อย. สั่งทบทวนฉลากรังนกแท้ 100%

อย. เตรียมนำเรื่องเข้า คกก.ฉลาก แก้ไขข้อความ “รังนกแท้ 100%” แท้จริงหมายถึง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง กันผู้บริโภคเข้าใจผิด

นพ. นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีการโฆษณาและฉลากเครื่องดื่มรังนกที่ระบุข้อความว่า “รังนกแท้ 100%” ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคสับสน และเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญว่า ปริมาณเนื้อรังนกในปริมาณที่สูงมากกว่าที่เป็นอยู่นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ขอชี้แจงว่า เครื่องดื่มรังนกผลิตจากรังนก ซึ่งเป็นน้ำลายของนกนางแอ่น (Edible- nest Swittlet) จัดเป็นเครื่องดื่มลักษณะพร้อมบริโภค มีลักษณะเป็นของเหลว และมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก วิธีบริโภคใช้ดื่ม โดยเครื่องดื่มรังนก จะมีลักษณะเฉพาะตัว ตามส่วนประกอบที่เติมแต่งในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น น้ำตาล น้ำผลไม้ต่าง ๆ นม และส่วนประกอบอื่น ๆ อีก ขึ้นอยู่กับ   แต่ละสูตรของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ส่วนประกอบที่จะนำมาใช้นั้นจะต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้ง สถานที่ผลิต /นำเข้า สูตรส่วนประกอบ ฉลาก รวมถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์ จะต้องได้รับ การอนุญาตจาก อย.

รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า กรณีฉลากอาหาร อย. กำหนดให้แสดงสูตร
 
ส่วนประกอบเป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณ สำหรับเครื่องดื่มรังนกสูตรส่วนประกอบโดยประมาณจะมีรังนกแห้งประมาณ 1% แต่เมื่อนำไปต้มกับน้ำแล้ว รังนกแห้งจะดูดน้ำและขยายตัวมากกว่า 10 เท่า จึงทำให้ดูมีปริมาณมากขึ้น สำหรับปริมาณรังนกแห้งก็ได้แสดงไว้ที่ส่วนประกอบ โดยแสดงเป็นร้อยละของน้ำหนัก ไม่ใช่ร้อยละของปริมาตร

สำหรับคำว่า “รังนกแท้ 100%” หมายถึง ผลิตภัณฑ์นี้ทำจากรังนก และได้มีการตรวจสอบเอกลักษณ์ว่าเป็นรังนกจริง โดยปริมาณของรังนกที่เติมลงไป จะเป็นรังนก 100% ตามสูตรส่วนประกอบ สำหรับกรณีนี้ อย. จะดำเนินการพิจารณาทบทวนข้อความการโฆษณา    อีกครั้ง โดยแจ้งผู้ประกอบการให้ปรับข้อความบนฉลากให้เข้าใจได้ง่าย เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคสับสน โดยจะมอบให้คณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลาก แจ้งไปยังผู้ผลิตรังนกทุกยี่ห้อ ให้ปรับปรุงข้อความบนฉลาก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ขอแนะให้ผู้บริโภคอ่านฉลาก
 
ดูส่วนประกอบ เพื่อไม่ให้หลงกลคำโฆษณาที่กำกวม/ โอ้อวดเกินจริง อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ได้มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อ้างอิงถึงประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ อย. ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาจาก อย. ซึ่ง อย จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกราย โดยกรณีอาหารมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท กรณีโฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณอันเป็นเท็จหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งขอให้ผู้บริโภคช่วยเป็นหูเป็นตาแทนภาครัฐ ปกป้องมิให้บุคคลใดกระทำผิดกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพ หลอกลวงประชาชน และหากพบการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงให้แจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556.


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์