วันที่ 28 ก.ค. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
นำเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 47 นาย ที่เสร็จสิ้นภารกิจกู้ชีพและลำเลียงศพผู้เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศตกภายในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 3 ลำ เข้าตรวจร่างกายที่ ร.พ.เวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เขตราชเทวี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทุกนายรวมทั้งนายชัยวัฒน์เอง บาดเจ็บจากภารกิจดังกล่าว และเป็นโรคผิวหนังจากการถูกสัตว์ในผืนป่าแก่งกระจาน เช่น ทาก เห็บ ไร กัด นอกจากนั้นหลายรายยังมีบาดแผลพุพองที่เท้า มีอาการติดเชื้อมาลาเรียด้วย โดยมี ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ ศิลาจำรูญ ผอ.ร.พ.เวชศาสตร์เขตร้อน จัดทีมแพทย์และพยาบาลดูแลเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเป็นการพิเศษ
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า จากการตรวจร่างกายเบื้องต้นพบว่าเจ้าหน้าที่บางคนมีเชื้อมาลาเรียอยู่ในร่างกาย
แต่ไม่ได้หมายความว่าเกิดติดเชื้อจากการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ แต่การที่ต้องเข้าป่าบ่อยครั้งทำให้ในร่างกายทุกคนมีเชื้อมาเลเรียอยู่ในร่างกายเป็นปกติอยู่แล้ว ขึ้นอยู่ว่าใครจะมีอาการไข้หรือไม่ เบื้องต้นไม่พบใครมีอาการไข้ โดยทุกคนที่เคยเข้าไปในพื้นที่ป่า สวน หรือป่าละเมาะ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาเลเรียได้ แต่หากอาการไม่ปรากฏไม่ต้องเป็นห่วงอะไร อีกโรคหนึ่งที่น่าเป็นห่วงจากการเข้าพื้นที่ป่ารองจากไข้มาเลเรียคือ ไข้จากไรอ่อน ที่จะมีอาการไข้และเป็นแผลตามตัว และยังเป็นโรคที่วินิจฉัยไม่ได้ ดังนั้นหากออกจากป่าแล้วมีไข้นานเป็นสัปดาห์ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อความปลอดภัย
ด้านนายชัยวัฒน์ ที่มีอาการพยาธิไชบริเวณน่องทั้งสองข้างจนเห็นได้ชัดเจน กล่าวหลังการเข้ารับการตรวจร่างกายว่า
นำเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเข้าตรวจร่างกายทั้งสิ้น 47 นายจากทั้งหมด 80 นาย ที่เข้าร่วมในภารกิจครั้งนี้ เนื่องจากที่เหลือไม่มีอาการอะไร โดยมีพนักงานราชการเพียง 15 นายเท่านั้น ที่เหลือเป็นลูกจ้างชั่วคราว โดยแพทย์ยืนยันว่าไม่เป็นอันตรายอะไร โดยระบุว่าพยาธิดังกล่าวจะอยู่ในร่างกายไม่เกิน 7 วัน จะมีเพียงอาการคัน และอาการแพ้บ้างเท่านั้น แต่เพราะเป็นคนผิวขาวทำให้เห็นรอยชัดเจนกว่าเจ้าหน้าที่คนอื่น สำหรับอาการอย่างอื่นนั้นส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่พิทักษ์มักมีเชื้อมาเลเรียอยู่ในร่างกายเกือบทุกคน เป็นเรื่องปกติของผู้ที่ต้องเข้าป่าเป็นประจำ นอกจากนั้นยังมีทากดูดเลือด และเห็บป่า สำหรับเห็บป่านั้นไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่เมื่อออกจากป่าจะไปอาบน้ำทะเล ทำให้เห็บที่เกาะตามร่างกายตายไป เนื่องจากเป็นสัตว์ที่อยู่ในน้ำจืด