน ได้ขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน และมีศูนย์กลางบริเวณลาวตอนบน ที่ละติดจูด 19.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.5 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนตัวในแนวประเทศลาวตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยจะทำให้ภาคเหนือมีฝนเป็นบริเวณกว้างและหนักมากในหลายพื้นที่ มีลมแรง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ราบลุ่ม เฝ้าระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง
นกเตนเข้าเวียดนามแพร่น้ำป่าถล่ม
"นกเตน"เข้าเวียดนามแพร่น้ำป่าถล่ม
กรมอุตุฯ" ออกประกาศเตือนภัย พายุ"นกเตน" เผยล่าสุดขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามแล้ว ระบุพิษนกเตนทำให้ไทยมีฝนตกเป็นวงกว้าง ปชช.ที่อาศรัยพื้นลาดเชิงเขา และทางน้ำไหลผ่านระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำปลาไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ชาวแพร่ขนทรัพย์สินหนีน้ำกลางดึกหลังจากน้ำป่าทะลักท่วมพัดเสาไฟฟ้าแรงสูงล้ม
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!