กรมป่าไม้เผยสอบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมรุกป่าสงวนฯ วังน้ำเขียว เสร็จก่อนกำหนดเดิมวันที่ 12 ส.ค.นี้
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบบ้านพักและรีสอร์ท รุกป่าสงวนแห่งชาติ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ว่ากระบวนการเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียมกับพื้นที่ที่ถูกเอกชนบุกรุกป่าสงวน อ.วังน้ำเขียว คาดว่าจะเสร็จประมาณ วันที่ 5 ส.ค.นี้ ซึ่งเสร็จก่อนกำหนดเวลาที่กรมป่าไม้ขีดเส้นไว้ว่าจะต้องเสร็จสิ้น คือ ไม่เกินวันที่ 12 ส.ค.54 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บุกรุกต่อไป คาดว่าจะเร็วกว่ากำหนดที่ตั้งไว้เดิมคือวันที่ 13 ส.ค.นี้ ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปด้วยความยุติธรรม โดยการตรวจสอบเบื้องต้น มีเอกชนบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งสิ้น 22 แห่ง พบว่าอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง โซนซี 21 แห่ง และอีก 1 แห่งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ต่อไปที่กรมป่าไม้จะเข้าไปดำเนินการ คือ ป่าสงวนแห่งชาติ ในอ.หางดง จ.เชียงใหม่
เป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท่าช้าง และป่าแม่ ขนิน อ.หางดง ซึ่งกรมป่าไม้ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ พบว่ามีการบุกรุกทั้งหมด 530 ไร่ โดยพื้นที่ถูกบุกรุกทั้งหมดนั้น ผู้บุกรุกได้เอาที่ดินเหล่านั้นไปออกเป็นโฉนดที่ดินมากถึง 40 แปลง จากผู้บุกรุกทั้งหมด 41 ราย มีการครอบครองที่ดินตั้งแต่ 50 ตารางวา ถึง 17 ไร่ จากการบินตรวจ พบว่า ป่าถูกแปลงสภาพเป็นบ้านพักอาศัย บ้านพักตากอากาศ และปลูกพืชเศรษฐกิจ
แต่จากหลักฐานการออกสำรวจเพื่อร้องขอในการออกโฉนด พบว่ามีการเดินสำรวจในพื้นที่ป่าล้วนๆ ซึ่งผิดหลักการการออกโฉนดอยู่แล้ว
ขณะนี้กรมป่าไม้ได้แจ้งไปยังกรมที่ดิน เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องการออกโฉนด ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เพราะเห็นว่า เป็นการออกโฉนดมิชอบ แต่ถึงตอนนี้ทางกรมที่ดินก็ยังไม่ตอบรับ หรือแจ้งกลับเกี่ยวกับเรื่องนี้ใดๆ กรมป่าไม้จึงแจ้งซ้ำไปอีกรอบ เพื่อให้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่าในระหว่างที่กรมที่ดินยังไม่ตอบกลับมานั้น กรมป่าไม้ได้แปลภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศ เพื่อพิสูจน์ความเป็นพื้นที่ป่า ตั้งแต่ พ.ศ.2495 เมื่อผลการแปลภาพถ่ายทางอากาศออกมาแล้ว หากกรมที่ดินยังไม่ตอบกลับใดๆมา กรมป่าไม้จะนำหลักฐานดังกล่าวเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้บุกรุกทั้ง 41 รายทันที
ด้านนายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่จะให้กรมสวบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาร่วมดำเนินการกรณีวังน้ำเขียว ว่ายังไม่ถึงกับต้องให้ดีเอสไอเข้ามาร่วมดำเนินการ เพราะกรณีวังน้ำเขียวไม่ใช่เรื่องซับซ้อน เพียงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ก็สามารถดำเนินการได้ เพราะเรารู้ตัวผู้กระทำความผิดชัดเจนอยู่แล้ว
เมื่อถามถึงกรณีผู้ประกอบการรีสอร์ทและบ้านพักตากอากาศ มีความเคลื่อนไหวเพื่อให้ทส.ใช้วิธีการประนีประนอมกับผู้ที่บุกรุกป่านั้น
นายโชติ กล่าวว่า เรื่องการประนีประนอมต้องดูเป็นกรณีๆ ไป ในส่วนของชาวบ้านธรรมดาที่เข้าไปทำมาหากิน ถ้าอยู่มาก่อนเราก็มีมติครม. 30 มิ.ย. 41 เป็นกรอบในการปฎิบัติงานอยู่แล้ว แต่ในส่วนที่ไปรุกพื้นที่อุทยานฯ เป็นรีสอร์ทหรือบ้านพักตากอากาศนั้น ไม่น่าจะประนีประนอมกันได้ เพราะท่านก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร และนั่นอาจจะเป็นบ้านพักตากอากาศหลังที่ 3-4 ด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์กันต่อไป