นิโคลัส ฟาร์เรลลี่ นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศพม่า ได้ตั้งข้อสังเกตในเว็บล็อก "นิว แมนดาลา" (นวมณฑล) ว่า สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจนในสังคมพม่าช่วงประมาณทศวรรษที่ผ่านมา ก็คือ อัตราการเข้าถึง "เทคโนโลยีการถ่ายภาพ" ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
ก่อนหน้านั้น ในยุคที่กล้องถ่ายรูปยังมีสถานะเป็นเพียง "สินค้าแปลกใหม่"
ในหลายส่วนของประเทศพม่า และกล้องถ่ายรูปดิจิตอลยังเป็นสิ่งของแปลกประหลาดที่ดึงดูดความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก สิ่งที่ชาวต่างชาติซึ่งเป็นเจ้าของกล้องถ่ายรูปเหล่านั้นต้องเผชิญเมื่อทำการขออนุญาตถ่ายรูปในพม่า ก็คือ คำตอบรับว่า "ได้ แต่เราขออนุญาตดูภาพที่คุณถ่ายด้วย"
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน กล้องถ่ายรูปได้กลายเป็นสิ่งของที่มีอยู่แทบทุกหนแห่งในพม่า ทำให้ฟาร์เรลลี่ตั้งคำถามว่า
ความแพร่หลายของกล้องถ่ายรูปได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมพม่าถึงในระดับรากฐานหรือไม่? เช่น สุดท้ายแล้ว ผู้คนจะสามารถรู้หรือเห็นอะไรมากขึ้นหรือไม่ เมื่อพวกเขาสามารถเข้าถึงกระบวนการถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น? เทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปที่มีราคาถูกลงและแพร่หลายมากขึ้นจะส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อสังคมพม่า? การเข้าถึงกล้องถ่ายรูปได้มากขึ้นจะช่วยให้ความรุนแรงในระดับเดียวกันกับเหตุการณ์ปี พ.ศ.2531 และ 2550 มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงหรือไม่?
และ กล้องถ่ายรูปที่เข้าถึงได้มากขึ้นและใช้สอยได้ง่ายขึ้นเหล่านี้ จะมีความหมายอย่างไรต่อการบันทึกภาพเหตุการณ์การสู้รบครั้งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนของประเทศพม่า? จดหมายเหตุภาพแบบใดที่กำลังถูกสร้างขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว?